ส่งออกมี.ค.หดตัวเกินคาด 4.88% กดไตรมาสแรกติดลบ 1.64%

HoonSmart.com>>กระทรวงพาณิชย์แถลงตัวเลขส่งออก มี.ค.หดตัว 4.88% มากกว่าตลาดคาดจะลดลงไม่เกิน 4%  ส่วนนำเข้าลงหนักกว่า 7.63%  ไตรมาสแรกส่งออกติดลบ 1.64%   ยอมรับทั้งปีโตไม่ถึงเป้า 8% ศูนย์วิจัยกสิกรไทยให้ขยายตัว 3.2% 

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า(สนค.) กระทรวงพาณิชย์ แถลงตัวเลขการค้าระหว่างประเทศของไทย ระบุว่า การส่งออกในเดือน มี.ค.2562 มีมูลค่า 21,440.2 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 4.88% มากกว่าที่ตลาดคาดว่าจะลดลง 3.3-4.0% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 19,435.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 7.63% ขณะที่ดุลการค้าเกินดุล 2,004.7 ล้านเหรียญสหรัฐ

ส่วนภาพรวมในช่วง 3 เดือนแรกของปี (ม.ค.-มี.ค.) การส่งออกมีมูลค่า 61,987.8 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 1.64% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 59,981.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 1.20% ดุลการค้าเกินดุล 2,006.7 ล้านเหรียญสหรัฐ

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)   กล่าวว่า การส่งออกเดือนมี.ค.ลดลงตามแนวโน้มการค้าโลกและอุปสงค์ของคู่ค้าสำคัญ และราคาส่งออกยังถูกกดดันจากราคาน้ำมันที่ยังขยายตัวในระดับต่ำ

“การส่งออกที่กลับมาติดลบ 4%  เป็นผลจากแนวโน้มการค้าโลกที่หลายประเทศเผชิญปัญหาเดียวกัน การค้าติดลบไป 60 ประเทศจาก 94 ประเทศทั่วโลก  เป็นผลจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก” น.ส.พิมพ์ชนกระบุ

อย่างไรก็ตาม มูลค่าการส่งออกในเดือนมี.ค.อยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพ และมีแนวโน้มสูงขึ้นจากต้นปี 2562 สินค้าหลายรายการสำคัญยังขยายตัวได้ดี อาทิ สินค้ากลุ่มอาหาร (ทูน่ากระป๋อง ผัก ผลไม้สด แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ไก่สด แช่แข็งและแปรรูป) รถยนต์และส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์ยาง โดยคิดเป็นสัดส่วนการส่งออกประมาณ 40%

สำหรับแนวโน้มการส่งออกไตรมาส 2 เชื่อว่าจะขยับมาเป็นบวกได้เล็กน้อย เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกยังไม่ใช่ช่วงขาลง ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนลง และสินค้าเกษตรหลายรายการมีแนวโน้มราคาดีขึ้น

สำหรับแนวโน้มการส่งออกทั้งปี 2562  อาจไม่สามารถขยายตัวตามได้เป้าหมายที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งไว้ที่ 8% เนื่องจากมูลค่าการส่งออกในแต่ละเดือนที่เหลือของปีนี้จะต้องทำให้ได้ไม่ต่ำกว่า 23,000 ล้านดอลลาร์ แต่สำหรับเป้าหมายที่พอจะมีโอกาสเป็นไปได้คือคาดว่าจะขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 3%  แต่จะมีการทบทวนเป้าหมายอีกครั้ง

บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับประมาณการส่งออกในปี 2562 มาเหลือที่ 3.2% (กรอบประมาณการ 2.5-3.5%) จากเดิมที่ 4.5% โดยให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นกับปัจจัยเรื่องการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่จะเข้ามากระทบต่อการส่งออกสินค้าของไทยตลอดทั้งปี 2562 ส่วนข้อพิพาททางการค้ามีสัญญาณบวกน่าจะช่วยส่งเสริมบรรยากาศการค้าโลกในช่วงครึ่งหลังของปี 2562 ได้