ครม.เยียวยาเฟสแรกเงินสะพัด 4 แสนล้าน กระตุ้นลงทุน SSF ลดหย่อน 4 แสนบาท/ปี

HoonSmart.com>>รมว.คลัง เผยครม.เห็นชอบมาตรการระยะที่ 1 ดูแลผลกระทบเศรษฐกิจ-ประชาชนจากไวรัสโควิด-19  แบงก์ออมสินจัดซอฟท์โลน 1.5 แสนล้านบาท สปส.ร่วมกับสถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำอีก 3 หมื่นล้าน พร้อมตั้งงบกลางเสริมอีก 2 หมื่นล้านบาท ส่วนมาตรการสร้างความเชื่อมั่นตลาดทุน เพิ่มหักลดหย่อน SSF อีก 2 แสนบาท ไม่รวมลดหย่อนปกติ 2 แสนบาท-กองทุนเกษียณทั้งหมด บลจ.รับประเมินเงินลงทุนใหม่ยาก  ก.ล.ต.หนุนออกประกาศ 16 มี.ค.ยกเว้นค่าธรรมเนียมจัดตั้งกองทุน ผู้อำนวยการสศค. คาดเงินสะพัด 4 แสนล้านบาท

นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 10 มี.ค. 2563 มีมติเห็นชอบชุดมาตรการดูแลผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระยะที่ 1 รวม 12 มาตรการ ประกอบด้วยมาตรการทางการเงิน และมาตรการทางภาษีและอื่นๆ เพื่อการดูแลทุกภาคส่วนทั้งผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไป นอกจากนี้ยังได้เห็นชอบให้กันวงเงินงบประมาณเบื้องต้น 20,000 ล้านบาท เพื่อเตรียมไว้สำหรับเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ เช่น ลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้าง

สำหรับมาตรการทางการเงิน อาทิ สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำหรือซอฟท์โลน โดยธนาคารออมสินเตรียมวงเงินไว้ 150,000 ล้านบาทให้แก่สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการรายกลางและรายย่อย คิดอัตราดอกเบี้ยต่ำที่ 2% ระยะเวลา 2 ปี วงเงินสินเชื่อไม่เกิน 20 ล้านบาท/ราย  มาตรการพักเงินต้น ลดดอกเบี้ย และขยายระยะเวลาการชำระหนี้ แก่ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ ดำเนินการโดยสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ

นอกจากนี้ยังมีมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทย โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกแนวทางให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ เพื่อให้สถาบันการเงินและบริษัทลูก  สถาบันการเงินเฉพาะกิจ รวมถึงผู้ประกอบธุรกิจที่ให้สินเชื่อที่มิใช่สถาบันการเงิน เร่งให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ในเชิงรุกอย่างทันเหตุการณ์ เช่น ผ่อนปรนเกณฑ์การจัดชั้นสินเชื่อปกติ เพิ่มความยืดหยุ่นในการอนุมัติเงินกู้ เพื่อให้ลูกหนี้มีสภาพคล่องเพียงพอในการดำเนินธุรกิจหรือดำเนินชีวิตประจำวันต่อไปได้

ขณะเดียวกันมีมาตรการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงานของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) โดย สปส.จะร่วมกับสถาบันการเงินสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำวงเงิน 30,000 ล้านบาท ให้แก่ผู้ประกอบการที่ขึ้นทะเบียนและจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 เดือน และต้องรักษาจำนวนผู้ประกันตนไม่น้อยกว่า 80% ของจำนวนผู้ประกันตน ณ วันที่ได้รับสินเชื่อเป็นระยะเวลา 3 ปี เพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการให้ยังคงสามารถจ้างลูกจ้างต่อไปได้ในสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน

ส่วนมาตรการทางภาษี เช่น มาตรการคืนภาษีหัก ณ ที่จ่าย จาก 3% เหลือ 1.5% สำหรับการจ่ายเงินได้พึงประเมินตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.-30 ก.ย.2563 และลดเหลืออัตรา 2% สำหรับการจ่ายเงินได้พึงประเมินตามข้อกำหนด ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.63-31 ธ.ค.2564 ที่จ่ายผ่านระบบการหักภาษี ณ ที่จ่ายทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Withholding Tax)

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการอื่นๆ เช่น มาตรการลดเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมของนายจ้างและลูกจ้าง จากอัตรา 5% เป็นระยะเวลา 3-6 เดือน โดยเงินสมทบของรัฐบาลให้คงอัตราเดิมที่ 2.75% ของค่าจ้าง และมาตรการสร้างความเชื่อมั่นในระบบตลาดทุน โดยให้หักลดหย่อนค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) ที่มีนโยบายลงทุนในหลักทรัพย์จดทะเบียนไม่น้อยกว่า 65% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 200,000 บาท โดยแยกจากวงเงินหักลดหย่อนค่าซื้อหน่วยลงทุนใน SSF กรณีปกติ และไม่อยู่ภายใต้เพดานวงเงินหักลดหย่อนรวมในกองทุนเพื่อการเกษียณ (RMF) ทั้งหมด โดยต้องซื้อระหว่างวันที่ 1 เม.ย.-30 มิ.ย.63 และถือลงทุนไม่น้อยกว่า 10 ปี

น.ส.ดวงกมล พิศาล เลขาธิการสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) เปิดเผย HoonSmart.com ว่า เม็ดเงินลดหย่อนภาษีสำหรับการลงทุนในกองทุน SSF ที่ครม.เพิ่มให้จาก 2 แสนบาท เป็น 4 แสนบาท ส่วนที่เพิ่มมา 2 แสนบาทนั้นนักลงทุนไม่ต้องนำไปรวมกับกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) ซึ่งครม.เปิดให้นักลงทุนได้ใช้สิทธิภาษีได้เต็มก้อน

อย่างไรก็ตามการประเมินเม็ดเงินที่จะเข้าลงทุนกองทุนในช่วงเวลา 3 เดือนตามเงื่อนไขกำหนดนั้นคาดการณ์ได้ยาก เพราะแต่ละคนมีฐานภาษีแตกต่างกัน อีกทั้งเงื่อนไขการถือครอง 10 ปี ซึ่งนานกว่ากองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) เดิม 7 ปีปฏิทิน และจากอดีตที่ผ่านมาเงินลงทุนในกองทุน LTF สุทธิเฉลี่ย 3 หมื่นล้านบาทต่อปีเท่านั้น

ด้านผู้บริหารบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กล่าวว่า บลจ.น่าจะจัดตั้งกองทุนและเปิดขายหน่วยลงทุนได้ทันตามกำหนด และถือเป็นข่าวดีที่ครม.เพิ่มวงเงินลดหย่อนภาษีอีก 2 แสนบาท แต่ประเมินเม็ดเงินที่จะเข้ามาลงทุนได้ยาก เนื่องจากมีปัจจัยแวดล้อมที่นักลงทุนอาจต้องพิจารณา จากอดีตพฤติกรรมของนักลงทุนจะเข้าซื้อกองทุนลดหย่อนภาษีในช่วงไตรมาส 4 โดยเฉพาะเดือนธ.ค.ของทุกปี ขณะที่ตอนนี้ภาวะตลาดหุ้นผันผวนอย่างหนัก  อาจทำให้นักลงทุนลังเลในการเข้าลงทุน

นอกจากนี้การถือครองหน่วยลงทุนเป็นเวลา 10 ปี นับจากวันซื้อลงทุนนั้น เป็นอีกปัจจัยที่คาดการณ์ได้ยากว่านักลงทุนจะเข้ามาลงทุนหรือไม่ โดยเฉพาะนักลงทุนที่อายุเกิน 45 ปี อาจเลือกที่จะลงทุนในกองทุน RMF ซึ่งบางคนอาจถือไม่ถึง 10 ปีก็อายุครบ 55 ปีตามเงื่อนไข อย่างไรก็ตามคาดหวังว่ากลุ่มที่ลงทุน RMF เต็มเพดานลดหย่อนอาจพิจารณาเข้าลงทุนในกองทุน SSF เพิ่ม

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ก.ล.ต. ขานรับมติครม.การจัดตั้งกองทุน SSF  โดยจะออกประกาศที่เกี่ยวข้องภายในวันที่ 16 มี.ค. 2563  พร้อมยกเว้นค่าธรรมเนียมจัดตั้งและจดทะเบียนกองทุนดังกล่าวให้กับบลจ. และพิจารณาอนุมัติการจัดตั้งกองทุน SSFแบบอัตโนมัติ (auto-approval)

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวเพิ่มเติมว่า มาตรการกระตุ้นระยะที่ 1 คาดว่าจะช่วยให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจประมาณ 400,000 ล้านบาท ส่วนจะมีผลต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเท่าไหร่นั้น ยังคงต้องรอประเมิน

ด้านตลาดหุ้นวันที่ 10 มี.ค.ปรับตัวขึ้นตามตลาดต่างประเทศ ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปิดที่ 1,271.25 จุด +15.31จุดคิดเป็น 1.22% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 74,686 ล้านบาท ตามแรงซื้อหุ้นขนาดใหญ่ อย่างไรก็ตาม นักลงทุนต่างชาติทิ้งมากถึง 7,237 ล้านบาท สถาบันไทยซื้อกว่า 3,000 ล้านบาท และนักลงทุนไทยซื้อ3,000 ล้านบาท