ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดปี’ 62 ส่งออกโต 4.5% ชะลอตัวจากปีก่อน เหตุฐานสูง ค้าโลกแผ่ว สงครามการค้ายังค้างคา ส่วนส่งออกเดือนพ.ย.ติดลบ 0.95% ตามทิศทางการค้าในภูมิภาค
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินภาพการส่งออกสินค้าของไทยในปี 2562 คาดว่า จะอยู่ที่ 4.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (กรอบประมาณการที่ 2.0-6.0%) ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงจากปี 2561 ซึ่งเป็นผลของฐานที่สูงในปีก่อน การชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลัก ทิศทางราคาน้ำมันดิบโลกที่คาดว่าจะเคลื่อนไหวในระดับที่ต่ำกว่าปี ก่อน รวมถึงผลของประเด็นข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่คาดว่าจะกระทบต่อการส่งออกของไทยในปี 2562 ราว 3,100 ล้านดอลลาร์ฯ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองเส้นทางการส่งออกสินค้าของไทยในปี 2562 คาดว่าจะเผชิญลายปัจจัยท้าทายที่ทำให้มูลค่าการส่งออกสินค้าชะลอลงจาก 7.0% ในปี 2561 มาอยู่ที่ 4.5% หรือคิดเป็นมูลค่าส่งออกเฉลี่ยประมาณ 22,000 ล้านดอลลาร์ฯ ต่อเดือน โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ประเด็นข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนไม่น่าจะสามารถหาข้อสรุปร่วมกันได้ภายในระยะเวลา 90 วัน เนื่องจากมีรายละเอียดที่ค่อนข้างจะซับซ้อน โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวกับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ทำให้สหรัฐฯ จะยังคงปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีน (รอบ 200,000 ล้านดอลลาร์ฯ) จาก 10% เป็น 25% ในวันที่ 1 มี.ค. 2562 แต่ก็คงจะไม่มีการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน มูลค่า 267,000 ล้านดอลลาร์ฯ เพิ่มเติม ทั้งนี้ การปรับขึ้นภาษีในรอบนี้จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าไทยประมาณ 3,100 ล้านดอลลาร์ฯ หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.6 ของจีดีพีประเทศ
นอกจากประเด็นเรื่องสงครามทางการค้าที่ยืดเยื้อแล้ว การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนในปี 2562 จะเป็นปัจจัยหนึ่งที่กระทบต่อการส่งออกสินค้าไทยในปีหน้า โดยมีการคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจจีนในปี 2562 จะชะลอลงมาที่ร้อยละ 6.2 ซึ่งเป็นผลของการปรับโครงสร้างประเทศ (Structural Reform) และผลจากข้อพิพาททางการค้ากับสหรัฐฯ
ทั้งนี้ การส่งออกสินค้าของไทยในเดือนพ.ย. 2561 กลับมาหดตัวร้อยละ 0.95 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับการค้าของประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคที่ผ่อนแรงลง ส่งผลให้การส่งออกสินค้าไทยในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2561 ชะลอลงมาอยู่ที่ร้อยละ 7.29 YoY
มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยในเดือนพ.ย. 2561 อยู่ที่ 21,237.2 ล้านดอลลาร์ฯ ติดลบ -0.95% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยหลักๆ แล้ว เป็นผลมาจากการหดตัวของการส่งออกสินค้าศักยภาพของไทย ไม่ว่าจะเป็นข้าว (หดตัว 22.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน) ยางพารา (หดตัว 25.0% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน) น้ำตาลทราย (หดตัว 32.0% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน) รถยนต์นั่ง (หดตัว 26.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน) รวมไปถึงสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ (หดตัว 9.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน)
ส่วนการส่งออกสินค้าของไทยที่ติดลบในเดือนพ.ย. 2561 นั้นเป็นไปตามทิศทางการค้าในภูมิภาคที่ผ่อนแรงลงมากกว่าการคาดการณ์ของ Consensus ไม่ว่าจะเป็นการส่งออกสินค้าของจีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน รวมไปถึงอินโดนีเซีย ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากประเด็นข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่ทำให้แต่ละประเทศมีการเร่งนำเข้า-ส่งออก (Front-loading) ไปในช่วงก่อนหน้านี้ เพื่อเร่งผลิตสินค้าและส่งออกให้ทันก่อนช่วงเทศกาลปลายปี (Thanksgiving-คริสต์มาส-วันปีใหม่) และก่อนที่สหรัฐฯ จะปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีน (รอบ 200,000 ล้านดอลลาร์ฯ) จากร้อยละ 10 มาเป็นร้อยละ 25 ในวันที่ 1 ม.ค. 2562
อย่างไรก็ตาม การเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนรอบล่าสุด (เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 2561) ได้ข้อสรุปออกมาว่า ทั้งสองประเทศจะระงับการเก็บภาษีสินค้านำเข้าเพิ่มเติมเป็นระยะเวลา 90 วัน (จนถึง 1 มี.ค. 2562) เพื่อเปิดทางไปสู่การเจรจาในรายละเอียดเพื่อยุติประเด็นข้อพิพาททางการค้าระหว่างกัน ทั้งนี้ การที่สหรัฐฯ ยืดระยะเวลาการปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนจากร้อยละ 10 ไปเป็น 25% ออกไปอีก 60 วัน (จากวันที่ 1 ม.ค. 2562 ไปเป็นวันที่ 1 มี.ค. 2562) ก็น่าจะทำให้บรรยากาศความตึงเครียดของการค้าโลกในช่วงเดือนสุดท้ายของปี 2561 ผ่อนคลายลงบ้าง ซึ่งจะช่วยให้การค้าระหว่างประเทศในภูมิภาคกลับมาขยายตัวได้ในช่วงเดือนธ.ค. 2561
ภาพรวมการส่งออกสินค้าของไทยในช่วง 11 เดือนแรก (เดือนม.ค. – พ.ย.) ของปี 2561 ขยายตัว 7.29% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอลงจากช่วง 10 เดือนแรกที่อยู่ที่ 8.19% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ เมื่อมองไปในช่วงเดือนสุดท้ายของปี 2561 แม้บรรยากาศความตึงเครียดของการค้าโลกจะคลี่คลายลงในระดับหนึ่ง แต่เดือนธ.ค. เป็นเดือนแห่งเทศกาลที่มีวันทำงานน้อยกว่าเดือนอื่นๆ ของปี ซึ่งก็น่าจะทำให้มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยผ่อนแรงลงจากช่วงเดือนก่อนหน้า มาอยู่ในช่วงประมาณ 20,000 – 21,000 ล้านดอลลาร์ฯ ส่งผลให้ภาพรวมการส่งออกสินค้าไทยตลอดทั้งปี 2561 ขยายตัวได้ราว 7.0% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอลงจากปี 2560 ที่อยู่ที่ 9.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน