HoonSmart.com>>บล.บัวหลวงผู้นำด้านดิจิทัล ใช้จุดเด่นลูกค้ามากถึง 3.5 แสนราย คิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ เน้นลงทุนที่ครบวงจร เพิ่มผลตอบแทนลูกค้า หนุนบริษัทมีออเดอร์เข้าทุกเดือน ล่าสุดให้บริการจับคู่ลูกค้าซื้อ-ขายผ่าน block trade ใช้ราคากลาง ไม่เสียเวลารอคิว ร่วมมือพันธมิตรเกาหลี เปิดตัวแอพพลิเคชั่น Trade Master ส่วนผู้สนใจลงทุนตรงหุ้นต่างประเทศ เริ่มแล้ว สำหรับ DR-DW ออมหุ้นทุกเดือนซื้อหุ้นทุกวัน ได้รับการตอบรับที่ดี “พิเชษฐ” เตือนแนวโน้มหุ้นครึ่งปีหลังจะซึมลง แนะนำขายแถว 1,720 จุด รอซื้อ 1,650 จุด เน้นเช่าซื้อ-อาหาร
นายพิเชษฐ สิทธิอำนวย กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์(บล.)บัวหลวง (BLS) เปิดเผยว่า บริษัทฯมีการลงทุนและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เน้นการให้บริการลงทุนที่ครบวงจร ทำให้ลูกค้าเพิ่มขึ้นตลอด ประมาณ 4-5 หมื่นคน/ปี ในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันมีลูกค้าทั้งสิ้นประมาณ 3.5 แสนราย สะท้อนถึงคุณภาพนักลงทุนที่เข้ามา ไม่ได้พิจารณาภาวะตลาดเพียงอย่างเดียว ทำให้บริษัทสามารถรักษาค่าธรรมเนียมซื้อขายหลักทรัพย์(คอมมิชชั่น) อยู่ที่ 0.16% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่ 0.10%ในปีที่ผ่านมา และมีส่วนแบ่งการตลาดด้านนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์(มาร์เก็ตแชร์)อยู่ที่ 4.64%
“เราไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องมาร์เก็ตแชร์มากนัก เราให้บริการและออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ตอบโจทย์ลูกค้ามากที่สุด เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่ดีขึ้น บริษัทก็มีการเติบโต โดยโครงสร้างรายได้มาจากค่าคอมมิชชั่น 60% ธุรกิจวาณิชธนกิจ(ไอบี) 10% พอร์ตซื้อขายของบริษัท(เทรดดิ้ง) 10% และอื่นๆ 20% ทำให้บริษัทอยู่ได้ไม่ว่าภาวะตลาดจะเป็นอย่างไร ขณะที่อุตสาหกรรมโดยรวมมาจากค่าคอมมิชชั่น 80-90% “นายพิเชษฐ กล่าว
ในส่วนหุ้นไอพีโอ ที่บล.บัวหลวงเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน ก็เช่นเดียวกันที่เน้นการสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวให้กับลูกค้า โดยตั้งราคาขายที่มีส่วนลดประมาณ 20% จากราคาเหมาะสม เน้นบริษัทชั้นดี และขายให้กับนักลงทุนสถาบันมากกว่านักลงทุนรายย่อย ยกตัวอย่างกรณีหุ้น บริษัท โอสถสภา (OSP) เข้ามาซื้อขายต่ำกว่าราคาไอพีโอที่ 25 บาท เพราะได้รับผลกระทบจากภาวะตลาด เมื่อราคาลงไปแถว 22 บาทเศษ จากปัจจัยพื้นฐานที่ดี ทำให้ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นมาเหนือ 30 บาท ตัวล่าสุด บริษัท วีรันดา รีสอร์ท (VRANDA) จัดสรรขายนักลงทุนสถาบันถึง 45 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 65% ของจำนวนไอพีโอทั้งหมด 75 ล้านหุ้น ส่วนในช่วงที่เหลือของปีนี้ บริษัทเตรียมที่จะนำ 3-4 บริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET)
กรรมการผู้อำนวยการ บล.บัวหลวง กล่าวถึงแนวโน้มตลาดหุ้นว่า ในช่วงครึ่งปีหลังอาจจะซึมตัวลงกว่าครึ่งปีแรก เพราะดัชนีหุ้นขึ้นมาแล้วประมาณ 5% และตลาดใหญ่อื่น ๆ ก็ปรับตัวขึ้นมาพอสมควร โดยให้น้ำหนักปัจจัยต่างประเทศมากกว่าในประเทศ แนะนำกลยุทธ์การลงทุน หากดัชนีขึ้นมาถึง 1,720 จุด ให้ขายทำกำไร และแถว 1,650 จุด เป็นจุดที่จะเข้าซื้อสะสมได้ เน้นในกลุ่มเช่าซื้อ และอาหาร เช่น CPF
