HoonSmart.com>>ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียมโชว์ความสำเร็จของผลงานปี 2562 ปริมาณการขายปิโตรเลียมเพิ่มขึ้นเป็น 350,651 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน นับเป็นจุดสูงสุดของบริษัท อัตราส่วนปริมาณสำรองปิโตรเลียมต่อการผลิตเพิ่มขึ้นจาก 5 ปี เป็น 7.5 ปี สร้างการเติบโตยั่งยืน สร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศในระยะยาว ปี 2563 ตั้งเป้าเพิ่มปริมาณการขายอีก 11% เน้นการใช้เทคโนโลยีสร้างมูลค่าเพิ่มโครงการ พัฒนาโครงการให้ผลิตได้ตามแผนที่วางไว้ บอร์ดมีมติจ่ายเงินปันผลอีก 3.75 บาท/หุ้น รวมทั้งปี 6 บาท
บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม หรือ ปตท.สผ. (PTTEP) รายงานผลการดำเนินงานประจำปี 2562 มีกำไรสุทธิ 48,802 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12,596 ล้านบาท คิดเป็น 34.79% เทียบกับกำไรสุทธิ 36,206 ล้านบาทในปี 2561 หรือมีกำไรสุทธิ 1,569 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 40% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งมาจากความสำเร็จในการดำเนินงานภายใต้กรอบกลยุทธ์ EXPAND-EXECUTE
คณะกรรมการบริษัทฯ มีมติอนุมัติเสนอจ่ายเงินปันผลสำหรับปี 2562 ที่ 6 บาทต่อหุ้น ทั้งนี้จ่ายไปแล้วในอัตรา 2.25 บาทต่อหุ้น ส่วนที่เหลืออีก 3.75 บาทต่อหุ้น จะกำหนดวันให้สิทธิผู้ถือหุ้นรับเงินปันผลวันที่ 14 ก.พ. และจะจ่ายในวันที่ 10 เม.ย.2563 ภายหลังได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นสามัญประจำปี 2563 แล้ว
นายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า ในปี 2562 บริษัทมีรายได้รวม 6,413 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เทียบเท่า 198,822 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 17% จากปี 2561 ที่มีรายได้รวม 5,459 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เทียบเท่า 176,687 ล้านบาท) ปัจจัยหลักมาจากปริมาณการขายปิโตรเลียมที่เพิ่มขึ้นจากการเพิ่มสัดส่วนการลงทุนโครงการบงกช การเข้าซื้อกิจการของบริษัท เมอร์ฟี่ ออยล์ คอร์ปอเรชั่น ในประเทศมาเลเซีย และบริษัท พาร์เท็กซ์ โฮลดิ้ง บี.วี. ส่งผลให้ปริมาณขายปิโตรเลียมเฉลี่ย เพิ่มขึ้นเป็น 350,651 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน หรือเพิ่มขึ้น 15% เมื่อเทียบกับ 305,522 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวันในปี 2561 ขณะที่ราคาขายผลิตภัณฑ์เฉลี่ยเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 46.66 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ มาอยู่ที่ 47.24 ดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งนี้ ปตท.สผ. มีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานในปี 2562 รวม 3,540 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เทียบเท่า 102,878 ล้านบาท) และมีระดับอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษีและค่าเสื่อมราคา (EBITDA Margin) ที่ 71%
บริษัทดำเนินงานตามแผนกลยุทธ์การขยายธุรกิจ (Expand) ซึ่งมีทั้งการเข้าซื้อกิจการและการชนะการประมูลทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ส่งผลให้ปริมาณการขายปิโตรเลียมเพิ่มขึ้นเป็น 350,651 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวันนั้น นับเป็นปริมาณการขายปิโตรเลียมเฉลี่ยสูงสุดจากที่มีการผลิตมาของ ปตท.สผ. นอกจากนี้ยังมีผลให้ปริมาณสำรองปิโตรเลียมที่พิสูจน์แล้ว (P1) เพิ่มขึ้นจาก 677 ล้านบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ เป็น 1,140 ล้านบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ หรือเพิ่มขึ้นกว่า 68% เมื่อเทียบกับปี 2561 ซึ่งส่งผลให้อัตราส่วนปริมาณสำรองปิโตรเลียมต่อการผลิต (R/P ratio) เพิ่มขึ้นจาก 5 ปี เป็น 7.5 ปี
“นอกจากปริมาณการขายที่เพิ่มขึ้นแล้ว เรายังสามารถเพิ่มปริมาณสำรองปิโตรเลียมได้ตามเป้าหมายด้วย โดยจะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคตหากมีการสำรวจพบและพิสูจน์ทราบปริมาณสำรองในพื้นที่สำรวจต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นการสร้างการเติบโตให้กับ ปตท.สผ. ไปพร้อม ๆ กับเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศไทยในระยะยาว ส่วนในปี 2563 ปตท.สผ. ตั้งเป้าเพิ่มปริมาณการขายขึ้นอีก 11%” นายพงศธร กล่าว
สำหรับแผนงานในปี 2563 ปตท.สผ. จะมุ่งเปลี่ยนผ่านสิทธิการดำเนินงานโครงการใหม่ที่ได้ในปีที่ผ่านมาให้เป็นไปอย่างราบรื่น โดยเฉพาะโครงการ G1/61 (แหล่งเอราวัณ) และโครงการ G2/61 (แหล่งบงกช) เพื่อให้ได้ปริมาณการผลิตตามสัญญาแบ่งปันผลผลิต สามารถผลิตก๊าซธรรมชาติให้กับประเทศไทยได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ปตท.สผ. จะเร่งกิจกรรมการสำรวจในโครงการที่มีศักยภาพสูง เน้นโครงการในประเทศมาเลเซียและเมียนมา เช่น โครงการเมียนมา เอ็มดี-7 และหลุมสำรวจลัง เลอบาห์-1อาร์ดีอาร์ 2 ในแปลงซาราวัก เอสเค 410บี ประเทศมาเลเซีย ซึ่งในปีที่ผ่านมา ปตท.สผ. ประสบความสำเร็จในการเจาะหลุมสำรวจที่ถือเป็นการค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของบริษัท รวมถึง แปลงสำรวจอื่น ๆ ในบริเวณเดียวกันในประเทศมาเลเซีย เพื่อพิจารณาการลงทุนที่มีประสิทธิภาพสูงสุด
ทั้งนี้ ปตท.สผ. ยังคงมุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มจากโครงการปัจจุบัน และผลักดันการพัฒนาโครงการโมซัมบิก แอเรีย วัน และโครงการแอลจีเรีย ฮาสสิ เบอร์ ราเคซ ให้สามารถผลิตได้ตามแผนที่วางไว้ เพื่อสร้างการเติบโตให้กับบริษัทในระยะยาว
แนวโน้มผลการดำเนินงานในไตรมาส 1 และปี 2563 คาดว่าปริมาณขายปิโตรเลียมเฉลี่ยจะอยู่ที่ 394,000 บาร์เรล/วัน และ 391,000 บาร์เรล/วัน ตามลำดับ โดยปริมาณขายปิโตรเลียมเพิ่มจากปีที่แล้ว เป็นผลจากการเข้าซื้อกิจการของ Murphy ในมาเลเซีย และบริษัท Partex ที่เสร็จสิ้นในเดือน ก.ค.และเดือน พ.ย.2562
ด้านราคาขายผลิตภัณฑ์ในปี 2563 คาดว่าราคาน้ำมันดิบจะผันแปรตามราคาตลาดโลก เคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 60-70 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ขณะที่ราคาก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์หลักนั้นมีโครงสร้างราคาส่วนหนึ่งผูกกับราคาน้ำมันย้อนหลังประมาณ 6-24 เดือน คาดว่าราคาเฉลี่ยของไตรมาส 1และทั้งปี 2563 จะอยู่ที่ประมาณ 6.8 และ 6.4 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู ตามลำดับ เป็นผลจากการปรับตัวของราคาน้ำมันในตลาดโลก
อย่างไรก็ตาม การประกันความเสี่ยงราคาน้ำมัน ณ สิ้นปี 2562 มีปริมาณน้ำมันภายใต้สัญญาประกันความเสี่ยงที่ยังไม่ครบกำหนดอยู่ที่ประมาณ 13 ล้านบาร์เรล ทั้งนี้ ปตท.สผ.มีความยืดหยุ่นในการปรับแผนการประกันความเสี่ยงราคาน้ำมันตามความเหมาะสม
สำหรับไตรมาส 1 และทั้งปี 63 ปตท.สผ.คาดว่าจะสามารถรักษาต้นทุนต่อหน่วยได้ที่ประมาณ 32 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ซึ่งสอดคล้องกับแผนการดำเนินงานที่มีการรผลิตเพิ่มขึ้น ขณะที่คาดว่าทั้งปี 63 จะมีอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ,ภาษี,ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA Margin) ที่ 70-75% ของรายได้จากการขาย
ณ สิ้นปี 62 ปตท.สผ. มีโครงการและการดำเนินกิจกรรมทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ มากกว่า 40 โครงการใน 15 ประเทศ มีปริมาณสำรองที่พิสูจน์แล้ว (Proved Reserves) จำนวน 1,140 ล้านบาร์เรล ขณะที่ปริมาณสำรองที่น่าจะพบ จำนวน 507 ล้านบาร์เรล
ในปี 2562 ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยอยู่ที่ 63.5 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล (ข้อมูลจาก Platts) ลดลงจากราคาเฉลี่ยปี 2561 ที่อยู่ระดับ 69.7 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ขณะที่ราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LNG) ในส่วนราคา Asian spot LNG เฉลี่ยปรับตัวลดลงจากปีก่อนอยู่ที่ 5.51 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู ซึ่งได้รับผลกระทบหลักมาจากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลง และอุปทาน LNG ยังคงอยู่ในสภาวะล้นตลาดจากโครงการใหม่ ๆ ที่ได้รับการอนุมัติก่อสร้างไปในช่วง 5 ปีผ่านมา