AOT มูลค่าลดฮวบ 4.6 หมื่นลบ. คลังเจ็บหนัก โบรกฯ หั่นเป้ากำไร

HoonSmart.com>>มาตรการเยียวยาผู้ประกอบการเชิงพาณิชย์ที่สนามบิน ทุบมูลค่าหุ้นท่าอากาศยานไทย หายวับวันเดียว 46,428 ล้านบาท คลังถือหุ้น 70% พอร์ตเล็กลง 32,450 ล้านบาท King Power สบายไม่ต้องจ่ายขั้นต่ำ 23,500 ล้านบาท/ปี ส่งเงินตามรายได้ นักวิเคราะห์ปรับลดเป้าราคาหุ้น-กำไรปี 63-64 กดดันตลาดหุ้นหลุด 1,500 จุด สถาบันจับมือต่างชาติถล่มหุ้นไทยยับ 5,114 ล้านบาท ค่าเงินบาทอ่อน การบินไทยปรับลดเที่ยวบินสู่เมืองต่างๆ ในเอเชีย 9 ประเทศ

วันที่ 20 ก.พ. 2563 หุ้นของบริษัทท่าอากาศยานไทย (AOT) ป่วนตลาด ราคาเปิดหายไปทันที 4 บาท ที่ระดับ 63.75 บาท รับมาตรการเยียวยาประกอบการเชิงพาณิชย์ที่สนามบิน ก่อนที่จะลงไปต่ำสุดที่ 62.25 บาท และเด้งขึ้นมาปิดที่ 64.50 บาท ติดลบ 3.25 บาท หรือ 4.80% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย  11,919 ล้านบาท  มากเป็นอันดับหนึ่ง

” ราคาหุ้นที่ติดลบ 3.25 บาท ทำให้มูลค่าหุ้น AOT ลดลงถึง 46,428 ล้านบาท ภายในวันเดียว กระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สุด สัดส่วน 70% มูลค่าหุ้นลดลงตามไปด้วย 32,450 ล้านบาท หลังจากนักวิเคราะห์ดาหน้าปรับลดราคาเป้าหมายและประมาณการกำไรสุทธิปี 2563-2564 ลง ตามระยะเวลาที่บริษัทออกมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการสนามบิน เพื่อช่วยลดผลกระทบจากไวรัสโควิด-19″

ทั้งนี้ราคาหุ้น AOT ปรับตัวลงต่ำสุดในรอบเกือบ 14 เดือน จากวันที่ 31 ต.ค.2561 ราคาหุ้นปิดที่ 64 บาท

บริษัทหลักทรัพย์ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) ปรับลดประมาณการปี 2563 และ 2564 ลงในอัตรา 11% และ 35% ตามลำดับ เพื่อสะท้อนผลลบหลังจากบริษัทออกมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการเชิงพาณิชย์ที่สนามบิน ส่งผลให้กำไรหลักปี 2563 ลดลง 15% คาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวได้ 9% ในปี 2564

“ผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 จะยังเป็นปัจจัยลบต่อผลการดำเนินงานของบริษัท แต่เรายังคงคำแนะนำ ซื้อ หลังปรับราคาพื้นฐานใหม่เป็น 78 บาท ลดลงจาก 81 บาท ตามการปรับประมาณการกำไรลง ราคาปิดมีส่วนเพิ่มได้อีก 15% แม้ระยะสั้นผลประกอบการจะได้รับผลกระทบจากโรคระบาด แต่ปัจจัยพื้นฐานยังแข็งแกร่งจากการเป็นสนามบินระดับนานาชาติ มีชื่อเสียง และเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่รายเดียวในไทย คาดว่าเมื่อโรคระบาดคลี่คลาย ราคาหุ้นจะฟื้นตัวได้”บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส ระบุ

บล.กสิกรไทย ระบุว่า AOT ประกาศแผนการเยียวยาร้านค้า 6 สนามบินที่บริษัทฯ บริหารจัดการอยู่ ประกอบด้วย 1. มอบส่วนลดค่าเช่า 20% ให้กับร้านค้าเหล่านั้น และ 2. ยกเว้น minimum guarantee ซึ่งคาดหุ้นจะเผชิญกับจิตวิทยาเชิงลบจากการยกเว้น minimum guarantee เพราะคาดไว้ว่าผลประโยชน์ส่วนนี้จะเป็นกันชนต่อ downside ของกำไร AOT

“คงคำแนะนำ “ซื้อ” แต่ปรับลดราคาเป้าหมายลงจาก 87 บาทเป็น 75.50 บาท”บล.กสิกรไทย ระบุ

บล.เคทีบี ปรับคำแนะนำลงเป็น “ถือ” และปรับลดราคาเป้าหมายเป็น 76 บาท จากเดิม 83 บาท หลังปรับลดกำไรสุทธิปี 2563-2564 ลงจากเดิม -18% และ -37% เป็นปี 2563 ที่ 2 หมื่นล้านบาท -20% และปี 2564 ที่ 2.27 หมื่นล้านบาท +13% ส่วนปี 2565 คาดกำไรสุทธิจะกลับมาเติบโตโดดเด่น +60%

