HoonSmart.com>> มอร์นิ่งสตาร์ฯ เผยกองทุนรวมไตรมาส 1/63 เงินไหลออกกองทุนตราสารหนี้สูงเป็นประวัติการณ์ 4.5 แสนล้านบาท ชี้ “น้ำมันทรุด-โควิด 19” ป่วน ฉุดผลตอบแทนกองทุนรวมน้ำมันขาดทุนสูงสุด 52% หุ้นทั่วโลกร่วง “กองทุนหุ้นไทย” หนักสุดกลุ่มหุ้นผลตอบแทนติดลบ 27% สหรัฐฯ ร่วง 18% จีนลด 10% ด้านกองทุนทองคำอู่ฟู้กำไร 9.2%
บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ภาพรวมกองทุนรวมไตรมาส 1 ปี 2563 อุตสาหกรรมกองทุนรวมไทยมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ ณ สิ้นเดือนมีนาคม ที่ 4.6 ล้านล้านบาท ลดลง 15.3% จากสิ้นปี 2562 มีเงินไหลออกสุทธิ 3.90 แสนล้านบาท โดยเป็นเงินไหลออกจากกองทุนรวมตราสารหนี้สูงเป็นประวัติการณ์ถึง 4.50 แสนล้านบาท กลุ่มตราสารทุนมีเงินไหลออกสุทธิ 2.40 หมื่นล้านบาท รวมถึงกลุ่มกองทุนผสม และกลุ่ม Commodities ก็มีเงินไหลออกสุทธิเช่นกัน ในขณะที่มีเพียงกลุ่มตราสารตลาดเงินที่มีเงินไหลเข้าสุทธิ 1 แสนล้านบาท
กรณีเงินไหลออกสุทธิที่สูงของกองทุนรวมตราสารหนี้นั้นเกิดจากเงินไหลออกจากกลุ่มกองทุนตราสารหนี้ที่มีขนาดใหญ่ เช่นกลุ่ม Short Term Bond และ Mid/Long Term Bond ที่มีการปิดกองทุนขนาดใหญ่ รวมทั้งมีเงินไหลออก จากกลุ่ม Foreign Investment Bond Fix Term ที่เป็นไปตามเงื่อนไขปิดกองทุนเมื่อครบกําหนด โดยในไตรมาสแรกมีกองทุนกลุ่มนี้ปิดไปทั้งสิ้น 66 กองทุน ทําให้อาจมีเงินบางส่วนไหลเข้ากองทุนรวมตราสารตลาดเงิน ซึ่งเกิดจากการสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนอัตโนมัติ
ด้านภาพรวมผลตอบแทนเฉลี่ยกองทุนรวมในไตรมาส 1/63 สินทรัพย์เสี่ยงส่วนใหญ่ยังไม่ดี มีเพียงกลุ่มกองทุนตราสารหนี้ที่ส่วนใหญ่ทั้งในและต่างประเทศยังให้ผลตอบแทนเฉลี่ยเป็นบวก โดยมีกองทุนรวมทองคำให้ผลตอบแทนสูงสุด 9.2% ซึ่งเป็นไปตามราคาทองคำปรับตัวขึ้นมาตั้งแต่ปลายปี 2562 ประกอบกับแนวโน้มเศรษฐกิจยังมีความเสี่ยง
ส่วนกองทุนรวมที่มีผลตอบแทนต่ำสุดเป็นกองทุนน้ำมันที่ติดลบมากถึง -52.1% ตามทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลกตามสถานการณ์สงครามราคาน้ำมันในเดือนมี.ค. ระหว่างกลุ่ม OPEC โดยเฉพาะระหว่างประเทศซาอุดิอาระเบียและรัสเซียที่แม้จะอุปสงค์น้ำมันทั่วโลกจะลดลงแต่ได้มีการประกาศว่าจะเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมัน ซึ่งฉุดให้ราคาน้ำมันลดลงอย่างรุนแรงไปที่ระดับ 20-30 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลล์ ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดในรอบ 17 ปี
ด้านกองทุนหุ้นไทยได้รับผลกระทบที่ชัดเจนตามตลาดหุ้นที่ปรับตัวลงโดยมีมูลค่าทรัพย์สินลดลง 26-29% ซึ่งมีสาเหตุหลักจากตลาดหุ้นที่เคลื่อนตัวทิศทางขาลงในขณะที่มีเงินไหลออกสุทธิรวม -7,800 ล้านบาทซึ่งถือว่าไม่ได้เป็นระดับที่สูงมากนักเมื่อเทียบกับในอดีต ประกอบกับมีเงินไหลออกจากกองทุน LTF ที่ต่ำกว่าในอดีต โดยเงินลงทุนที่ขายได้ในปีนี้เป็นเงินลงทุนในปี 2558 หรือก่อนหน้านั้น
“กลุ่มกองทุนตราสารทุนที่มีผลตอบแทนเฉลี่ยติดลบมากที่สุดในไตรมาสแรก คือ กองทุนหุ้นไทยทั้งสองกลุ่มคือ Equity Small/Mid-Cap -27.9% และกลุ่ม Equity Large-Cap -27.3% ทำให้ภาพรวมตลาดหุ้นประเทศไทยยังถือว่า underperform ตลาดอื่นค่อนข้างมากจากที่ผลตอบแทนเฉลี่ยที่ต่ำกว่าตลาดอื่นอยู่เดิมมาตั้งแต่ปี 2019″บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช ระบุ
ทั้งนี้ ภาพรวมตลาดการลงทุนในไตรมาส 1/2563 ได้รับผลกระทบจากหลายปัจจัยลบทั้งสัญญาณเศรษฐกิจไม่ค่อยดีตั้งแต่ปีที่แล้วมาจนถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่มีผู้ติดเชื้อสะสมมากกว่า 1 ล้านคนทั่วโลกและมากกว่า 2,000 คนในประเทศไทย ทำให้ภาพเศรษฐกิจปีนี้มีแนวโน้มที่แย่กว่าปีที่แล้ว ซึ่งได้สะท้อนสภาพตลาดการลงทุน ตลาดหุ้นไทยค่อย ๆ ปรับตัวลงในช่วงเดือนม.ค.-ก.พ.และลงรุนแรงในเดือนมี.ค. โดยมี 2 ปัจจัยสำคัญ คือ ราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลงรุนแรงส่งผลต่อหุ้นพลังงานที่เป็น big cap ของตลาดหุ้นไทยและการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในประเทศไทยที่มีผู้ติดเชื้อรายวันสูงขึ้นและนำไปสู่การปิดสถานประกอบธุรกิจหลายประเภท
SET Index ลงไปแตะระดับต่ำสุด 969.08 จุดและปิดไตรมาสแรกที่ 1,125.86 จุด โดยผลตอบแทน SET TR ตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ -28.0% รวมทั้งตลาดตราสารหนี้ก็ต้องประสบกับภาวะสภาพคล่องที่ไม่ปกติ มีการไถ่ถอนหน่วยลงทุนรายวันเป็นมูลค่าสูงเป็นเหตุให้ธนาคารแห่งประเทศไทยออกมาตรการดูแลในเดือนมี.ค.
