โดย…ณัฏฐะ มหัทธนา
ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนและลูกค้าสัมพันธ์ บลจ.กรุงไทย (KTAM)
ผู้เล่นในทีมที่เสียประโยชน์ พุ่งปรี่เข้าไปประท้วงกรรมการในเกมฟุตบอล เป็นเหตุการณ์ซึ่งคุ้นชินตา แม้ปัจจุบันหันมาใช้เทคโนโลยี VAR (Video Assistant Referee) ฉายซ้ำภาพช้าช่วยลดข้อกังขาลงบ้างแล้ว แต่ยังไม่วายได้ยินเสียงบ่นของคนดู วิพากษ์ความยุติธรรมในคำตัดสิน โดยเฉพาะภายหลังการแข่งขันนัดสำคัญๆ
เกมการเงินก็เช่นกัน ฝั่งที่ “ได้” เฮสนั่น ส่วนฝ่าย “เสีย” ก็มักบ่นต่อว่าสาเหตุของการขาดทุนทำนอง “มันเป็นไปได้อย่างไร?” โดยเฉพาะในยุคปัจจุบัน ที่ปัจจัยบางอย่างนั้นทรงอิทธิพลเหนือตัวแปรอื่นๆ มีบทบาทกุมอำนาจกำหนดเกมเยี่ยง “กรรมการ” จึงต้องเผชิญเสียงวิจารณ์แทบทุกครั้งที่มี “อีเว้นท์” เป็นธรรมดา…ใช่แล้ว! ผมหมายถึงธนาคารกลางสหรัฐหรือ เฟด ซึ่งเปรียบเสมือน #สิงห์เชิ้ตดำ ผู้ตัดสินชะตากรรมของทุกคนในสนามลงทุน
เฟดประกาศศักดา #พ่อทุกสถาบัน พร้อมโอบอุ้มลููกๆทั้งหลายในระบบเศรษฐกิจ 9 เม.ย. อัดฉีดเงินเพิ่มอีก $2.3 ล้านล้าน เพียงไม่กี่อึดใจหลังกระทรวงแรงงานสหรัฐเผย ยอดขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกรายสัปดาห์พุ่งขึ้น 6.6 ล้านคน
ยาชุดล่าสุดของคุณพ่อ ประกอบด้วยเงินช่วยเหลือด้านสินเชื่อและอีกหลายมาตรการเพื่อประคองธุรกิจ แต่ตัวที่สร้างความฮือฮา เรียกเสียงเฮและเสียงด่าจากทั่วสารทิศ คงหนีไม่พ้นการส่งสัญญาณว่าจะซื้อ ETF หุ้นกู้ที่มีเครดิตต่ำกว่าระดับลงทุน (high yield) จากเดิมไม่กี่สัปดาห์ก่อนจำกัดวงไว้แค่ระดับลงทุน (investment grade) ข่าวใหม่ป้ายแดงระดับชิ้นปลามันนี้ดันราคา HYG ซึ่งเป็น high yield ETF ตัวหลักที่นิยมเทรดกัน พุ่งทะยานฟ้า +6.5% บวกแรงยิ่งกว่าตลาดหุ้นเสียอีก!
Fallen Angels “เทวดาตกสวรรค์” หุ้นกู้ระดับลงทุนชั้นล่างๆอย่าง BBB ซึ่งมีสัดส่วนเกินครึ่งของ U.S. investment grade และกำลังทยอยโดนหั่นเครดิตกลายเป็น junk อยู่ในขณะนี้คือ “ผู้ประสบภัย” ลำดับแรกๆที่เฟดรีบใช้มาตรการใหม่เข้าไปโอบอุ้มเพื่ออุดช่องโหว่ของมาตรการชุดเดิมโดยไม่รอช้า เพราะถ้าเทวดาพวกนี้โดน credit rating agencies ถีบตกลงไปลั้ลลาร้องซุปเปอร์วาเลนไทน์ในตลาด high yield ก็จะออกนอกขอบเขตของโครงการซื้อหุ้นกู้ระดับลงทุนทันที ดังนั้น พอเฟดส่งสัญญาณว่าจะซื้อ high yield ETF ด้วยแล้ว หุ้นกู้กลุ่มที่สุ่มเสี่ยงเหล่านี้ก็เหมือนมีฟูกนุ่มๆมารองไว้ให้นักลงทุนอุ่นใจขึ้นเยอะ
กระแสวิพากษ์ โหมกระพือในหน้าสื่อสังคมการเงิน ความเห็นส่วนใหญ่พุ่งตรงไปวิจารณ์มาตรการซื้อ high yield ทำนองว่า เฟดเข้าสู่ยุค “ซื้อทุกอย่างที่ขวางหน้า” ไม่ปล่อยให้กลไกทุนนิยมทำงานผ่านการล้มละลาย/เข้าแผนฟื้นฟูตามปกติ เขาเหล่านั้นไม่เห็นด้วยกับการช่วยเหลือ “บริษัทซอมบี้” (อ่านเพิ่มเติม “Zombification ทศวรรษแห่งการกลายร่าง” 5 ม.ค.) อ้างสิ้นเปลืองทรัพยากรอันมีค่าทางเศรษฐกิจ ทำให้งานวิเคราะห์ด้านเครดิตไร้ความหมาย กิจการที่กำลังจะตายกลับฟื้นคืนชีพ ประดุจดั่งได้สมุนไพรวิเศษที่เฟดบรรจงปักลงตรงหว่างคิ้ว …ฉากนี้ได้แรงบันดาลใจจาก Kingdom season 2
พวกที่เดือดเนื้อร้อนใจสุด จนแทบจะทำให้หน้าจอแชทลุกเป็นไฟคงไม่มีใครเกินบรรดา #ขาชอร์ต #กองแช่ง ซึ่งแข่งกันวางสถานะลงทุนไว้ในทางร้าย เช่น ขายหุ้น ชอร์ตเครดิต ซื้อ CDS และอื่นๆอีกมากมายเท่าที่จะจินตนาการได้ในธีม #วันสิ้นโลก พอเฟดประกาศซื้อ high yield สะกด spreads ลง < 800 bps ช่วยคลายวิตก หนุนหุ้นพุ่งขึ้น งานก็เลยเข้าเหล่ากองแช่งจนต้องแย่งกันปิดสถานะหนีตายให้จ้าละหวั่น คำวิจารณ์หลายอันมันเลยดูเหมือนซ่อนความโกรธเกรี้ยวและอุดมไปด้วยอคติ!
หากเปรียบกับกีฬาฟุตบอล จังหวะนี้คงเหมือนนักเตะทีมที่เพิ่งเสียประตู วิ่งกรูไปประท้วงกรรมการให้ยกเลิกสกอร์ โดยอ้างว่าฟาวล์หรือล้ำหน้า แต่สุดท้ายต้องเดินคอตกกลับมาก้มหน้ารับผลการแข่งขัน เพราะสนามลงทุนนั้นมันไม่มีการขอดู VAR …เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า “กรรมการเป็นส่วนหนึ่งของเกม”
Global Credit พิชิตไวรัส (KTAM Focus 29 มี.ค.) ชี้ชัด ตลาดเครดิต พ้นจุดเลวร้ายสุดไปแล้วและกำลังฟื้น โดยมั่นใจว่า มาตรการช่วยเหลือของเฟดมุ่งสนับสนุนตลาดนี้เป็นสำคัญ เพราะมันเปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงระบบเศรษฐกิจ เราชอบสินทรัพย์ประเภท Global Credit อยู่แล้ว ตั้งแต่เฟดยังไม่ซื้อ high yield ดังนั้น พอมีมาตรการใหม่ราวกับแจกโบนัสออกมาอย่างนี้ ก็ยิ่งเพิ่มความน่าสนใจลงทุนทั้งในแง่ ความเสี่ยงลดลง และ โอกาสรับผลตอบแทนสูงและรวดเร็วขึ้น
พอร์ตตราสารหนี้ Global Credit ดังเช่น KTAM Global Credit Income Fund (KT-GCINCOME) ซึ่งกองทุนหลัก Schroder International Selection Fund Global Credit Income มีขอบเขตการลงทุนกว้างขวางครอบคลุมตลาดเครดิตทั่วโลกทั้ง investment grade และ high yield เปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนรับประโยชน์จากแนวโน้มดังกล่าวได้อย่างเต็มที่ โดยกองทุนนี้มีให้เลือก 2 ชนิดคือ KT-GCINCOME-A (สะสมมูลค่า) และ KT-GCINCOME-R (ขายคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติ)
คำเตือน: ความเห็นส่วนบุคคล ไม่ใช่คำแนะนำการลงทุน ผลการดำเนินงานในอดีต มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน คู่มือการลงทุน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน