ใกล้จบรอบหุ้นไทยปรับฐาน เลือกตั้งชัด “เงินต่างชาติ” ไหลกลับ

ดัชนีฯเชื่อมั่นนักลงทุนส.ค.ลดลงเล็กน้อย สะท้อนการปรับฐานของหุ้นไทยใกล้จบรอบแล้ว “ไพบูลย์” ชี้หากการเลือกตั้งชัดเจนจะได้เห็นเงินทุนต่างชาติไหลกลับ สถาบันแนะซื้อ 5 หุ้น BBL-CPALL-IVL-LH-PTT

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย แถลงผลสำรวจความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO) เดือนมิ.ย.2561 ว่า ดัชนีฯในอีก 3 เดือนข้างหน้า (ส.ค.2561) อยู่ที่ 91.66 ลดลง 1.07% หรือลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนก่อน ซึ่งสะท้อนว่าการปรับฐานของดัชนีตลาดหุ้นไทยรอบนี้ใกล้จบแล้ว และหากรัฐบาลประกาศวันเลือกตั้งชัดเจน รวมทั้งเศรษฐกิจมีโมเมนตัมที่จะเติบโตต่อเนื่อง จะได้เห็นเงินทุนต่างชาติไหลเข้ามาในตลาดหุ้นไทย

“ดัชนีฯเริ่มทรงตัวเป็นเดือนที่สอง แม้จะลดลง แต่ลดลงน้อยมาก ซึ่งสะท้อนได้ว่าการปรับฐานของดัชนีฯใกล้จบแล้ว โดยปัจจัยที่มีผลบวกต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน คือ ภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ส่วนปัจจัยลบ คือ เรื่องการเมือง และจากการที่ผมได้พูดคุยกับนักลงทุนใน 3 ประเทศ นักลงทุนมีมุมมองต่อตลาดหุ้นไทยดีขึ้นเมื่อเทียบกับ 6 เดือนก่อนหน้านี้ แต่ยังตามดูว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตต่อเนื่องหรือไม่ และการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ ”นายไพบูลย์กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่นักลงทุนสถาบันในประเทศ และนักลงทุนต่างประเทศมองภาพตลาดหุ้นดีขึ้น เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจในประเทศดีขึ้นชัดเจน รวมทั้งมีสัญญาณการฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชน และการบริโภคในประเทศ อีกทั้งหุ้นมีราคาถูกลงจากแรงขายก่อนหน้านี้ ประกอบกับเริ่มเห็นสัญญาณเกี่ยวกับการเลือกตั้ง แต่นักลงทุนรายย่อยและบัญชีหลักทรัพย์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนระยะสั้น ยังมองภาพตลาดไม่ค่อยดีนัก เพราะมีข่าวสารเชิงลบออกมาต่อเนื่อง

นายไพบูลย์ กล่าวว่า ขณะนี้ forward P/E ตลาดหุ้นไทยอยู่ที่ 16 เท่า ซึ่งถือว่าไม่ถูก แต่เชื่อว่าแรงขายของนักลงทุนต่างชาติน่าจะลดลงแล้ว และผลสำรวจยังพบว่านักลงทุนชอบหุ้นกลุ่มพลังงาน แต่ไม่ชอบหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ส่วนปัจจัยที่จะมีผลกระทบต่อตลาดหุ้นมากที่สุดในปีนี้ยังคงเป็นเรื่องสงครามการค้า รวมถึงทิศทางราคาน้ำมัน และสถานการณ์ทางการเมืองของประเทศในยุโรป

ผลสำรวจความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO) ประจำเดือนมิ.ย.2561

นายสมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการและกรรมการผู้อำนวยการสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) ระบุว่า นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่าตลาดหุ้นเดือนมิ.ย.ยังเป็นช่วงไซด์เวย์ โดยดัชนีฯ ณ สิ้นเดือนมิ.ย.คาดว่าจะอยู่ที่ 1,749 จุด โดยจุดต่ำสุดระหว่างปีอยู่ที่ 1,686 จุด ลดลงจากการสำรวจครั้งก่อนที่อยู่ที่ 1,703 จุด และจุดสูงสุดระหว่างปีอยู่ที่ 1,877 จุด แต่นักวิเคราะห์ 37.5% ยังมองว่าดัชนีฯจะเกิน 1,900 จุด ส่วน ณ วันสิ้นปี 2561 ดัชนีฯน่าจะอยู่ที่ 1,860 จุด