บล.ฟินันเซีย ไซรัส ประเมินเบื้องต้นกำไรปี 2563-2564 ได้รับผลกระทบ 15-20% และราคาเป้าหมายเหลือ 75-80 บาท แนะนำ ซื้ออ่อนตัว

บล.กรุงศรี เบื้องต้นคาดมาตรการช่วยเหลือ จะกระทบรายได้ของ AOT ประมาณ 6% แต่จะกระทบกำไรสุทธิประมาณ 19% และมีผลกระทบต่อราคาพื้นฐานประมาณ 10 บาทต่อหุ้น

ทั้งนี้ AOT ออกมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการเชิงพาณิชย์ที่สนามบิน เช่น ปรับลดค่าผลตอบแทนสำหรับสัญญาที่มีผลตอบแทนคงที่รายเดือนในอัตรา 20% เป็นระยะเวลา 1 ปี(1ก.พ.2563-31ม.ค.2564 ) สำหรับปีถัดไป บริษัทจะมีการทบทวนอีกครั้ง

สำหรับสัญญาที่ไม่ได้มีผลตอบแทนคงที่ ได้มีการให้ยกเว้นการเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำรายเดือน และผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำรายปี โดยคงไว้เพียงผลตอบแทนในอัตราร้อยละ ระหว่างวันที่ 1 ก.พ. 2563 – 31 มี.ค. 2565 ทั้งนี้ King Power ได้รับการยกเว้นไม่ต้องจ่ายขั้นต่ำ 23,500 ล้านบาท/ปี ส่งผลประโยชน์ในรูปเปอร์เซนต์ของรายได้เท่านั้น

นอกจากนี้เลื่อนการชำระค่าผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่ผู้ประกอบการภายในท่าอากาศยานของบริษัททั้ง 6 แห่ง สำหรับผู้ประกอบการปัจจุบันที่ร้องขอการผ่อนผันเข้ามา เป็นระยะเวลาทั้งสิ้น 6 เดือน

ราคาหุ้น AOT ที่ปรับตัวรุนแรง ส่งผลต่อภาพรวมตลาดหุ้น ผสมแรงขายหุ้นขนาดใหญ่ กดดันให้ดัชนีลงไปต่ำสุดแตะ 1,484.51 จุด ทรุดกว่า 21 จุด ก่อนขยับขึ้นมาปิดที่ระดับ 1,491.24 จุด รูดลง 14.30 จุด คิดเป็น 0.95% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 75,546 ล้านบาท

ตลาดหุ้นที่ปรับตัวลงแรงเกิดจากนักลงทุนต่างชาติกลับมาขายกว่า 2,396 ล้านบาท กองทุนทิ้งต่อ 2,717 ล้านบาท ส่วนพอร์ตบริษัทหลักทรัพย์รับเละ 3,498 ล้านบาท และรายย่อยช่วยซื้อ 1,616 ล้านบาท ปัจจัยลบกดดันให้ค่าเงินบาทอ่อนตัวลง

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยว่า ดัชนีที่ปรับตัวลงมาก มาจากการที่นักลงทุนตื่นตระหนกในปัจจัยงบประมาณปี 2563 ล่าช้า   ไวรัสโควิด-19 กระทบต่อการท่องเที่ยว  เศรษฐกิจ และปัญหาภัยแล้ง จึงมีการขายออกหุ้นออกมามาก อยากให้นักลงทุนมองถึงการลงทุนในปัจจัยพื้นฐานในระยะยาว

อย่างไรก็ตาม นายไพบูลย์ มองว่าภาครัฐควรมีมาตรการออกมาอย่างชัดเจน สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในการแก้ปัญหาต่างๆ ควรเป็นแผนที่ใช้ได้จริง งบลงทุนควรเป็นเม็ดเงินขนาดใหญ่ อยากให้ทุกภาคส่วนของรัฐบาลร่วมมือในการแก้ปัญหาในระยะยาว รวมถึงแผนสำรองต่างๆที่มารองรับแผนในระยะสั้นที่อาจจะมีผลกระทบอย่างต่อเนื่องหรือภาวะที่คาดเดาไม่ได้

นอกจากนี้ยังมองว่างบประมาณในปี 2563 ควรขาดดุล เพราะต้นทุนในการขาดดุลถูกมาก อยู่ที่ 1% ต่อปี ภาครัฐควรกู้นำเงินมาใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และมีการใช้จ่ายเงินให้ทุกภาคส่วน จะเป็นผลดีมากต่อเศรษฐกิจ  และความเชื่อมั่นของนักลงทุน

ด้านบริษัทการบินไทยปรับลดเที่ยวบินสู่เมืองต่างๆ ในเอเชีย รวม 9 ประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน ,ฮ่องกง,ไต้หวัน,ญี่ปุ่น,เกาหลี,สิงคโปร์,ฟิลิปปินส์,บังคลาเทศ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดย นายนนท์ กลินทะ ผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายขาย เปิดเผยว่า เนื่องด้วยสถานการณ์ไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ยังคงแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้โดยสารลดการเดินทางไปยังประเทศต่างๆ บริษัทฯ จึงมีความจำเป็นต้องปรับตารางการบินเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการเดินทางและปริมาณการสำรองที่นั่งล่วงหน้าของผู้โดยสาร