ทางด้านนายบรรณรงค์ พิชญากร กรรมการผู้จัดการ กิจการค้าหลักทรัพย์ บล.บัวหลวง กล่าวว่า บริษัทยังคงคิดค้นและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกมา เพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับลูกค้า โดยใช้เทคโนโลยีมาช่วยจับคู่ออเดอร์ของลูกค้าที่จะซื้อและขายผ่าน Block Trade โดยเสนอให้ใช้ราคาเฉลี่ย ลูกค้าไม่ต้องรอเวลาให้เกิดรายการ เช่น กรณีหุ้นปตท.(PTT) ผู้ซื้อต้องการราคา 49.25 บาท ฝั่งขายต้องการ 49.50 บาท จับคู่ให้ซื้อขายที่ 49.375 บาท
ส่วนลูกค้าที่สนใจจะออกไปลงทุนในหุ้นต่างประเทศโดยตรง ประมาณเดือนพ.ค.นี้บริษัทฯจะเริ่มให้บริการลงทุนที่เวียดนาม สหรัฐอเมริกาและฮ่องกง หลังจากที่ให้บริการ E1VFVN30 หรือ DR อ้างอิง ETF ลงทุนในหุ้นเวียดนามชั้นนำ 30 บริษัท ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีมากทั้งจากนักลงทุนรายย่อย สถาบันไทยและต่างประเทศ ทำให้มูลค่าเพิ่มขึ้นจาก 600 ล้านบาท เป็น 1,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ในงาน Money expo ช่วงวันที่ 16-19 พ.ค. บริษัทจะเปิดตัวบริการแอพพลิเคชั่นใหม่ ชื่อ Trade Master ร่วมพัฒนากับพันธมิตรจากประเทศเกาหลี ที่สามารถประเมินสัญญาณทางเทคนิค มีข้อมูลประกอบครบถ้วนมากขึ้น เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าให้ซื้อขายหุ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่จะเริ่มให้บริการกับผู้ที่มีพอร์ตรวมมูลค่าไม่ต่ำกว่า 5 แสนบาท และมีการซื้อขายไม่ต่ำกว่า 20,000 บาทต่อครั้ง
สำหรับการบริการอื่นๆ ได้รับการตอบรับที่ดี อาทิการให้บริการออมหุ้นทุกเดือน(DCA) จุดเด่นของบล.บัวหลวงคือการใช้หุ่นยนต์ซื้อหุ้นทุกเดือน เพื่อได้ผลตอบแทนที่ดีขึ้น เพราะไม่รู้ว่าซื้อวันไหนจะให้ผลตอบแทนสูงที่สุด จึงต้องแบ่งเงินทยอยซื้อทุกวันเฉลี่ยต้นทุน เปิดมา 1-2 ปี มีลูกค้ามาใช้จำนวน 3,000 คน ลงทุนขั้นต่ำ 10,000 บาท/ เดือน จะมีเงินเข้ามาซื้อหุ้นผ่านบล.บัวหลวงทุกเดือนอย่างน้อย 30 ล้านบาท ไม่นับลูกค้าบางรายที่ออมมากกว่า 10,000 บาท/เดือน รายมากที่สุดถึง 2.4 แสนบาท ซึ่งขอแนะนำให้นักลงทุนหันมาออมหุ้นทุเดือน เพื่อออมเงินและสร้างผลตอบแทนที่ดีระยะยาว
ขณะเดียวกันการให้บริการที่หลากหลายและมากกว่า จึงต้องประเมินคุณภาพเพื่อปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น โดยเมื่อปลายปีที่ผ่านมา มีการตั้งคำถาม 8 หัวข้อ สำรวจความคิดเห็นลูกค้าทั่วประเทศ ก็ได้รับข้อมูลค่อนข้างดี บางคนบอกว่าสาขามีการจัดสัมมนาให้ความรู้น้อย ก็ต้องแก้ไข และสาขาที่มีอยู่ 30 แห่งคงไม่สามารถให้บริการกับลูกค้าทั่วถึง บริษัทเริ่มมีการเช่าพื้นที่ หรืออาจจะใช้สาขาของธนาคารกรุงเทพ จัดทีมงานออกไปให้ความรู้ในวันศุกร์แทน เช่น สาขาอยู่ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี บริษัทเช่าพื้นที่ในจังหวัดนครศรีธรรมราช ให้ความรู้ ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดี
“สิ่งสำคัญ ในการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ไม่ใช่เรื่องเงินลงทุน แต่ที่ยากยิ่งกว่าคือการคิดค้นการให้บริการ เพื่อเพิ่มคุณภาพการลงทุนให้กับลูกค้า เราใช้จุดเด่นที่มีบัญชีมากกว่า 3.5 แสนคน บริษัทมีหุ้นให้ยืมถึง 3 หมื่นล้านบาท บล.บัวหลวงออก DW มากที่สุด และเป็นผู้ดูแลสภาพคล่อง ก็ใช้ SBLมากที่สุด ในการบริหารสภาพคล่องและให้บริการลูกค้าครบวงจร”นายบรรณรงค์กล่าว
ผลการดำเนินงานในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2557-2561) บล.บัวหลวงมีกำไรสุทธิเฉลี่ย 1,000 ล้านบาท ค่อนข้างมีเสถียรภาพ