ส่วนปัจจัยที่มีผลกระทบต่อดัชนีฯตลาดหุ้นไทยในระยะสั้น ได้แก่ ปัจจัยการเมืองในประเทศ ซึ่งรวมถึงแนวโน้มการเลือกตั้ง ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐ และเงินทุนต่างชาติที่ไหลออกจากตลาดหุ้นไทย ขณะที่ในช่วงที่เหลือของปีนี้ นักวิเคราะห์คาดว่าปัจจัยที่ส่งผลบวกต่อตลาดหุ้น คือ เศรษฐกิจในประเทศ และผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน ส่วนปัจจัยลบ คือ ทิศทางการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐ ปัจจัยการเมืองต่างประเทศ และเงินทุนไหลออก

นายสมบัติ กล่าวว่า ผลสำรวจพบว่านักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ หรือ 54.55% คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะไม่ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ ขณะที่นักวิเคราะห์ 36.36% คาดว่ากนง.จะขึ้นดอกเบี้ยไตรมาส 4 ปีนี้ ส่วนการเลือกตั้งทั่วไปนั้น นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ หรือ 63.64% คาดว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นไม่เกินเดือนพ.ค.2562 และมีนักวิเคราะห์ 36.36% คาดว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นหลังเดือนพ.ค.2562

ขณะที่การคาดการณ์กำไรสุทธิของตลาดหุ้นไทยในปี 2561 พบว่าอยู่ที่เฉลี่ย 110.64% เติบโตจากปีก่อน 11.04% และมี forward P/E ที่ 16.3 เท่า

สำหรับหุ้นที่สถาบันแนะนำตรงกับ 6 สำนักขึ้นไป ได้แก่ BBL ซึ่งได้ประโยชน์จากการลงทุนภาครัฐและเอกชน รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ,CPALL ที่มีปัจจัยสนับสนุนจากเศรษฐกิจและการบริโภคที่ดีขึ้น ,IVL ที่คาดว่ากำไรปี 2561 จะเติบโตอย่างแข็งแกร่งทั้งจาก spread และปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้น ,LH ที่จะมีการเร่งเปิด 18 โครงการตามแผนในปีนี้ ประกอบกับมีการคาดการณ์ว่ากำไรไตรมาส 2 ปีนี้จะเติบโตโดดเด่น และมีการจ่ายปันผลระหว่างกาล

และPTT ที่ได้ประโยชน์จากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น และคาดว่าบริษัทย่อยจะชนะการประมูลแหล่งสัมปทานปิโตรเลียมอย่างน้อย 1 แห่ง

น.ส.อริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวว่า ผู้ค้าตราสารหนี้และผู้จัดการกองทุนตราสารหนี้ 50% มองว่า กนง.จะไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งหน้า แต่คาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยพันธบัตร (บอนด์ยีล) ระยะ 5 ปีในช่วง 6 เดือนข้างหน้าจะเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันที่อยู่ที่ 2.09% เช่นเดียวกับอัตราดอกเบี้ยพันธบัตร (บอนด์ยีล) ระยะ 10 ปีในช่วง 6 เดือนข้างหน้าที่จะเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันที่อยู่ที่ 2.78%

น.ส.อริยา กล่าวว่า ในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา เงินทุนต่างชาติไหลออกจากพันธบัตรที่มีอายุน้อยกว่า 1 ปี เป็นจำนวน 5.4 หมื่นล้านบาท แต่ยังมีเงินไหลเข้าลงทุนในพันธบัตรที่มีอายุมากกว่า 1 ปี จำนวน 9.6 หมื่นล้านบาท หรือมีเงินลงทุนต่างชาติเข้าลงทุนในพันธบัตรสุทธิ 4.2 หมื่นล้านบาท ในขณะที่ยอดถือครองพันธบัตรระยะยาวของนักลงทุนต่างชาติคิดเป็น 81% ของเงินลงทุนสะสมทั้งหมด

นายสมิทธ์ พนมยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.ไทยพาณิชย์ และนายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน กล่าวว่า นักลงทุนสถาบันทั้งในและต่างประเทศ มองว่าปีนี้บริษัทจดทะเบียนจะมีกำไรเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 10-15% ในขณะที่เศรษฐกิจไทยมีพื้นฐานค่อนข้างดี การส่งออกเติบโตและดุลการค้าเป็นบวก แม้ว่าเงินบาทจะแข็งขึ้นค่าก็ตาม โดยหุ้นที่น่าลงทุนยังเป็นกลุ่มพลังงาน กลุ่มธนาคาร กลุ่มค้าปลีกและกลุ่มสื่อสาร