แน่งน้อยร้อยเรื่องลงทุน : แบงก์จะเป็นอย่างไร ในภาวะจีดีพี สินเชื่อ ดอกเบี้ยไม่ถึง 1%

หุ้นแบงก์ที่ถลาลงมาแรงในช่วงนี้ เพราะถูกกระแทกจากดอกเบี้ยขาลง  ตลาดฟันธงว่าการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) วันที่ 25 มี.ค. 2563 น่าจะปรับลดดอกเบี้ยในตลาดซื้อคืนพันธบัตรอายุ 1 วัน (R/P) ลงอย่างน้อย 0.25% มาอยู่ที่ 0.75% ตามธนาคารกลางหลายๆประเทศที่ช่วยกันกู้วิกฤตเศรษฐกิจโลก ธนาคารพาณิชย์ไทยเองจะต้องปรับลงตาม กดดันส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) แคบลง และรายได้ที่เคยได้จากการบริหารสภาพคล่องผ่านตลาดเงินกู้ระหว่างธนาคาร (อินเตอร์แบงก์) ก็จะได้รับผลกระทบทันที

 

บล.เอเซียพลัสออกบทวิเคราะห์กลุ่มธนาคารพาณิชย์วันที่ 6 ก.พ.2563 ประเมินว่าจะกดดันธนาคารพาณิชย์ที่มีเงินให้กู้ยืมสุทธิในตลาดอินเตอร์แบงก์ อย่างธนาคารกรุงเทพ (BBL) และธนาคารกรุงไทย (KTB) มากที่สุดในกลุ่ม

ทั้งนี้จากงบการเงินรวมของแบงก์ที่แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ณ สิ้นปี 2562 ธนาคารกรุงเทพมีรายการระหว่างธนาคารและตลาดเงินสุทธิ ฝั่งสินทรัพย์คือให้กู้ จำนวน 472,349 ล้านบาท และฝั่งหนี้สิน 134,346 ล้านบาท ส่วนธนาคารกรุงไทยมีรายการทางด้านสินทรัพย์ 338,771 ล้านบาท และหนี้สิน134,346 ล้านบาท

ขณะที่ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) มีรายการฝั่งสินทรัพย์ 433,510 ล้านบาท และหนี้สิน 145,844 ล้านบาท และธนาคารกสิกรไทยมีรายการทางด้านทรัพย์สิน 385,940 ล้านบาท และฝั่งหนี้สิน 81,628 ล้านบาท

บล.เอเซียพลัสระบุว่า ดอกเบี้ยที่ลดลงยังส่งผลกระทบต่อแบงก์ใหญ่  เมื่อพิจารณาจากโครงสร้างสินเชื่อที่มีอัตราดอกเบี้ยลอยตัวประมาณ 57% ของกลุ่ม โดยBBL, KBANK, KTB และ SCB มีสัดส่วน 67%,66%,64% และ 46% ตามลำดับ ส่วนเงินฝากแม้เป็นดอกเบี้ยลอยตัวประมาณ 62% แต่เป็นเงินฝากออมทรัพย์ ส่วนเงินฝากประจำ อายุ 3-24 เดือนที่มีสัดส่วน 34% คงเห็นการทยอยลดดอกเบี้ยลง หลังครบอายุสัญญามากกว่า

 

อย่างไรก็ตาม บวกต่อ บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป (TISCO) และธนาคารเกียรตินาคิน (KKP) เพราะเงินให้สินเชื่อเป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่เกิน 60% ของพอร์ต

ในปี 2563 สินเชื่อจะโตเล็กน้อยหรือไม่โต บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าปีนี้สินเชื่อของทั้งระบบธนาคารขยายตัวต่ำกว่า 1% หรือมีโอกาสติดลบ (เดิมมองกรอบล่างไว้ที่ 3.0%) เทียบกับ 2.2% ณ สิ้นปี 2562 หลังปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) เติบโตเหลือ 0.5% จากประมาณการเดิมที่ 2.7% ตัวแปรอยู่ที่สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 จะคลี่คลายลงเมื่อใด จะส่งผลกระทบต่อรายได้ ทั้งจากดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม โดยเฉพาะรายได้ดอกเบี้ยหลักจากเงินให้สินเชื่อ

” สินเชื่อใหม่มาน้อยลง ส่วนเงินกู้ที่ปล่อยไปแล้ว ต้องพักหนี้หรือยืดระยะเวลาการชำระหนี้ให้ยาวยิ่งขึ้น ทำให้รายได้ดอกเบี้ยรับที่เข้ามาในแต่ละเดือนน้อยลง ตามมาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่ยังดีที่มีกิจกรรมการซื้อกิจการ กลุ่มเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ประกาศว่าจะใช้เงินกู้ถึง 3 แสนล้านาทในการประมูลซื้อเทสโก้ นอกจากนี้บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น(TRUE)กำลังหาสินเชื่อเพื่อนำไปชำระใบอนุญาต 5 จี ที่ชนะการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 2600 MHz ในราคา 17,872 ล้านบาท และคลื่นความถี่ย่าน 26 GHz อีก 3,576 ล้านบาท”

ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองหนี้ด้อยคุณภาพอาจเพิ่มขึ้นตามทิศทางเอ็นพีแอลที่มีโอกาสเพิ่มขึ้นจาก 2.98% เมื่อสิ้นปี 2562 โดยต้องรอดูสถานการณ์และตัวเลขไตรมาสแรกที่จะออกมาภายใต้มาตรฐานบัญชีใหม่ด้วย เพื่อประเมินทิศทางที่ชัดเจนอีกครั้ง

ปัจจัยลบเข้ามาบั่นทอนความสามารถในการทำกำไร แต่นักลงทุนอย่าลืมว่าธนาคารพาณิชย์ไทยมีความแข็งแกร่ง ในการดำรงเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงสูง ตั้งสำรองเยอะมาก พอร์ตมีการลงทุนหลากหลาย ไม่ว่าเศรษฐกิจจะแย่ขนาดไหน เชื่อว่าแบงก์ยังมีกำไร และจ่ายเงินปันผลได้เสมอ

จังหวะนี้จึงไม่แปลกที่บล.เอเซียพลัสยังคงแนะนำซื้อหุ้นแบงก์ใหญ่ BBL,KBANK,KTB รวมถึง KKP เพียงแต่”ถ้าคิดจะซื้อ ต้องพร้อมถือยาว” สอดคคล้องกับนักวิเคราะห์อีกหลายสำนักก็แนะนำให้ซื้อหุ้นธนาคาร เพราะความมั่นคง แข็งแรง มีเงินปันผล รอการเติบโตอีก 2-3 ปี เชื่อว่าแบงก์สามารถก้าวผ่านสถานการณ์ที่ย่ำแย่ไปพร้อมกับลูกค้าทุกกลุ่ม ยอมเจ็บตัวบ้างเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม