HoonSmart.com>>ฟิทช์ ปรับเพิ่มอันดับเครดิต PTTGC เป็น AA+ และ TOP เป็น AA หลังเห็นความสำคัญกับบริษัทแม่ ปตท. มากขึ้น ในเรื่องกำไรและรายได้จากธุรกิจปิโตรเคมี-โรงกลั่น คู่ค้ารายสำคัญ แต่พีทีที โกลบอลฯผลงานปีนี้ยังไม่ดี คาด EBITDA ลดลง กระแสเงินสดติดลบ จากการลงทุนเพิ่มขึ้นเป็น 4.3 หมื่นล้านบาท “ไทยออยล์” น่าจะได้ขยายเวลาจ่ายค่าซื้อน้ำมัน กระแสเงินสดเพิ่มขึ้นถึง 1.8 หมื่นล้านบาท
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศปรับเพิ่มอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว และอันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิของ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) เป็น ‘AA+(tha)’ จาก ‘AA(tha)’ แนวโน้มมีเสถียรภาพ และคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ระดับ ‘F1+(tha)’
ขณะเดียวกันบริษัท ฟิทช์ ฯ ประกาศปรับเพิ่มอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวและอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิของบริษัท ไทยออยล์ (TOP) เป็น ‘AA(tha)’ จาก ‘AA-(tha)’ แนวโน้ม มีเสถียรภาพ และคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น ที่ระดับ ‘F1+(tha)’
การปรับอันดับเครดิตสะท้อนถึงการทบทวนความสัมพันธ์ ด้านกลยุทธ์ของธุรกิจปิโตรเคมี และโรงกลั่น ที่มีความสำคัญต่อบริษัทแม่ หรือ ปตท. (PTT) (ปตท.; อันดับเครดิตที่ AAA(tha)/แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) หลังจากที่มีการปรับโครงสร้างธุรกิจในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา มากกว่าที่ฟิทช์คาดไว้ โดยสร้างรายได้สัดส่วน 31% ของรายได้รวมของกลุ่ม ปตท. ขณะที่ กำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่สองของกลุ่มในปี 2561 คิดเป็น 28% รองจากธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ซึ่งมีสัดส่วน 36%
ในขณะที่ PTTGC มีความสำคัญด้านกลยุทธ์อย่างมากต่อธุรกิจปิโตรเคมี และโรงกลั่น ของกลุ่ม ปตท. เนื่องจากเป็นผู้รับซื้อวัตถุดิบที่เป็นผลิตภัณฑ์ก๊าซธรรมชาติที่ใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีรายใหญ่ของ ปตท. และ เป็นบริษัทปิโตรเคมีที่ใหญ่ที่สุดของ ปตท. ดังนั้นฟิทช์ได้เพิ่มอันดับเครดิตขึ้นจากสถานะเครดิตโดยลำพัง (Standalone Credit Profile) ของ PTTGC ซึ่งอยู่ที่ ‘aa-(tha)’ เป็นสองอันดับ จากหนึ่งอันดับ
อย่างไรก็ตาม ฟิทช์คาดว่า EBITDA ของ PTTGC จะลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 5 หมื่นล้านบาทในปี 2562 จาก 5.7 หมื่นล้านบาทในปี 2561 เนื่องจากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบของผลิตภันฑ์ปิโตรเคมี และค่าการกลั่น รวมถึงปริมาณการขายที่ลดลงจากแผนการหยุดเดินเครื่องเพื่อบำรุงรักษา ของ Aromatics Complex I และ โรงกลั่น
ขณะที่ กระแสเงินสดสุทธิของ PTTGC น่าจะติดลบ เนื่องจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงานไม่น่าจะเพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายด้านการลงทุน และการจ่ายเงินปันผล ฟิทช์คาดว่าค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 4.3 หมื่นล้านบาทจาก 3.3 หมื่นล้านบาทในปี 2561 เพื่อใช้ในการก่อสร้างโครงการ propylene oxide และ polyol และโครงการ olefins reconfiguration project (ORP)
อัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดที่ได้จากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของสินทรัพย์และหนี้สินจากการดำเนินงานน่าจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับประมาณ 1.5-1.6 เท่า จาก 0.9 เท่าในปี 2561 ก่อนที่จะลดลงมาอยู่ที่ระดับ 0.6-1.1 เท่าในปี 2563 และ 2564 หลังจากการก่อสร้างโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จ
แนวโน้มปริมาณการขายของ PTTGC น่าจะเพิ่มขึ้นในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า เนื่องจากกำลังการผลิตปิโตรเคมีใหม่ที่เพิ่มขึ้น บริษัทได้เริ่มดำเนินการผลิตของโครงการผลิต liner low density polyethylene และ hexane-1 ที่มีกำลังการผลิตรวมกันที่ 434,000 ตันต่อปี ในไตรมาส 1/ 2561 และโครงการ Methyl Ester 2 ที่มีกำลังการผลิต 200,000 ตันต่อปี ในไตรมาส 1/ 2562 ในขณะที่โครงการ propylene oxide และ polyol และโครงการ ORP ซึ่งจะเริ่มดำเนินการผลิตในปี 2563 จะช่วยผลักดันการเติบโต ในช่วงดังกล่าว
PTTGC มีขนาดธุรกิจที่ใหญ่ มีความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ และมีอัตราการใช้กำลังการผลิตที่สูง ส่งผลให้บริษัทมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่มากกว่า และอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานที่สูงกว่า เมื่อเทียบกับผู้ผลิตปิโตรเคมีและน้ำมันอื่นๆ ในประเทศ นอกจากนี้ยังมีความได้เปรียบในเรื่องต้นทุนการผลิตเนื่องจากวัตถุดิบหลักที่ใช้ในการผลิตโอเลฟินส์ คือก๊าซธรรมชาติซึ่งจัดหาได้จากภายในประเทศ และบริษัทยังได้รับประโยชน์จากการที่มีสัญญาการจัดหาวัตถุดิบระยะยาวกับ ปตท. ซึ่งช่วยลดความผันผวนของส่วนต่างระหว่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบได้
อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตของบริษัทถูกลดทอนจากความผันผวนของราคาผลิตภัณฑ์ตามวัฎจักรของธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น ความผันผวนของอัตราส่วนกำไรของผลิตภัณฑ์ ค่าการกลั่น ราคาวัตถุดิบ ราคาน้ำมัน และความต้องการใช้เงินทุนหมุนเวียน ซึ่งอาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อกำไรและกระแสเงินสดของบริษัท
นอกจากนี้ PTTGC ยังมีความเสี่ยงจากการพึ่งพาแหล่งวัตถุดิบน้อยแหล่ง เนื่องจากวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตส่วนใหญ่มาจากบริษัท ปตท. ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ แต่ความเสี่ยงจากการที่บริษัท รับวัตถุดิบส่วนใหญ่จาก ปตท.ได้ถูกบรรเทาลงจากการที่ ปตท. มีอันดับเครดิตที่แข็งแกร่ง และเป็นผู้ดำเนินธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ในประเทศไทย
สำหรับ TOP มีความสำคัญด้านกลยุทธ์อย่างมากต่อธุรกิจปิโตรเคมีและโรงกลั่นของกลุ่ม ปตท. เนื่องจากเป็นผู้ดำเนินธุรกิจโรงกลั่นรายใหญ่ที่สุดของกลุ่ม และมีการขายผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูป ให้แก่ ปตท. คิดเป็นหนึ่งในสามของความต้องการน้ำมันทั้งหมดในธุรกิจค้าปลีกน้ำมันของ ปตท. อีกทั้ง TOP มีแนวโน้มที่จะเป็นบริษัทหลักของ ปตท. ในการขยายธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน และเป็นรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีกำลังการกลั่นน้ำมัน สัดส่วน 29% ของกำลังการกลั่นน้ำมันของประเทศในปี 2561
นอกจากนี้ ฟิทช์คาดว่า ปตท. จะขยายเทอมการชำระเงินสำหรับการซื้อน้ำมันดิบให้กับ TOP ดังเช่นที่ทำให้กับ บริษัท ไออาร์พีซี (IRPC) (มีอันดับเครดิตที่ A-(tha) แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) เพื่อช่วยรักษากระแสเงินสดและลดความต้องการใช้เงินกู้ในช่วงที่มีการลงทุนสูง ประมาณการว่า TOP จะมีกระแสเงินสดเพิ่มขึ้นถึง 1.8 หมื่นล้านบาท จากการขยายเทอมในปี 2563 ดังนั้นฟิทช์ได้เปลี่ยนแปลงการเพิ่มอันดับเครดิตขึ้นจากสถานะเครดิตโดยลำพัง ของ TOP ซึ่งอยู่ที่ ‘a+(tha)’ เป็นสองอันดับจากหนึ่งอันดับ
ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดที่ได้จากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของสินทรัพย์และหนี้สินจากการดำเนินงาน ของ TOP น่าจะเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 3-4 เท่าในปี 2563-2565 (2561 อยู่ที่ 0.3 เท่า) เนื่องจากแผนการลงทุนที่สูงในโครงการ Clean-fuel หรือ CFP และแผนการซื้อหุ้นเพิ่มทุนของบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ อัตราส่วนหนี้สินสุทธิ น่าจะปรับตัวลดลงไปอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 2 เท่า หลังจากโครงการ CFP ดำเนินการเต็มรูปแบบในปี 2566 นอกจากนี้ เงินที่ได้จากการขายหน่วยผลิตไฟฟ้าที่เรียกว่า Energy Recovery Unit (ERU) ที่อยู่ในโครงการ CFP จะช่วยลดอัตราส่วนหนี้สินสุทธิ ในปี 2566 ด้วย
“CFP เพิ่มศักยภาพธุรกิจของ TOP ช่วยเพิ่มกำลังการกลั่นน้ำมัน สามารถผลิตน้ำมันที่มีมูลค่าสูงได้มากขึ้น และสามารถกลั่นน้ำมันดิบชนิดหนักมากขึ้นได้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มข้อได้เปรียบในด้านการแข่งขัน สร้างอัตราส่วนกำไรที่สูงเมื่อเทียบกับโรงกลั่นอื่นๆ ในประเทศ รวมถึงการขยายสายการผลิตที่หลากหลาย ไปยังอะโรเมติกส์ น้ำมันหล่อลื่น ผลิตภัณฑ์สารทำละลาย และธุรกิจอื่นๆ (อาทิ การขนส่งปิโตรเลียม การผลิตไฟฟ้า และการบริการ) ช่วยกระจายแหล่งรายได้ และลดความผันผวนของอัตราส่วนกำไรได้ รายได้ที่เพิ่มขึ้นจากธุรกิจไฟฟ้าที่ค่อนข้างมีเสถียรภาพ คิดเป็น EBITDA สัดส่วน 13% ของ EBITDA ทั้งหมดในปี 2561” บริษัทฟิทช์ระบุ
การคาดการณ์ครั้งนี้ มีสมมุติฐานที่สำคัญ เรื่องราคาน้ำมันดิบ (เบรนท์) ที่ราคา 65 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปี 2562, 62.5 เหรียญสหรัฐฯ ในปี 2563, 60 เหรียญสหรัฐฯ ในปี 2564 และ 57.5 เหรียญสหรัฐฯ ในปี 2565 เป็นต้นไป โดยมีการปรับปรุงด้วยส่วนต่างราคาน้ำมันตามการซื้อน้ำมันดิบของ PTTGC ค่าการกลั่นที่ปรับตัวลดลงในปี 2562 กำไรของธุรกิจอะโรเมติกส์ปรับลดลงเล็กน้อยในปี 2562 และค่อนข้างทรงตัวหลังจากนั้น กำไรของธุรกิจโอเลฟินส์และผลิตภัณฑ์อนุพันธ์โอเลฟินส์ ปรับลดลงเล็กน้อยในปี 2562 และค่อยๆปรับตัวเพิ่มขึ้นหลังจากนั้น ค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนจำนวน 1.07 แสนล้านบาท ในปี 2562-2566 ทั้งนี้ ครอบคลุมค่าใช้จ่ายลงทุนที่อยู่ในแผนและค่าใช้จ่ายเพื่อการบำรุงรักษา