ก.ล.ต.สั่งประธาน IFEC แจงเหตุไม่จัดประชุมผู้ถือหุ้น

ก.ล.ต.สั่งกรรมการ-ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร IFEC ชี้แจงเหตุไม่เดินหน้าจัดประชุมผู้ถือหุ้นกลับมายังตลาดภายใน 21 มิ.ย. และให้กรรมการ IFEC เดินหน้าจัดประชุมผู้ถือหุ้นโดยเร็ว ชี้เป็นทางออกให้ผู้ถือหุ้น เจ้าของที่แท้จริง เลือกกรรมการ

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ให้นายศุภนันท์ ฤทธิไพโรจน์ กรรมการบริษัทและประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น (IFEC) ชี้แจง กรณียื่นขอให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าทบทวนคำสั่งหรืออาจใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าที่ไม่รับจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงรายชื่อกรรมการว่า เป็นประโยชน์และเหมาะสมกับสถานการณ์ปัญหาของ IFEC อย่างไร และให้กรรมการทั้ง 3 ราย ตามที่มีรายชื่อปรากฏในหนังสือรับรองเดินหน้าจัดประชุมผู้ถือหุ้นโดยเร็ว

ศุภนันท์ ฤทธิไพโรจน์

จากกรณีที่ IFEC โดยนายศุภนันท์ ได้มีหนังสือขอให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าทบทวนคำสั่งไม่รับจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงรายชื่อกรรมการเพิ่มเติมจำนวน 2 ราย ได้แก่ นายวิภู มหารักขกะ และนายมนูศักดิ์ เดียววาณิชย์ และอาจจะใช้สิทธิอุทธรณ์ตามกฎหมาย

เนื่องจาก มาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2535 กำหนดว่า คำสั่งทางปกครองมีผลตั้งแต่ได้รับแจ้งเป็นต้นไปจนกว่าจะมีการเพิกถอนหรือด้วยเหตุอื่น ดังนั้น แม้ IFEC โดยนายศุภนันท์ ได้มีหนังสือขอให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าทบทวนคำสั่งไม่รับจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงรายชื่อกรรมการเพิ่มเติมข้างต้น แต่ตราบใดที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้ายังไม่มีการเพิกถอนคำสั่ง ก็ต้องถือได้ว่าคำสั่งนั้นยังมีผลตามกฎหมาย กรรมการก็ยังต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยกรรมการทั้ง 3 ราย ได้แก่ (1) นายศุภนันท์ ฤทธิไพโรจน์ (2) นายฉัตรณรงค์ ฉัตรภูติ และ (3) พลตรีบุญเลิศ แจ้งนพรัตน์ มีหน้าที่ต้องเดินหน้าจัดประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อเลือกตั้งกรรมการใหม่ตามมาตรา 83 พระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 โดยเร็ว รวมทั้งต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคำสั่งดังกล่าวต่อไป

การที่ IFEC เดินหน้าจัดประชุมผู้ถือหุ้นตามคำวินิจฉัยของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า น่าจะเป็นวิธีการที่เหมาะสมกับสถานการณ์ของ IFEC ปัจจุบัน เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นเจ้าของที่แท้จริงพิจารณาตัดสินใจเลือกบุคคลที่ผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่เห็นว่าเหมาะสมเข้ามาเป็นกรรมการบริษัท อย่างไรก็ดี การที่ IFEC โดยนายศุภนันท์ได้ยื่นขอให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าทบทวนคำสั่งหรืออาจใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นกระบวนการที่อาจใช้ระยะเวลานานกว่าจะได้ข้อยุติสุดท้าย ซึ่งอาจทำให้ IFEC ไม่สามารถแก้ไขสถานการณ์ปัจจุบันของ IFEC ได้อย่างทันท่วงที

ก.ล.ต. จึงอาศัยตามมาตรา 58 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ ให้นายศุภนันท์ชี้แจงต่อ ก.ล.ต.ว่า เหตุใดนายศุภนันท์จึงไม่ดำเนินการจัดประชุมผู้ถือหุ้นโดยเร็วเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นเจ้าของที่แท้จริงพิจารณาตัดสินใจเลือกบุคคลที่ผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่เห็นว่าเหมาะสมเข้ามาเป็นกรรมการบริษัท และการขอให้ทบทวนคำสั่งของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าและใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เหมาะสมและเป็นประโยชน์กับสถานการณ์ปัจจุบันของ IFEC และผู้ถือหุ้นโดยรวมอย่างไร และเปิดเผยคำชี้แจงต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายใน 7 วัน คือวันที่ 21 มิ.ย.2561

ทั้งนี้ ก.ล.ต. จะนำคำชี้แจงของนายศุภนันท์ มาประกอบการพิจารณาการปฏิบัติหน้าที่ของนายศุภนันท์ในฐานะกรรมการบริษัทจดทะเบียนว่า เป็นไปด้วยความรับผิดชอบ ความระมัดระวัง และความซื่อสัตย์สุจริต รวมทั้งปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายเพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัทเป็นสำคัญตามมาตรา 89/7 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ หรือไม่ ต่อไป