ตลาดคาดเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งที่ 4 ของปีนี้ ส่วนไทยเลี่ยงไม่ได้ต้องขยับ 0.25% เอกชนเตรียมทุนพร้อม ออลล์ อินสไปร์ฯเสนอขายหุ้นกู้ 230 ล้านบาท อายุ 9 เดือน จ่ายดอกเบี้ยถึง 7% ต่อปี ส่วน เจ. เอส. พี. พร็อพเพอร์ตี้ แจก 7.25% ต่อปี เสนอขาย 230 ล้านบาท เงินยังไม่พอ บอร์ด JSP อนุมัติต่ออายุวงเงินกู้จากผู้ถือหุ้นใหญ่ รวม 170 ล้านบาท ดอกเบี้ย 7.5% แถมหลักประกัน บล.เออีซีในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่าย ยันประเมินความเสี่ยงเป็นอย่างดี ส่วนเครือซีพี ทั้ง CPALL และ TRUE ขายหุ้นกู้รายละมากกว่า 1 หมื่นล้านบาท
ตลาดจับตาการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา(เฟด) วันที่ 18-19 ธ.ค.และการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง) ธนาคารแห่งประเทศไทย ในวันที่ 18 ธ.ค. 2561 ซึ่งตลาดคาดการณ์เฟดและกนง.จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ทั้งนี้หากเฟดปรับขึ้นรอบนี้นับเป็นครั้งที่ 4 สำหรับปีนี้ ส่วนกนง.เป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจาก 1.50% เป็น 1.75% หลังจากการประชุมครั้งที่ผ่านมา กรรมการเสียงแตกด้วยคะแนน 4 ต่อ 3
ขณะที่ธุรกิจมีการระดมทุนต้นทุนคงที่ โดยเฉพาะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ มีการเสนอขายหุ้นกู้หลายบริษัท ล่าสุด บริษัท ออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ (ALL)มีแผนที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เสนอขายหุ้นกู้ มูลค่าไม่เกิน 230 ล้านบาท อายุ 9 เดือน อัตราดอกเบี้ยคงที่ 7.00% ต่อปี จ่ายดอกเบี้ยทุก 3 เดือน ในระหว่างวันที่ 12 – 14 ธ.ค. 2561 ให้แก่ผู้ลงทุนสถาบัน และ/หรือ ผู้ลงทุนรายใหญ่ โดยมีบริษัทหลักทรัพย์(บล.) เออีซี เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ ทั้งนี้ไม่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือทั้งตัวองค์กรและหุ้นกู้ เพื่อนำเงินไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน และบริหารสภาพคล่อง
บริษัท เจ. เอส. พี. พร็อพเพอร์ตี้ (JSP)เสนอขายหุ้นกู้ มูลค่าไม่เกิน 300 ล้านบาท อายุ 1 ปี 6 เดือน ครบกำหนดไถ่ถอนปี 2563 อัตราดอกเบี้ยคงที่ 7.25% ต่อปี จ่ายดอกเบี้ยทุก 3 เดือน เสนอขายให้แก่ผู้ลงทุนสถาบัน และ/หรือ ผู้ลงทุนรายใหญ่ วันที่ 6-11 ธ.ค. 2561 โดยมีบล. เออีซี เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นกู้และบล.คันทรี่ กรุ๊ป เป็นผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ โดยไม่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือทั้งตัวองค์กรและหุ้นกู้ เพื่อนำเงินไปชำระหนี้คืนหุ้นกู้ หรือ ตั๋วแลกเงินที่จะครบกำหนดหรือใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน
นอกจากนี้ การประชุมของคณะกรรมการ JSP เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2561 ยังมีการอนุมัติให้บริษัทรับความช่วยเหลือทางการเงินจากนายพงศ์ศักดิ์ สวาทยานนท์ ผู้ถือหุ้นใหญ่รวมผู้เกี่ยวข้อง 26.45% โดยวงเงินกู้มูลค่า 100 ล้านบาทครบกำหนดชำระวันที่ 27 ธ.ค. 2561 ต่ออายุออกไปอีก 1 ปี เป็นวงเงินกู้ใหม่ 60 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 7.5%ต่อปี ใช้ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างโครงการ เจแกรนด์(สาทร-กัลปพฤกษ์)เป็นหลักประกัน เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการพัฒนาโครงการ ส่วนวงเงินกู้ 110 ล้านบาท ครบกำหนดชำระวันที่ 15 ม.ค. 2562 ก็ต่ออายุสัญญาไปอีก 1 ปี อัตราดอกเบี้ย 7.5% ต่อปีเช่นกัน ใช้ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง โครงการ เจ อเวนิว (รัตนาธิเบศร์-บางบัวทอง)เป็นหลักประกัน
คณะกรรมการบริษัทฯเห็นสมควรให้ต่ออายุวงเงินกู้จากนายพงศ์ศักดิ์ เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการพัฒนาโครงการอย่างต่อเนื่อง และมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงจากเดิม 1.5% ทำให้มีอัตราดอกเบี้ยใกล้เคียงกับเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน ประกอบกับเงื่อนไขในการเบิกเงินกู้มีความสะดวก รวดเร็ว
บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น (SC)เสนอขายหุ้นกู้ มูลค่าไม่เกิน 1,000 ล้านบาท อายุ 1 ปี 5 เดือน 19 วัน ครบกำหนดไถ่ถอนปี 2563 อัตราดอกเบี้ยคงที่ 3.14% ต่อปี จ่ายดอกเบี้ยทุก 6 เดือน เสนอขายให้แก่ผู้ลงทุนสถาบัน และ/หรือ ผู้ลงทุนรายใหญ่ ในวันที่ 4 – 6 ธ.ค. 2561 โดยบริษัท ทริสเรทติ้ง จัดอันดับเครดิตองค์กรอยู่ที่ BBB+หุ้นกู้ไม่มีเรทติ้ง
นายชนะชัย จุลจิราภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ เออีซี ในฐานะที่บริษัทเป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ บริษัท ออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ และบริษัท เจ. เอส. พี. พร็อพเพอร์ตี้ กล่าวว่า การกำหนดอัตราดอกเบี้ยจ่ายสูงถึง 7 % และ 7.25% ต่อปี ตามลำดับนั้น กำหนดตามภาวะตลาด พิจารณาตามปัจจัยพื้นฐานของบริษัท โดยทั้งสองบริษัทไม่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือทั้งหุ้นกู้และองค์กร ขณะเดียวกันทางบล.เออีซี มีระบบการประเมินความเสี่ยง มีการวิเคราะห์วิจัย รวมถึงตรวจสอบข้อมูลทาง BOL กว่าจะผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการตราสารหนี้นำออกมาเสนอขายให้กับลูกค้ากลุ่มเวลท์ได้
” เราไม่เอาชื่อเสียงของเรามาเสี่ยงหรอก ในแต่ละปีบริษัทขายหุ้นกู้มูลค่าหลายพันล้านบาท ก่อนจะนำสินค้าออกมาเสนอลูกค้า เราพิจารณาข้อมูลหลายด้านมาก ต้องดูตลาดว่ามีใครออกมาขายบ้าง และเป็นบริษัทในธุรกิจใด ส่วนลูกค้าเราเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์หรือนอกตลาด ถ้าเป็นบริษัทจดทะเบียนก็ได้ดอกเบี้ยดีหน่อย ส่วนลูกค้าที่จะซื้อหุ้นกู้ที่ต้องการผลตอบแทนสูง ก็ไม่ได้พิจารณาเรื่องดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียว มีการคำนึงถึงหลักประกันด้วย ตื่นตัวในการพิจารณาความเสี่ยงหลังจากที่มีหุ้นกู้ผิดนัดชำระเงินต้นและดอกเบี้ยมาก่อนหน้านี้ “นายชนะชัยกล่าว
นอกจากนั้น เมื่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) รวมถึงตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีการออกกฎเกณฑ์ใหม่ๆ มาดูแลเชื่อว่าโอกาสในการผิดนัดชำระหนี้น่าจะลดลง
นายชนะชัย กล่าวว่า แนวโน้มความต้องการซื้อหุ้นกู้ยังมีอยู่มาก ขณะเดียวกันธุรกิจก็ต้องการระดมทุนจำนวนมากเช่นกัน แม้ว่าต้นทุนทางการเงินจะสูงขึ้นก็ตาม แต่มีความจำเป็น เนื่องจากการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ต้องใช้เวลานาน และมีขั้นตอนมาก ทำให้ไม่ทันกับความต้องการใช้เงินลงทุน ขยายธุรกิจ หรือการซื้อวัตถุดิบ ส่งผลให้ตลาดตราสารหนี้ค่อนข้างใหญ่ อย่างไรก็ตาม บล.เออีซี มีทุนจดทะเบียนไม่มากนัก สามารถเป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ให้กับบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก ระดมเงินทุนไม่มาก มองว่าเป็นเรื่องที่ดี ที่บล.เออีซีจะเติบโตไปพร้อมๆลูกค้า และยังสร้างโอกาสทางธุรกิจในระยะยาวด้วย
ขณะเดียวกันบริษัทขนาดใหญ่ในเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) อาทิ บริษัท ซีพี ออลล์ (CPALL)เสนอขายหุ้นกู้ มูลค่า 1 หมื่นล้านบาท หุ้นกู้สำรองเพื่อเสนอขายเพิ่มเติม(Greenshoe) ในวงเงินไม่เกิน 5,000 ล้านบาท และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE)วงเงินไม่เกิน 12,246 ล้านบาท