โกลเบล็กมองทองขาขึ้น หุ้นชะลอตัวกรอบ 1,585–1,625 จุด

บล.โกลเบล็ก มองราคาทองคำมีแนวโน้มขาขึ้น จากทิศทางเศรษฐกิจโลกเริ่มมีความไม่เสถียรมากขึ้น แนะกลยุทธ์ trading ในกรอบ 1,210 – 1,250 ดอลลาร์/ออนซ์ ส่วนตลาดหุ้นกรอบ 1,585–1,625 จุด จับตาปัจจัยกดดันเศรษฐกิจโลก ดอกเบี้ยขาขึ้น แนะกลยุทธ์ลงทุนหุ้นเข้าคำนวณดัชนี FTSE SET Large Cap Index ใหม่มีผล 24 ธ.ค.นี้ และหุ้นได้อานิสงส์มาตรการช็อปช่วยชาติ

นายณัฐวุฒิ วงศ์เยาวรักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์โกลเบล็ก (GBS) กล่าวว่า แนวทางการลงทุนในทองคำ ตลาดมั่นใจว่า Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมสัปดาห์นี้ ทำให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งขึ้นก็ตาม แต่เนื่องจากกรรมการ FOMC หลายคน รวมทั้งประธาน Fed ต่างส่งสัญญาณว่าจะคงดอกเบี้ยยาวไปอย่างน้อยถึงกลางปีหน้า สะท้อนมุมมองว่าอัตราดอกเบี้ยเริ่มอยู่ในระดับที่เหมาะสมกับศักยภาพทางเศรษฐกิจปัจจุบัน และอาจเป็นการสะท้อนความไม่เชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจจะรักษาระดับการขยายตัวได้ดีอย่างนี้ต่อไปได้ในระยะกลาง ส่งผลให้ทองคำยังคงแนวโน้มขาขึ้นในฐานะสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูงและปลอดภัยจากความเสี่ยงทางเศรษฐกิจรอบโลก

ในขณะที่ค่าเงินบาทได้รับผลกระทบไม่มากนัก จึงมีกรอบแกว่งตัวที่ชัดเจน และไม่ส่งผลลบต่อราคาทองคำในประเทศ จึงคงคำแนะนำให้เล่น swing long หากราคาอยู่เหนือ 1,240 ดอลลาร์/ออนซ์ และเล่น trading ในกรอบระหว่าง 1,210–1,250 ดอลลาร์/ออนซ์ หากราคาลงมาอยู่ใต้ 1,240 ดอลลาร์/ออนซ์

สำหรับทิศทางตลาดหุ้นไทยมีแนวโน้มชะลอตัว คาดการณ์จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 1,585–1,625 จุด โดยแนะนำกลยุทธ์การลงทุนในหุ้นเข้าคำนวณใหม่มีผล 24 ธ.ค. ดัชนี FTSE SET Large Cap Index ได้แก่ GULF ดัชนี FTSE SET และ Mid Cap Index ได้แก่ AEONTS, OSP, THANI, TU รวมทั้งหุ้นที่ได้อานิสงส์มาตรการช็อปช่วยชาติ ยางรถ หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ GYT, HFT, IRC, NDR, SE-ED, COL

ด้านน.ส.วิลาสินี บุญมาสูงทรง ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.โกลเบล็ก กล่าวว่า ดัชนีหุ้นไทยสัปดาห์นี้ได้รับปัจจัยบวกจากปัจจัยต่างประเทศ อาทิ สหรัฐฯเตรียมเลื่อนการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจีนในวงเงินเพิ่มขึ้น 2 แสนล้านดอลลาร์ ไปเป็นเดือนมีนาคม 2562 ขณะที่จีนเองก็ยอมลดอัตราเรียกเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์จากสหรัฐเหลือ 15% เป็นเวลา 90 วันจากเดิมที่เรียกเก็บภาษีที่ระดับ 40%

รวมทั้งธนาคารกลางสหรัฐอาจชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี 2562 ภายหลังเครื่องมือ Fed Watch วิเคราะห์ภาวะการซื้อขายสัญญาล่วงหน้าอัตราดอกเบี้ยสหรัฐ พบว่า ธนาคารกลางสหรัฐอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียงครั้งเดียวในปีหน้า ลดลงจากคาดการณ์เมื่อเดือนที่พฤศจิกายนว่า จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้ง หลังการเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อทรงตัวในเดือนพฤศจิกายน และการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่ขยายตัวน้อยกว่าคาดในเดือนพฤศจิกายน ประกอบกับเม็ดเงินลงทุนเข้ามาซื้อกองทุน LTF/RMF ในช่วงปลายปีช่วยพยุงดัชนี SET ไม่ให้หลุดระดับ 1,600 จุด

ขณะที่ปัจจัยด้านลบที่ยังคงกดดันการลงทุนอยู่ในช่วงนี้มาจากการที่นักลงทุนมีความวิตกกังวลต่อทิศทางเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวเพิ่มขึ้น หลังจากจีนรายงานตัวเลขผลผลิตภาคอุตสาหกรรมและยอดค้าปลีกต่ำกว่าคาด ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งชี้การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนมากขึ้น ประกอบกับธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้ปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของยูโรโซนในปี 2561 เหลือ % 1.9 จากเดิม 2% และเหลือ 1.7% จากเดิม 1.8% ในปี 2562 ขณะที่กลุ่มประเทศยูโรโซนรายงานดัชนี PMI รวมภาคผลิต-บริการในธ.ค.ร่วงลงสู่ 51.3 ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดในรอบ 49 เดือน อีกทั้ง เม็ดเงินต่างชาติ (Fund Flow) ยังคงไหลออกต่อเนื่อง เนื่องจากการทยอยปิดสถานะก่อนวันหยุดยาวในเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ โดยยอดขายสุทธินักลงทุนต่างชาติ 2.8 แสนล้านบาท

สำหรับปัจจัยที่น่าจับตาในสัปดาห์นี้ มีดังนี้ สหรัฐจะเปิดเผยตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านและการอนุญาตก่อสร้างเดือนพ.ย. เยอรมนีจะเปิดเผย ความเชื่อมั่นภาคธุรกิจเดือนธ.ค.ในวันที่ 18 ธ.ค. และในวันที่ 19 ธ.ค. ประชุมกนง. เกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และส่วนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีนัดรับฟังความเห็นของพรรคการเมือง

ส่วนคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) มีกำหนดแถลงมติอัตราดอกเบี้ย ซึ่งจะทราบผลในช่วงเช้าวันที่ 20 ธ.ค. และธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ประชุมนโยบายการเงินและแถลงมติอัตราดอกเบี้ย เช่นเดียวกับธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ประชุมนโยบายการเงินและแถลงมติอัตราดอกเบี้ย และสหรัฐ เปิดเผยจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ในวันที่ 20 ธ.ค ส่วนวันที่ 21 ธ.ค. สหรัฐ เปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือนพ.ย. ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนพ.ย. GDP ประจำไตรมาส 3 (ประมาณการครั้งสุดท้าย) รายได้และการใช้จ่ายส่วนบุคคลเดือนพ.ย.และความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนธ.ค.