น้ำใจคนไทยในยุคดิจิทัล ใช้ Crowdfunding ร่วมบริจาคสู้ COVID-19

นางสาวจอมขวัญ คงสกุล, CFA CAIA
ผู้ช่วยเลขาธิการ
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
ทีมโฆษก และฝ่ายฟินเทค

ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 ทำให้อุปกรณ์ป้องกันไม่เพียงพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุปกรณ์สำหรับบุคลากรทางการแพทย์และเครื่องมือทางการแพทย์ในการรับมือกับ COVID-19 จึงเกิดโครงการรับบริจาคและระดมทุนเพื่อช่วยเหลือบุคลากรทางแพทย์ขึ้นมากมายและหลายรูปแบบ หนึ่งในนั้นคือ การบริจาคผ่านระบบ Crowdfunding ซึ่งเป็นการระดมทุนรูปแบบใหม่ในยุคดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็น…

“โครงการนวัตกรรมหน้ากากผ้านาโนกันไรฝุ่นซักได้ หรือ Washable Innovative Nano-Masks:
WIN-Masks”
พัฒนาขึ้นมาจากความร่วมมือของ กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และศูนย์ความเป็นเลิศชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) รวมถึงหน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีล้านนา สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์ และการสนับสนุนด้านเงินทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยตั้งเป้าผลิตจำนวน 100,000 ชิ้น และมีเป้าหมายการระดมทุน 5.5 ล้านบาท

“เทใจให้มดงานสู้โควิด” มีเป้าหมายการระดมทุน 1.1 ล้านบาท เพื่อร่วมซื้อชุดป้องกันและอุปกรณ์พร้อมซื้อประกัน COVID-19 ให้ทีมแพทย์และพยาบาล โดยขณะนี้ระดมทุนสำเร็จแล้ว และสามารถระดมทุนไปได้มากกว่า 2.86 ล้านบาท และ “กองทุนเทใจสู้โควิด19” มีเป้าหมายการระดมทุน 2 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือบุคลากรทางแพทย์ด้วยการจัดซื้ออุปกรณ์ป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 เช่น หน้ากากอนามัย หน้ากาก N95 ชุด PPE เป็นต้นโดยเปิดให้ระดมทุนเป็นเวลา 1 เดือน และขณะนี้สามารถระดมทุนไปได้มากกว่า 1.4 ล้านบาท

ทำความรู้จักกับ Crowdfunding

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา หลาย ๆ ท่านคงเคยได้ยินคำว่า Crowdfunding มาบ้าง แต่อาจจะยังสงสัยว่า การระดมทุน (Funding) กับผู้คนจำนวนมาก (The Crowd) มาเกี่ยวข้องกันได้อย่างไร วันนี้จะขอมาไขข้อข้องใจกันค่ะ

Crowdfunding คือ การระดมทุนจากประชาชนหมู่มาก (The Crowd) ผ่านเว็บไซต์ที่เป็นตัวกลาง (Funding Portal) โดยอาศัยเทคโนโลยีของระบบอินเทอร์เน็ต ซึ่งแต่ละคนจะลงเงินจำนวนไม่มาก แต่เมื่อหลาย ๆ คนรวมกันจะมีจำนวนมากจนสามารถตอบสนองความต้องการในการใช้เงินของกิจการหรือโครงการใหม่ ๆ ได้ ซึ่งเราสามารถแบ่ง Crowdfunding ออกเป็น 4 ประเภท ดังนี้

1. Crowdfunding ในรูปแบบบริจาค (Donation-based Crowdfunding)

การรับบริจาคเงินจากประชาชนผ่านช่องทางออนไลน์ โดยผู้บริจาคไม่หวังจะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนนอกจาก “ความสุขทางใจ” เหมาะสำหรับองค์กรที่มุ่งทำประโยชน์เพื่อสังคมหรือเพื่อการกุศล นอกจากนี้
ผู้ระดมเงินอาจได้รับใบเสร็จรับเงินเพื่อนำไปลดหย่อนภาษีได้ด้วย ตัวอย่างแพลตฟอร์มนี้ในประเทศไทย ได้แก่ เทใจดอทคอม (taejai.com) สินวัฒนา โซเชียล คราวด์ฟันดิง (social.sinwattana.com) หรือ มูลนิธิก้าวคนละก้าว (kaokonlakao.com) 

2.Crowdfunding ในรูปแบบสิ่งของ (Reward-based Crowdfunding)

การระดมทุนรูปแบบนี้ เจ้าของโครงการส่วนใหญ่มีไอเดียใหม่ ๆ และต้องการระดมทุนผ่านช่องทางออนไลน์เพื่อผลิตภัณฑ์ที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยผู้ระดมทุนจะได้รับสินค้าที่ผลิตได้หรือสิทธิประโยชน์เกี่ยวกับสินค้านั้นตอบแทนในอนาคต ตัวอย่างแพลตฟอร์มที่คุ้นเคยกันดีในต่างประเทศ ได้แก่ Kickstarter หรือ Indiegogo ซึ่งมีโครงการชื่อดังที่ประสบความสำเร็จ อย่างบอร์ดเกม Exploding Kittens หรือแว่นตาวิดีโอเสมือนจริง (Virtual Reality) ของ Oculus 

3.Crowdfunding ในรูปแบบของการกู้ยืม (Lending-based Crowdfunding หรือ Peer-to-Peer Lending)

การกู้ยืมระหว่างบุคคลกับบุคคลผ่านช่องทางออนไลน์ โดยมีตัวกลางจัดให้มีสัญญาสินเชื่อระหว่างกัน โดยผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ย ตัวอย่างแพลตฟอร์มในต่างประเทศ ได้แก่ Lendingclub ที่อเมริกา หรือ Zopa ที่อังกฤษ

4.Crowdfunding ในรูปแบบหลักทรัพย์ (Investment-based Crowdfunding)

การลงทุนในหลักทรัพย์ (หุ้น และหุ้นกู้) ผ่านช่องทางออนไลน์ โดยจะมีตัวกลาง หรือ Funding Portal ทำหน้าที่คัดกรองบริษัทที่จะระดมทุน ซึ่งผู้ลงทุนอาจได้รับเงินปันผลหรือส่วนต่างราคาหากเป็นการลงทุนในหุ้น และได้ดอกเบี้ยหากลงทุนหุ้นกู้

การระดมทุนผ่าน Crowdfunding ในรูปแบบบริจาคและรูปแบบสิ่งของ ตาม 1. และ 2. ไม่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานใด ในขณะที่การระดมทุนผ่าน Crowdfunding ในรูปแบบกู้ยืม จะมีธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทำหน้าที่กำกับดูแลตัวกลางในการจับคู่ผู้กู้ที่เป็นบุคคลธรรมดา กับผู้ให้กู้ที่เป็นได้ทั้งบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล โดยแพลตฟอร์มต้องได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลัง อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันยังไม่มีแพลตฟอร์มที่ได้รับอนุญาต โดยผู้ที่สนใจประกอบธุรกิจจะต้องสมัครขอทดสอบและพัฒนานวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีใหม่มาสนับสนุนการให้บริการทางการเงิน (Regulatory Sandbox) ของ ธปท. ซึ่งเป็นการให้บริการในขอบเขตที่จำกัดก่อน จนพร้อมให้บริการในวงกว้างจึงยื่นขอรับใบอนุญาตได้

สำหรับการระดมทุนผ่าน Crowdfunding ในรูปแบบหลักทรัพย์ ตาม 4. ถือเป็นการเสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชนรูปแบบหนึ่ง ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. โดยในปัจจุบันมี Funding Portal ที่ได้รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต. แล้ว 3 ราย ได้แก่

(1) ​บริษัท ไลฟ์ฟินคอร์ป จำกัด ให้บริการเฉพาะหุ้น Crowdfunding

(2) บริษัท ฟีนิกซิคท์ จำกัด (สินวัฒนา) ให้บริการเฉพาะหุ้น Crowdfunding และ

(3) บริษัท เพียร์ พาวเวอร์ แพลตฟอร์ม จำกัด ให้บริการทั้งหุ้นและหุ้นกู้ Crowdfunding

ระดมทุน Crowdfunding ในรูปแบบหลักทรัพย์ในไทยต้องทำอย่างไร

สำหรับในประเทศไทย ผู้สนใจสามารถระดมทุนผ่าน Crowdfunding ในรูปแบบหลักทรัพย์ภายใต้กฎหมายหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งเริ่มจากหุ้น Crowdfunding ตั้งแต่ปี 2558 และหุ้นกู้ Crowdfunding ตั้งแต่ปี 2562

ผู้ที่สนใจระดมทุนต้องจดทะเบียนจัดตั้งในรูปแบบบริษัท (ส่วนใหญ่เป็น SME/ startup) และติดต่อกับ Funding Portal ที่ได้รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต. เพื่อเสนอโปรเจกต์หรือโครงการธุรกิจและวัตถุประสงค์ของการใช้เงินจากที่ระดมทุนได้ จากนั้น Funding Portal จะตรวจสอบความมีตัวตนของบริษัท ความเป็นไปได้ของโครงการธุรกิจ และนำข้อมูลการเสนอขายหุ้นหรือหุ้นกู้ Crowdfunding ขึ้นเผยแพร่บนหน้าเว็บไซต์

สำหรับผู้ลงทุนรายบุคคลที่สนใจลงทุนสามารถสมัครเป็นสมาชิกของ Funding Portal จากนั้นต้องทำแบบทดสอบความเข้าใจก่อนการจองซื้อ (knowledge test) ให้ถูกทุกข้อก่อนการลงทุน โดยผู้ลงทุนแต่ละคนสามารถลงทุนได้ไม่เกิน 1 แสนบาทต่อบริษัท และไม่เกิน 1 ล้านบาทในรอบ 12 เดือน (นับรวมทั้งหุ้นและหุ้นกู้) ขณะที่บริษัทที่ระดมทุนจะสามารถระดุมทุนจากผู้ลงทุนรายบุคคล ได้ไม่เกิน 20 ล้านบาทในรอบ 12 เดือนแรก และรวมทั้งหมดแล้วไม่เกิน 40 ล้านบาท เพื่อเป็นการจำกัดความเสียหายและความเสี่ยงของผู้ลงทุนรายบุคคล

หากมีผู้จองซื้อครบตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ในเวลาที่กำหนด บริษัทที่ระดมทุนต้องออกหลักทรัพย์ให้แก่ผู้ลงทุน โดยในปัจจุบันมี SME และ startup ที่ระดมทุนผ่าน Crowdfunding แล้ว 3 ราย โดยเป็นหุ้น Crowdfunding 1 ราย ระดมทุนได้ 18.6 ล้านบาท และหุ้นกู้ Crowdfunding 3 ราย ระดมทุนได้ รวม 10 ล้านบาท จะเห็นได้ว่าการระดมทุนแบบ Crowdfunding ช่วยเปิดโอกาสให้ SME และ startup สามารถระดมทุนได้อย่างสะดวก ภายในเวลาอันรวดเร็ว และด้วยค่าใช้จ่ายที่น้อยกว่า โดยเฉพาะธุรกิจที่ฉายแววเติบโตแต่ยังไม่ถึงระดับ IPO ส่วนผู้ลงทุนก็มีโอกาสได้รับผลตอบแทนสูง แม้ลงทุนในจำนวนไม่มาก หรือโครงการระยะสั้นก็สามารถประสบความสำเร็จได้เช่นกัน ด้วยเหตุนี้เอง จึงทำให้ Crowdfunding ได้รับความนิยมในไทยมากขึ้นเรื่อย ๆ

สุดท้ายนี้ ผู้ลงทุนสามารถตรวจสอบรายชื่อ Funding Portal สำหรับ Crowdfunding รูปแบบหลักทรัพย์
ที่ได้รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต. ได้ที่เว็บไซต์ www.sec.or.th หรือแอปพลิเคชัน “SEC Check First”
ก่อนลงทุน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้รู้เท่าทันการหลอกลวงค่ะ