ด้านกองทุน LTF มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ ณ สิ้นไตรมาสแรกรวม 3.0 แสนล้านบาท ลดลง -25.4% จากสิ้นปีที่แล้ว โดยมีเงินไหลออกสุทธิที่ราว -2.6 พันล้านบาท ซึ่งเป็นระดับต่ำกว่าในอดีตเนื่องจากดัชนี SET Index ปรับตัวลงอย่างมาก ประกอบกับในปีนี้เป็นปีที่เม็ดเงินลงทุน LTF ที่ขายออกได้คือเงินที่ลงทุนตั้งแต่อดีตจนถึงปี 2015 ซึ่งอาจเป็นช่วงที่ดัชนีอยู่ในระดับใกล้เคียงกับในปัจจุบันทำให้อาจไม่มีแรงขายกองทุน LTF ออกมามากนัก
กองทุน RMF มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 2.6 แสนล้านบาท ลดลง -13.6% จากสิ้นปีที่แล้ว แต่มีเงินไหลเข้าสุทธิเกือบ 4 พันล้านบาท และยังไม่มีกองทุนเปิดใหม่ในไตรมาสนี้ กองทุน RMF ที่ลงทุนในตราสารหนี้มีการเติบโต 23.9% มีเงินไหลเข้าสุทธิ 3.2 พันล้านบาท ด้านกองทุนตราสารทุนมีมูลค่าทรัพย์สินลดลง -15.8% ตามภาวะตลาดหุ้นทั่วโลก ในขณะที่กองทุน RMF ที่ลงทุนในทองคำมีมูลค่าทรัพย์สินเติบโต 17.1% จากราคาทองคำที่สูงขึ้นจึงเกิดแรงขายออกไปรวม -533 ล้านบาท
ด้านกองทุนรวมต่างประเทศ (ไม่รวม Term Fund) มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 5.3 แสนล้านบาท ลดลงราว 1 แสนล้านบาท หรือ -16.1% จากสิ้นปี 2562 กลุ่มที่มีมูลค่าทรัพย์สินสูงสุด 5 อันดับแรกมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิลดลงเกือบทุกกลุ่มยกเว้น China Equity โดยกลุ่ม Property – Indirect Global ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดมูลค่าทรัพย์สินสุทธิลดลงเกือบ 30% ต่างจากปี 2562 ที่มีการเติบโตสูง ทำให้มีขนาดลดลงมาใกล้เคียงกับกลุ่มกองทุนผสม Global Allocation ที่เป็นอันดับสองที่มีมูลค่าทรัพย์สินลดลง -10.3% จากสิ้นปีที่แล้ว โดยเกิดจากผลตอบแทนติดลบในขณะที่ยังมีเงินไหลเข้าสุทธิระดับพันล้านบาท
แม้กลุ่ม Global Bond จะมีเงินไหลเข้าสุทธิแต่มีผลตอบแทนเฉลี่ยช่วง 3 เดือนแรกติดลบเกือบ 6% ทำให้มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิลดลง -9.4% มาอยู่ที่ 7.3 หมื่นล้านบาท กองทุนขนาดใหญ่สุดในกลุ่มนี้ยังคงเป็นกองทุน TMB Global Income (TMBGINCOME) ด้วยมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 1.8 หมื่นล้านบาท
กลุ่ม China Equity เป็น 1 ใน 3 กลุ่มกองทุนต่างประเทศที่มีมูลค่าทรัพย์สินเติบโตด้วยเงินไหลเข้าสุทธิ 4.2 พันล้านบาท โดยเป็นเงินไหลเข้ากองทุนเปิดใหม่ราว 2.5 พันล้านบาท ทำให้มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิที่ 4.2 หมื่นล้านบาท และขึ้นเป็นอันดับที่ 4 แทนกลุ่ม Global Equity ซึ่งมีขนาดลดลง -19.6% จากเงินไหลออกสุทธิและผลตอบแทนเฉลี่ยติดลบกว่า -15%