บจ.ใหญ่แห่ขายหุ้นกู้ PTT จ่อระดม 4.4 หมื่นลบ.

HoonSmart.com>>บริษัทขนาดใหญ่ขายหุ้นกู้ ปตท. ต้องการ 4.4 หมื่นล้านบาท ระยะยาวไม่เกิน 30 ปี ฟิทช์ฯให้เรทติ้ง AAA  บ้านปูเตรียมขายหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน ไถ่ถอนเมื่อเลิกบริษัท ก่อนหน้านี้  PTTGC ระดม 1.5 หมื่นล้านบาท  CPALL 1 หมื่นล้านบาท   

บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) ประกาศจัดอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวโครงการออกตราสารหนี้ บริษัท ปตท. (PTT) มูลค่าหุ้นกู้รวมไม่เกิน 4.4 หมื่นล้านบาท ที่ระดับ ‘AAA(tha)’ เป็นหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิ มีอายุไม่เกิน 30 ปี

ฟิทช์มองว่าสัดส่วนการถือหุ้นและการควบคุมของภาครัฐฯ ต่อปตท. อยู่ในระดับปานกลาง โดยรัฐบาลถือหุ้นโดยตรงสัดส่วน 51% และมีส่วนในการคัดเลือกคณะกรรมการบริษัทฯ แต่ระดับการเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการกำหนดกลยุทธ์ การดำเนินงาน และการดำเนินการทางการเงินในระดับปฏิบัติการของภาครัฐฯอยู่ในระดับปานกลาง นอกจากนี้ ภาครัฐยังให้การสนับสนุนอยู่ในระดับสูง คาดว่าภาครัฐฯ น่าจะให้การสนับสนุนทางการเงิน ในกรณีที่บริษัทมีความต้องการ เนื่องจากปตท. มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์และเป็นตัวจักรสำคัญในธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในประเทศไทย

ในปี 2563 ปตท.จะได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันและราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่ปรับตัวลดลง ซึ่งน่าจะทำให้กำไรจากธุรกิจโรงแยกก๊าซและการขายก๊าซธรรมชาติให้แก่โรงงานอุตสาหกรรมลดลง ในขณะที่อุปสงค์ที่ลดลงเนื่องจากสถานะการณ์ไวรัส น่าจะทำให้กระแสเงินสดจากการดำเนินงานของธุรกิจการกลั่นน้ำมันและปิโตรเคมีปรับตัวลดลง อย่างไรก็ตาม ฟิทช์คาดว่าผลประกอบการน่าจะปรับตัวดีขึ้นในปี 2564 ตามอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นหลังจากสถานะการณ์ไวรัสดีขึ้น แต่ก็ยังคงต่ำกว่าระดับที่บริษัทฯ ทำได้ในปี 2562

ฟิทช์คาดว่ากระแสเงินสดจากการดำเนินงานจากธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมจะปรับตัวลดลงไม่มาก เมื่อเทียบกับราคาน้ำมันที่ลดลง เนื่องจากปตท. มีสัดส่วนของปริมาณการขายก๊าซธรรมชาติอยู่ในระดับสูง 71% ของปริมาณการขายทั้งหมด รวมถึง บริษัทฯ มีการทำสัญญาขายล่วงหน้าเพื่อประกันราคาน้ำมันของการขายน้ำมันบางส่วน โดยราคาขายก๊าซธรรมชาติจะปรับตามราคาน้ำมันเตาในสัดส่วนประมาณ  30% และจะใช้เวลา 3-24 เดือนในการปรับราคาซึ่งขึ้นอยู่กับเงื่อนไขในสัญญาซื้อขาย

ขณะที่ธุรกิจสำรวจและผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติดีขึ้น ปริมาณสำรองน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) หรือ ปตท. สผ. เพิ่มขึ้น จากการเข้าซื้อกิจการธุรกิจสำรวจและผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเมื่อปีที่แล้ว รวมถึงการชนะการประมูลแหล่งก๊าซธรรมชาติบงกชและเอราวัณ แม้ว่าปริมาณสำรองน้ำมันและก๊าซธรรมชาติยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าระดับเฉลี่ยของบริษัทสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่ฟิทช์จัดอันดับเครดิตในกลุ่ม ‘BBB’ ปริมาณสำรองน้ำมันและก๊าซธรรมชาติต่อการผลิตของบริษัทฯ เพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 7.5 ปี ในปี 2562 จาก 5.2 ปีในปี2561 ซึ่งบริษัทฯ คาดว่าจะรักษาระดับปริมาณสำรองน้ำมันและก๊าซธรรมชาติต่อการผลิตอยู่ที่ประมาณ 7 ปีในช่วงสามปีข้างหน้านี้

นอกจากนี้ ปริมาณการผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในช่วงห้าปีข้างหน้าน่าจะเพิ่มขึ้น ปตท. สผ.มีแผนที่จะเริ่มการผลิตในโครงการต่างๆ ซึ่งประกอบด้วยโครงการ Sabah H ในปี 2563 และโครงการ Algeria HBR phase I ในปี 2564 รวมถึงสัญญาใหม่ในแหล่งก๊าซธรรมชาติบงกชและเอราวัณยังช่วยเพิ่มการผลิตในปี 2565-2566 อีกด้วย

อันดับเครดิตของ ปตท. สะท้อนถึงการดำเนินธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติแบบครบวงจร และความมีเสถียรภาพจากการที่ ปตท. มีขนาดธุรกิจกลางน้ำและปลายน้ำที่มีขนาดใหญ่และมั่นคง ซึ่งประกอบด้วยธุรกิจจัดหาและจัดจำหน่ายและขนส่งก๊าซธรรมชาติ ธุรกิจจำหน่ายปลีกน้ำมัน ธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน และธุรกิจปิโตรเคมี โดยธุรกิจเหล่านี้ช่วยลดผลกระทบจากผลการดำเนินงานของธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่ลดลงมาตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2557 กระแสเงินสดจากการดำเนินงานของธุรกิจก๊าซที่มีความสม่ำเสมอ

สำหรับสมมุติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ เช่น ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ ที่ราคา 35 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลในปี 2563, 45 เหรียญสหรัฐฯในปี 2564, 53 เหรียญสหรัฐฯในปี 2565, 55 เหรียญสหรัฐฯ ในปี 2566 และปีถัดๆไป  ปริมาณการขายของธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมเพิ่มขึ้น  5% ต่อปีโดยเฉลี่ย ในปี 2563-2567 (ปี 2562 เพิ่มขึ้น 15%) EBITDA จากธุรกิจก๊าซธรรมชาติ และธุรกิจปิโตรเคมีและโรงกลั่นน้ำมันลดลงในปี 2563  ค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนเพิ่มขึ้นในปี 2563-2564 (2562 มีการลงทุนทั้งสิน 1.59 แสนล้านบาท)การจ่ายเงินปันผลประมาณ 50% ของกำไร

สภาพคล่องของ ปตท.เป็นเงินสดจำนวนมากถึงประมาณ 3.1 แสนล้านบาท ณ สิ้นปี 2562 เมื่อเทียบกับหนี้ที่ครบกำหนดชำระในอีก 12 เดือนข้างหน้าจำนวน 9.6 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้บริษัทยังมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง และสามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ง่าย รวมทั้งบริษัทฯ ยังมีภาระการชำระคืนหนี้ที่บริหารจัดการได้ โดยมีอายุเฉลี่ยของหนี้ที่ครบกำหนดชำระประมาณ 9.2 ปี

บริษัท บ้านปู (BANPU) เตรียมออกและเสนอขายหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน ไถ่ถอนเมื่อเลิกบริษัท ซึ่งผู้ออกหุ้นกู้มีสิทธิไถ่ถอนหุ้นกู้ก่อนกำหนดและมีสิทธิเลื่อนชำระดอกเบี้ยโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ เสนอขายให้แก่ประชาชนทั่วไป(ผู้ลงทุนสถาบัน และ/หรือ ผู้ลงทุนทั่วไป) ในวันที่ 23-24 และ 27-28 เม.ย.นี้ แต่ยังไม่ได้กำหนดมูลค่า กำหนดอัตราดอกเบี้ยลอยตัว เช่น สําหรับปีที่ 1 ถึงปีที่ 5 อัตราดอกเบี้ยคงที่ 5% ต่อปี

ก่อนหน้านี้ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) ออกและเสนอขายหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน รวมมูลค่าไม่เกิน 15,000 ล้านบาท จ่ายดอกเบี้ยทุก 6 เดือน เสนอขายให้แก่ผู้ลงทุนสถาบัน และ/หรือ ผู้ลงทุนรายใหญ่ แบ่งเป็น  4 ชุด  ชุดที่ 1 เสนอขายไม่เกิน 2,000  ล้านบาท อายุ 7 ปี   อัตราดอกเบี้ย 2.60% ต่อปี ชุดที่ 2 เสนอขาย 4,000 ล้านบาท อายุ 10 ปี อัตราดอกเบี้ย 2.99% ต่อปี ชุดที่ 3 มูลค่า  5,000  ล้านบาท อายุ 12 ปี อัตราดอกเบี้ย 3.29% ต่อปี และชุดที่ 4 มูลค่า  6,000 ล้านบาท อายุ 15 ปี  อัตราดอกเบี้ย 3.50% ต่อปี โดยบริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จัดอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ที่ AA+(tha) ทั้งองค์กรและหุ้นกู้

วัตถุประสงค์ในการใช้เงิน  เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียน  และ/หรือ จ่ายชำระคืนเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน ภายในระยะเวลา 2 ปี

บริษัท ซีพี ออลล์ (CPALL) จะออกและเสนอขายหุ้นกู้ มูลค่า 1 หมื่นล้านบาท โดยทริสเรทติ้ง “AA-”

บริษัท บ้านปู (BANPU) เตรียมออกและเสนอขายหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน ไถ่ถอนเมื่อเลิกบริษัท ซึ่งผู้ออกหุ้นกู้มีสิทธิไถ่ถอนหุ้นกู้ก่อนกำหนดและมีสิทธิเลื่อนชำระดอกเบี้ยโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ เสนอขายให้แก่ประชาชนทั่วไป(ผู้ลงทุนสถาบัน และ/หรือ ผู้ลงทุนทั่วไป) แต่ยังไม่ได้กำหนดมูลค่า กำหนดอัตราดอกเบี้ยลอยตัว เช่น สําหรับปีที่ 1 ถึงปีที่ 5 อัตราดอกเบี้ยคงที่ 5% ต่อปี