หุ้นกู้ส่อเบี้ยวหนี้มากขึ้น! ท่ามกลางตลาดหุ้นกู้ “ปิด” สำหรับบางบริษัท สถานการณ์ตอนนี้ขายยากขึ้น เพราะกฎเกณฑ์ที่เข้มงวด และนักลงทุนเองก็มีความระมัดระวัง การต่ออายุโดยอัตโนมัติ ( rollover) ทำไม่ได้เหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา สร้างความเดือดร้อนให้กับบริษัทที่มีหุ้นกู้ครบกำหนดชำระคืนในช่วงนี้เป็นอย่างมาก
ทางออกที่กำลังเป็นที่นิยม และเกิดการลอกเลียนแบบ คือ การจัดการประชุมผู้ถือหุ้นกู้ เพื่อขออนุมัติเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดสิทธิและหน้าที่ของผู้ออกหุ้นกู้และผู้ถือหุ้นกู้ เป้าหมาย “ขอยืดระยะเวลาไถ่ถอน-เปลี่ยนแปลงเงื่อนไข ” โดยจ่ายดอกเบี้ยสูงเป็นสิ่งล่อใจ
ปัจจุบันพบว่ามี 3 บริษัทกำลังเผชิญปัญหานี้อยู่ ได้แก่ บริษัท เอเชีย แคปปิตอล กรุ๊ป (ACAP) บริษัท พีพี ไพร์ม-PPPM (ชื่อเดิม บริษัทไทยลักซ์ เอ็นเตอร์ไพรส์) และ บริษัท เอเพ็กซ์ ดีเวลลอปเม้นท์ (APEX) ซึ่งมีการรายงานความคืบหน้าต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแล้ว
PPPM ได้เรียกประชุมผู้ถือหุ้นกู้ 3 ชุด คือ รุ่น PPPM 213A รุ่น TLUXE198A และรุ่นTLUXE205A โดยผู้ถือหุ้นกู้รุ่น TLUXE198A มูลค่า 319.50 ล้านบาท อนุมัติให้ขยายระยะเวลาไถ่ถอนออกไปจากเดิมครบกำหนดวันที่ 2 ก.ค. 2563 เป็นวันที่ 2 ก.ค. 2564 แต่ไม่อนุมัติการยกเว้นเงื่อนไขการดำรงสัดส่วนหนี้สินต่อทุนเท่ากับ 3 : 1
รุ่น TLUXE205A ขยายเวลาจากวันที่ 8 พ.ค. 2563 เป็นวันที่ 8 พ.ค. 2564 ทั้งนี้บริษัทมียอดตราสารหนี้คงค้าง จำนวน 407.60 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนม.ค.2563
ส่วน APEX ผู้ถือหุ้นกู้ รุ่น APEX202A จำนวน 211 ราย ถือจำนวน 549,400 หน่วยมีมติอนุมัติให้ขยายเวลาออกไปอีก 180 วัน จากเดิมวันที่ 28 ก.พ.เป็น วันที่ 26 ส.ค. 2563 และแก้ไขอัตราดอกเบี้ยระหว่างระยะเวลา 180 วัน จาก 6.25% เป็น 8.25%ต่อปี
อย่างไรก็ตาม ACAP ในส่วนของผู้ถือหุ้นกู้รุ่น ACAP202A จำนวน 149 ราย ถือหุ้นกู้ทั้งสิ้น 234,700 หน่วยคิดเป็น 59.37% ของจำนวนหุ้นกู้ทั้งสิ้น 395,300 หน่วย มีมติไม่อนุมัติขยายเวลาไถ่ถอนออกไปอีก 366 วัน นับจากวันที่ 7 ก.พ.2563 เป็นวันที่ 7 ก.พ. 2564 แม้ว่าจะเพิ่มอัตราดอกเบี้ยจาก 6.00% เป็น 7.50%ต่อปีแล้วก็ตาม ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วยน้อยกว่า 75% บริษัทจึงต้องชำระดอกเบี้ยเมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2563 และจะทยอยชำระคืนเงินต้นจนครบทั้งจำนวน
ทั้งนี้เหตุผิดนัดครั้งนี้เกิดขึ้นเฉพาะกับรุ่นนี้เท่านั้น ไม่มีผลกระทบต่อหุ้นกู้รุ่นอื่นๆ แต่อย่างใด เพราะเงื่อนไขของ ACAP ต้องผิดนัดรวมกันเกินกว่า 500 ล้านบาท ถึงจะส่งผลต่อหุ้นกู้ทั้งจำนวน โดยเมื่อปลายปี 2562 บริษัทได้ชำระคืนหนี้ตั๋วสัญญาใช้เงิน 2 ฉบับมูลค่ารวม 130 ล้านบาทให้แก่บริษัท โกลบอล เซอร์วิส เซ็นเตอร์ เรียบร้อยแล้ว
ผู้บริหารวงการตราสารหนี้ คาดว่า ปัญหาการผิดนัดชำระหนี้จะมีเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัว เริ่มเห็นหุ้นกู้เลื่อนจ่ายเงินต้น โดยเฉพาะหุ้นกู้ที่มีอายุ 2-3 ปี ที่ออกขายก่อนหน้านี้ จังหวะจะมาครบดีลในช่วงนี้ “ภาวะตลาดไม่เปิดให้ขายได้” จึงไม่สามารถต่ออายุได้โดยอัตโนมัติ คงเห็นบริษัทอีกหลายแห่ง เรียกประชุมผู้ถือหุ้นกู้ เพื่อขออนุมัติเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดสิทธิฯ
เมื่อเกิดปัญหาแล้ว ก็ต้องแก้ไข ขอแนะนำว่า ผู้ถือหุ้นกู้ต้องรักษาสิทธิของตัวเอง คือเข้าร่วมประชุมทุกครั้ง และก่อนจะอนุมัติต้องคิดให้รอบคอบว่า บริษัทผิดพลาดเรื่องขาดสภาพคล่องเพราะอะไร และผู้บริหารมีความจริงใจในการแก้ไขปัญหาหรือไม่ หากเป็นเรื่องความจำเป็นสุดวิสัยจริงๆ มีเจตนาดี ก็เห็นด้วยที่จะแก้ไข แต่ถ้าพิจารณาแล้วไม่เห็นโอกาสที่จะได้รับเงินคืน ก็ไม่ควรอนุมัติ เพราะการต่ออายุหุ้นกู้ ปล่อยเวลาให้ผ่านไปเนิ่นนาน กว่าจะเริ่มกระบวนการฟ้องร้องได้ “ทรัพย์สินแทบไม่เหลือให้ขายใช้หนี้” ไม่อยากเห็นประวัติศาสตร์ซ้ำรอย เหมือนบางกรณี ผิดนัดชำระหนี้ผ่านมาแล้ว 3 ปี จนถึงวันนี้ยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด