เจาะภารกิจ ทีม AIS ROBOTIC LAB สร้างหุ่นยนต์ 5G ช่วยหมอ

HoonSmart.com>>เจาะภารกิจ ทีม AIS ROBOTIC LAB ลุยสร้าง หุ่นยนต์ 5G ช่วยหมอดูแลผู้ป่วยโควิด-19 บรรลุเป้า แก้ Pain Point ลดเสี่ยง ลดสัมผัส เซฟทีมแพทย์.. ส่งมอบถึงมือ รพ. แล้ว  ชู “5G ที่จับต้องได้ เพื่อทุกชีวิต” ร่วมพลิกโฉม สร้าง New Normal ให้วงการแพทย์ ตั้งเป้าส่งมอบ 23 ตัวให้กับ 22 รพ.

AIS เดินหน้าภารกิจ “AIS 5G สู้ภัย โควิด-19” เต็มสูบ นำพลานุภาพ 5G ร่วมแก้วิกฤต ช่วยเหลือคนไทยทุกภาคส่วน เปิดเส้นทางทีม AIS ROBOTIC LAB แล็บพัฒนาหุ่นยนต์ 5G รายแรกรายเดียวในไทย ผู้อยู่เบื้องหลังผลงาน หุ่นยนต์ 5G ผู้ช่วยคุณหมอ ตัวแรกของประเทศ ที่เชื่อมต่อระบบปฏิบัติการบนเครือข่าย 5G ได้สำเร็จ อันเกิดจากขีดความสามารถของทีมงานหัวกะทิด้านดิจิทัล จาก AIS NEXT หน่วยงาน Innovation ที่ทุ่มเทออกแบบระบบ 5G Robot Platform ขึ้นเอง ผสมผสานระหว่าง เทคโนโลยี เครือข่าย การแพทย์ ออกมาเป็น หุ่นยนต์ทางการแพทย์ 5G ROBOT FOR CARE ที่สามารถ Customized ให้ตอบโจทย์การใช้งานของแต่ละโรงพยาบาลได้อีกด้วย

 

ทั้งนี้ ส่งมอบหุ่นยนต์ให้กับโรงพยาบาลต่างๆ แล้ว ได้แก่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย, โรงพยาบาลราชวิถี, โรงพยาบาลศิริราช, โรงพยาบาลรามาธิบดี, โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์, สถาบันบำราศนราดูร และกรมแพทย์ทหารเรือ โดยหุ่นยนต์ได้เข้าปฏิบัติหน้าที่ ณ คลินิกและหอผู้ป่วยโควิด-19 ทำหน้าที่เข้าไปดูแลและตรวจอาการผู้ป่วยภายในห้องพักผู้ป่วย แทนหมอและพยาบาล  โดยขณะนี้ ทีม AIS ROBOTIC LAB เร่งเครื่องพัฒนาหุ่นยนต์ 5G อย่างเต็มกำลัง และมีแผนส่งมอบทั้งหมด จำนวน 23 ตัว ให้กับโรงพยาบาล 22 แห่ง ภายในต้นเดือน พ.ค.2563

วสิษฐ์ วัฒนศัพท์

นายวสิษฐ์ วัฒนศัพท์ หัวหน้าฝ่ายงานปฏิบัติการและสนับสนุนด้านเทคนิคทั่วประเทศ เอไอเอส กล่าวว่า “ตามที่เอไอเอส ได้ประกาศวิสัยทัศน์ นำศักยภาพเครือข่าย 5G  และความรู้ความเชี่ยวชาญของคนเอไอเอส มาร่วมแรงร่วมใจ ช่วยแก้ปัญหาโควิด-19 วันนี้ เราได้ทุ่มสรรพกำลังเครือข่าย 5G ตลอดจนระดมนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญที่มากด้วยประสบการณ์การพัฒนาหุ่นยนต์ของเอไอเอส จัดตั้งทีมเฉพาะกิจ AIS ROBOTIC LAB by AIS NEXT โดยมีเป้าหมายที่จะพัฒนาหุ่นยนต์ทางการแพทย์ ทำงานบนเครือข่าย 5G เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับทางการแพทย์ใช้งานจริง

โจทย์ของทีม AIS ROBOTIC LAB ในการพัฒนาหุ่นยนต์ จึงเริ่มต้นจาก Pain Point นี้ ทำอย่างไร เราจะมีส่วนช่วยในการแบ่งเบาภาระ ลดความเสี่ยงติดเชื้อทั้งผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ และมีฟังก์ชันที่ FIT IN ช่วยให้การทำงานของทีมแพทย์สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยขึ้น รวมถึงประหยัดงบประมาณในการใช้อุปกรณ์ป้องกันปลอดเชื้อ AIS ROBOTIC LAB จึงได้นำเทคโนโลยีขั้นสูงที่หลากหลาย เข้ามาผสมผสานกับเครือข่าย 5G ภายใต้ระบบประมวลผล AIS Robot Platform ซึ่งเอไอเอสพัฒนาขึ้นเอง ออกแบบเป็นหุ่นยนต์ผู้ช่วยคุณหมอ 5G “ROBOT FOR CARE” ซึ่งมีฟีเจอร์อัจฉริยะ อาทิ

– เทคโนโลยีอินฟราเรด ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายได้อย่างแม่นยำ โดยส่งผลข้อมูลผ่านเครือข่าย 5G ไปให้แพทย์ที่ให้การรักษาได้อย่างทันที

– เทคโนโลยี 3D Mapping กำหนดแผนที่เส้นทางเดินของหุ่นยนต์ ให้เคลื่อนที่เข้าหาผู้ป่วยได้โดยอัตโนมัติ อย่างรวดเร็วและแม่นยำ และยังสามารถบังคับหุ่นยนต์เคลื่อนที่ได้ตามต้องการผ่านเครือข่าย 5G

– Telemedicine ระบบปรึกษาทางไกลระหว่างแพทย์และผู้ป่วยผ่านวิดีโอคอล เพื่อให้แพทย์ที่อยู่ด้านนอกห้อง ใช้สมาร์ทดีไวซ์ เชื่อมต่อมาที่ตัวหุ่นยนต์ เพื่อพูดคุยและดูอาการคนไข้ภายในห้องพักได้ ช่วยหลีกเลี่ยงการเข้ามาสัมผัสหรือใกล้ชิดกับผู้ป่วยโดยตรงได้

– เทคโนโลยี Cloud computing ในการประมวลผลจัดเก็บข้อมูลการรักษาพยาบาลผู้ป่วย

นอกจากนี้ ยังสามารถเสริมฟีเจอร์ต่างๆ ในตัวหุ่นยนต์ได้ตามที่แต่ละ รพ. ต้องการ อาทิ ตรวจวัดค่าออกซิเจนในเลือด, ส่งยาให้ผู้ป่วยถึงเตียง, บริการเจลแอลกอฮอล์ล้างมือเคลื่อนที่ เป็นต้น

โดยหัวใจสำคัญของหุ่นยนต์ คือ การปฏิบัติงานบนเครือข่าย 5G เพื่อใช้ในการประมวลผลในหลายส่วน สามารถอัพเดทความสามารถใหม่ๆ ให้กับหุ่นยนต์จากศูนย์ควบคุมได้โดยอัตโนมัติ  ซึ่งเมื่อขับเคลื่อนการทำงานบนเครือข่าย AIS 5G ที่มีความเร็วสูง (High Speed) การตอบสนองต่อการสั่งงานที่รวดเร็ว มีความหน่วงต่ำ (Low Latency) พร้อมรองรับการเชื่อมต่ออุปกรณ์ IoT ที่หลากหลาย (IoT Connectivity) ทำให้หุ่นยนต์พร้อมเข้าดูแลผู้ป่วยทันที การรับส่งข้อมูลระหว่างแพทย์กับหุ่นยนต์ก็เป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ตอบโจทย์การเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาพยาบาลได้อย่างดี

 

