EIC มุ่งโตจากธุรกิจขนมอบ ปรับกลยุทธ์แบรนด์

HoonSmart.com>>อุตสาหกรรม อีเล็คโทรนิคส์ไปได้สวยปี 62  ไม่รวมสำรองการด้อยค่า 115 ล้านบาท รายได้พุ่งเกือบเท่าตัว เป็น  364 ล้านบาท ธุรกิจขนมอบและเบเกอรี่ขายดี มาร์จิ้นสูง  จาก 4 แบรนด์ ปรับกลยุทธ์รับมือแข่งขันเดือด มีร้านเปิดใหม่ 3,247 แห่ง  กำจัดจุดอ่อนแฟรนไชส์”เบค ชีส ทาร์ต”ญี่ปุ่น  สร้างแบรนด์เอง 

บริษัท อุตสาหกรรม อีเล็คโทรนิคส์  (EIC )เปิดเผยผลดำเนินงานปี 2562 ขาดทุนสุทธิ 21.89 ล้านบาท พลิกจากที่มีกำไรสุทธิ 5.23 ล้านบาทในปี 2561

นายศิรัตน์ รัตนไพฑูรย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงิน EIC กล่าวว่า สาเหตุหลักที่ทำให้ขาดทุนมาจาก ณ สิ้นปี 2562 บริษัทฯ จ้างผู้ประเมินอิสระ เพื่อประเมินมูลค่าเงินลงทุนในบริษัทย่อย พบว่ามูลค่ายุติธรรมของเงินลงทุนในบริษัท เบค ชีส ทาร์ต (ไทยแลนด์) ลดลง จึงบันทึกขาดทุนจากการด้อยค่าของเครื่องหมายการค้าจำนวน 23 ล้านบาทและขาดทุนจากการด้อยค่าค่าความนิยมอีกจำนวน 92 ล้านบาท รวมถึงขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มขึ้น 5 ล้านบาท สำหรับการขายชิ้นส่วนอุปกรณ์ ตามเงินบาทแข็งค่าอิเล็กทรอนิกส์ให้ลูกค้าในต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินงานดีขึ้น บริษัทมีรายได้จากการขายสินค้าเพิ่มขึ้น 91.30% เป็น 364 ล้านบาท แต่รายได้จากการให้บริการลดลง 43% เหลือ 60 ล้านบาท และต้นทุนขายสินค้าเพิ่มขึ้น 61% เป็น 244 ล้านบาท ทำให้กำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้น 66.55% เป็น 145 ล้านบาท จาก 87 ล้านบาท

ในปี 2562 บริษัทฯมีรายได้และต้นทุนจากการขายสินค้าเพิ่มขึ้น โดยเริ่มรับรู้รายได้จากบริษัท เบค ชีส ทาร์ต (ไทยแลนด์)  บริษัท อีสเทิร์นควีซีน (ประเทศไทย) และบริษัท เครปส์ แอนด์ โค, ดีเวล๊อปเม้นท์ ในเดือนส.ค. ที่ผ่านมา โดยมีสัดส่วนรายได้จากการขายสินค้าเพิ่มขึ้นจำนวน 174 ล้านบาท หรือ 91% และมีอัตรากำไรขั้นต้นจากการขายสินค้า 33%

“ธุรกิจขนมอบและเบเกอรี่ในประเทศไทยมีการแข่งขันที่สูงทั้งจากคู่แข่งทางตรงและคู่แข่งทางอ้อม โดยแข่งขันด้านราคาเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาด มีรายใหม่เข้ามาทำตลาดเพิ่มขึ้น โดยในปี 2562 มีร้านขนมอบและเบเกอรี่เปิดใหม่ทั้งสิ้น 3,247 ร้าน คิดเป็นอัตราการเปิดร้านใหม่เพิ่มขึ้น 33.5% สะท้อนถึงการแข่งขันที่รุนแรงในอุตสาหกรรม”

นอกจากนี้ บริษัท เบค ชีส ทาร์ต (ไทยแลนด์) อยู่ภายใต้การดำเนินธุรกิจแบบแฟรนไชส์ ซึ่งมีข้อกำหนดจากเจ้าของสิทธิการค้า (Franchisor) ในประเทศญี่ปุ่นที่เข้มงวด ทุกขั้นตอนต้องได้รับการตรวจสอบและอนุมัติจากเจ้าของสิทธิการค้า ในบางรายการใช้ระยะเวลานานถึง 3-4 เดือน ทำให้บริษัทฯ ไม่สามารถปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์หรือกลยุทธ์เพื่อตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคที่เป็นกระแสนิยมในขณะนั้นได้ทัน ส่งผลให้สูญเสียความสามารถในการแข่งขันในตลาด ทำให้เกิดการด้อยค่าของเครื่องหมายการค้าและความนิยมดังกล่าวขึ้น

บริษัทฯ ตระหนักดีถึงข้อจำกัดของบริษัท เบค ชีส ทาร์ตฯและพยายามหารือร่วมกับเจ้าของสิทธิการค้า และจัดทำแผนกลยุทธ์ใหม่ โดยมุ่งเน้นไปที่จุดแข็งของแบรนด์ บริหารพื้นที่ร้านค้าของบริษัทฯ  รวมทั้งใช้จุดแข็งในทำเลที่ตั้งในปัจจุบันที่มีผู้สัญจรผ่านอย่างหนาแน่น และยังมีนโยบายที่จะเริ่มดำเนินธุรกิจแบบ Co-Branding เพื่อดึงดูดความสนใจและทำให้ลูกค้ากลับเข้ามาซื้อผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ  เพื่อเปิดโอกาสให้บริษัทพันธมิตรมีโอกาสโฆษณาสินค้าตนเองในพื้นที่ที่มีศักยภาพ บริษัทฯ มองว่าจะเป็นแผนธุรกิจที่ win-win ทั้งสองฝ่าย คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้อย่างเต็มที่ในช่วงไตรมาส 2

ส่วนแบรนด์ Kagonoya, Crepe and Co และ Le Boeuf ปัจจุบันยังไม่มีนโยบายปรับเปลี่ยนแผนธุรกิจแต่อย่างใด เนื่องจากทั้งสามแบรนด์ ยังคงแข็งแรงและมีศักยภาพในการเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่เพื่อต่อยอดธุรกิจอาหาร บริษัทฯ มีแผนจะพัฒนาผลิตภัณฑ์และแบรนด์สินค้าใหม่เป็นของตัวเองเพิ่มเติม