โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP
ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ยังอยู่ภายใต้ความไม่แน่นอนสูง ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยภายในประเทศอย่างการเลือกตั้งที่ไม่รู้ว่าสุดท้ายพรรคไหนจะได้เป็นรัฐบาล และจะได้เป็นรัฐบาลพรรคเดียวหรือไม่ และนโยบายเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร
รวมถึงความมั่นคงทางเศรษฐกิจของไทย จากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่กลับมาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รายได้เกษตรกรที่น่าห่วง หรือการว่างงานที่แม้ตอนนี้จะอยู่ในระดับต่ำ แต่จากข่าวรอบด้านก็เริ่มเห็นแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆจากการเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจ
แต่ที่เป็นความกังวลของทุกสำนัก ก็คือ การบริโภคของภาคเอกชนที่ยังมีหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง สำนักงานสถิติแห่งชาติเปิดเผยผลสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2560 รายได้เฉลี่ย 26,937 บาท/เดือน ค่าใช้จ่าย 21,897 บาท/เดือน อัตราเพิ่มของรายได้ 0.1%/ปี อัตราเพิ่มของค่าใช้จ่าย 1.7%/ปี ภาระหนี้สินต่อครัวเรือนอยู่ที่ 177,128 บาท (ประมาณ 6.6 เท่าของรายได้ สรุปง่ายๆคือ ถ้าไม่กิน ไม่ใช้อะไรเลย ต้องเก็บเงินประมาณ 7 เดือนถึงพอใช้หนี้หมด)
มาดูเรื่องรายได้จะเห็นนะครับว่า 71.2% ของรายได้มาจากการทำงาน ที่เหลือเป็นรายได้จากแหล่งอื่นๆ โดยเฉพาะการช่วยเหลือจากบุคคลภายนอก 26% มาจากการช่วยเหลือของคนอื่น 12% สวัสดิการสินค้า/บริการ 13.9% ถือว่าความเสี่ยงเรื่องรายได้สูงมาก เพราะรายได้จากการทำงานหยุดได้ง่ายๆ เช่น การตกงาน การเจ็บป่วย ฯลฯ หรือรายได้จากการช่วยเหลือของคนอื่น เขาจะเลิกให้เมื่อไหร่ก็ได้ อย่างเช่น ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ องค์กรการกุศลหลายๆแห่งประสบปัญหาเรื่องรายได้เพราะผู้บริจาคลดน้อยลง เป็นต้น
ขณะที่รายได้ที่ควรจะมีเยอะๆ คือ รายได้จากทรัพย์สิน เช่น รายได้จากการออม การลงทุน ฯลฯ รายได้พวกนี้เป็นของเราแน่นอน ยิ่งมีมากเท่าไหร่ เรายิ่งมีความมั่นคงทางการเงินมากขึ้นเท่านั้น แต่ปรากฏว่ารายได้จากทรัพย์สินมีเพียง 1.6% ท่านั้น จะมีรายได้จากทรัพย์สินได้สำคัญที่สุดคือ ต้องมีเงินเก็บก่อน
หลายคนอาจบอกงั้นไม่ห่วง สบายใจ เพราะรายได้เฉลี่ย 26,937 บาท/เดือน ค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 21,897 บาท/เดือน รายได้ยังมากกว่ารายจ่าย 5,040 บาท อ๊ะๆ อย่าเพิ่งดีใจครับ เพราะถ้าตัดรายได้จากการช่วยเหลือ 26% ที่ว่าไป (ประมาณ 7,000 บาท) กลายเป็นเงินขาดมือทันที และต่อให้คนยังช่วยเหลือเราอยู่ ปีนี้ รายได้ก็ยังคงอยู่แถวๆ 26,937 บาท/เดือนอยู่ดี เพราะรายได้โตแค่ 0.1% แต่รายจ่ายน่าจะเพิ่มจาก 21,897 บาทมาอยู่ประมาณ 22,269 บาท/เดือน และถ้ายิ่งดอกเบี้ยเริ่มมีสัญญาณขาขึ้นแม้จะไม่เร็ว แถมเงินเฟ้อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เผลอๆ รายจ่ายอาจสูงกว่าที่คาดไว้ก็ได้
เลยอยากขอเตือนกันไว้อ่ะนะ ว่าแม้ว่ายังมีรายได้อยู่ แต่ถ้าใช้จ่ายไม่ระวัง ก็มีปัญหาการเงินได้ และอยากเตือนอีกนิด รายได้มีโอกาสหยุดหา แต่รายจ่ายไม่มีวันหยุดใช้ตราบใดที่ยังไม่ตาย แถมบางคนตายแล้วยังมีรายจ่ายเลย ดังนั้นอย่าประมาทกับการใช้จ่าย อะไรไม่จำเป็น ก็อย่าซื้อ เก็บเงินไว้ใช้ในสิ่งที่จำเป็นในอนาคตดีกว่า ระลึกไว้นะว่า ของฟรีไม่มีในโลก เงินที่เราใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายในวันนี้ แลกด้วยเงินสำหรับใช้ในสิ่งจำเป็นในอนาคต เช่น ค่าเทอมลูก ค่าอาหาร เงินเก็บยามเกษียณ ฯลฯ เสมอ