ในอนาคต ทีม AIS ROBOTIC LAB เตรียมพัฒนาขยายขีดความสามารถของหุ่นยนต์ให้สามารถรองรับบริการทางการแพทย์ที่หลากหลายมากขึ้น ซึ่งเอไอเอส มีประสบการณ์การทดลองทดสอบ 5G ในอุตสาหกรรมต่างๆ รวมทั้งการแพทย์ จึงเชื่อมั่นว่า 5G มีความเหมาะสมอย่างยิ่งที่จะนำมาประยุกต์ใช้เป็นโครงข่ายดิจิทัลพื้นฐานสำคัญต่อการปฏิบัติงานทางการแพทย์  ซึ่งเรายินดีอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสนำศักยภาพของเทคโนโลยี มาส่งมอบความช่วยเหลือให้กับคนไทย และถือเป็นการสร้างประสบการณ์การใช้งาน 5G อย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน เพื่อสร้าง New Normal ให้เกิดขึ้นในวงการแพทย์ไทยในอนาคตอีกด้วย” นายวสิษฐ์กล่าว

ด้าน นายแพทย์สุกรม ชีเจริญ รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์ โรงพยาบาลราชวิถี กล่าวว่า “หุ่นยนต์ ROBOT FOR CARE สามารถช่วยลดการติดต่อระหว่างคนไข้ติดเชื้อ กับบุคลากรทางการแพทย์ ได้ในสามประเด็นหลักๆ ทั้งในด้านการลดภาระในการใช้อุปกรณ์เครื่องป้องกันที่โรงพยาบาลประสบปัญหาขาดแคลนอย่างหน้ากากอนามัย และชุด PPE ซึ่งหุ่นยนต์สามารถเข้าไปตรวจวัดเบื้องต้นแทนได้, และยังสามารถช่วยส่งยาให้กับผู้ป่วยถึงเตียงได้อย่างแม่นยำเพียงแค่ตั้งค่าพิกัด หรือบังคับทางไกล ซึ่งคนไข้ยังสามารถติดต่อสอบถามเมื่อมีข้อสงสัยในการทานยาผ่านกล้องหุ่นยนต์ได้ทันที”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์โอภาส พุทธเจริญ หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ด้านคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า “การติดตามและเฝ้าดูอาการผู้ป่วยโควิด-19 อย่างต่อเนื่องมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อป้องกันอาการทรุดลงและทำการรักษาตามอาการได้อย่างทันท่วงที สิ่งที่ทีมแพทย์และพยายาลทำสม่ำเสมอคือการตรวจวัดอุณหภูมิเป็นระยะๆ ดังนั้น หุ่นยนต์ ROBOT FOR CARE ถือว่าสามารถช่วยการทำงานได้อย่างตรงจุด โดยทางโรงพยาบาลได้นำมาใช้งานในการเฝ้าดูอาการผู้ป่วยโควิด-19 ทั้งการตรวจวัดอุณหภูมิและระดับออกซิเจนในเลือด ซึ่งมีความแม่นยำและช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพ”

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์เชิดชัย นพมณีจำรัสเลิศ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช กล่าวว่า “สำหรับโรงพยาบาลศิริราช จุดที่สำคัญที่สุดคือจุดคัดกรองผู้ป่วยที่มีความเสี่ยง จึงเป็นโจทย์ที่สำคัญว่า โรงพยาบาลจะรองรับผู้ป่วยในระหว่างที่เข้ามารับการตรวจ ไม่ให้เกิดการติดต่อแพร่เชื้อเพิ่ม ดังนั้น การใช้หุ่นยนต์ 5G Telemedicine จะช่วยคัดกรองและเพิ่มระยะห่าง  ซึ่งไม่ใช่แค่การใช้ช่วงวิกฤตการณ์ครั้งนี้เท่านั้น แต่ในอนาคตการให้บริการผู้ป่วยด้วย Telemedicine ถือว่ามีประโยชน์และเสริมสร้างประสิทธิภาพในการดูแลสุขภาพให้กับประชาชน โดยไม่จำเป็นต้องมาโรงพยาบาล การมีสัญญาณเครือข่ายที่ดี ส่งข้อมูลได้เร็ว ให้ภาพที่คมชัด จะช่วยให้การรักษามีความแม่นยำ เสริมศักยภาพให้การทำงานของแพทย์และหน่วยงานสาธารณสุขมากยิ่งขึ้น”