แนวคิด ESG (Environmental, Social, and Governance) หรือสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) แม้จะดูเหมือนเป็นสองแนวคิดที่แตกต่างกันแต่กลับมีความเชื่อมโยงที่สำคัญในหลายมิติ การลงทุน ESG เป็นกระบวนการที่นักลงทุนประเมินบริษัทโดยคำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ความรับผิดชอบต่อสังคม และแนวทางธรรมาภิบาล ด้วยความมุ่งหมายในการสร้างผลตอบแทนทางการเงินที่สอดคล้องกับคุณค่าทางสังคมและสิ่งแวดล้อม การลงทุนรูปแบบนี้กำลังได้รับความนิยมมากขึ้น ในขณะเดียวกัน การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ คือการเดินทางเพื่อแสวงหาการดูแลสุขภาพ หรือบริการด้านสุขภาวะในต่างประเทศ ซึ่งครอบคลุมทั้งการทำศัลยกรรมเสริมความงาม การรักษาทางทันตกรรม การรัษาภาวะมีบุตรยาก รวมไปถึงการเข้าร่วมกิจกรรมด้านสุขภาพ เช่น โยคะ การทำสมาธิ และการใช้บริการสปา
ความเชื่อมโยงระหว่าง ESG และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
จุดเชื่อมโยงที่สำคัญระหว่าง ESG และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ คือผลกระทบที่อุตสาหกรรมเหล่านี้อาจมีต่อสิ่งแวดล้อม ความเท่าเทียมทางสังคม และธรรมาภิบาล ตัวอย่างเช่น การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพสามารถส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ผ่านการสร้างรายได้ให้กับเศรษฐกิจท้องถิ่นและการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม อย่างไรก็ตาม ยังมีความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น เช่น ปัญหาการท่องเที่ยวเกินขนาด (over-tourism) การแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรในท้องถิ่น และการละเมิดทางวัฒนธรรม
ดังนั้น การนำเกณฑ์ ESG มาใช้ในการประเมินอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจึงมีความสำคัญ เช่น การประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของสถานบริการสุขภาพ การพิจารณาความรับผิดชอบทางสังคมของธุรกิจในพื้นที่ และการประเมินแนวทางธรรมาภิบาลของ ผู้ให้บริการด้านสุขภาพ
การประยุกต์ใช้ ESG ในอุตสาหกรรมสุขภาพและสุขภาวะ
นอกจากนี้ ผู้ให้บริการด้านสุขภาพและศูนย์สุขภาพสามารถนำหลักการ ESG มาปรับใช้เพื่อพัฒนากระบวนการดำเนินงานให้มีความยั่งยืนและรับผิดชอบต่อสังคมมากยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น การลดการปล่อยคาร์บอน การส่งเสริมความหลากหลายและการมีส่วนร่วม และการจัดการ ด้านแรงงานอย่างมีจริยธรรม
การรวมประเด็นด้านสุขภาพและสุขภาวะ เช่น โภชนาการและการดูแลสุขภาพ เข้าไปในกรอบการลงทุน ESG กำลังกลายเป็นแนวโน้มที่สำคัญยิ่งขึ้น เมื่อผู้บริโภคให้ความสำคัญกับสุขภาพและความยั่งยืน ความต้องการผลิตภัณฑ์และบริการที่สนับสนุนสุขภาวะที่ดีจึงเพิ่มขึ้น เช่น อุตสาหกรรมอาหารที่มุ่งเน้นผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกและผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคในด้านอาหารที่เน้นคุณค่าทางโภชนาการและดีต่อสุขภาพอย่างยั่งยืนมากขึ้น สิ่งนี้สร้างโอกาสให้ธุรกิจที่มุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน เช่น การทำเกษตรกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการจัดซื้อจัดจ้าง อย่างมีจริยธรรม
ในอุตสาหกรรมเครื่องแต่งกายสำหรับกีฬา ความต้องการสินค้าที่มีคุณภาพ ยั่งยืน และกระบวนการผลิตที่มีจริยธรรมก็มีแนวโน้มที่จะเติบโตเช่นกัน บริษัทที่ปรับใช้แนวทาง ESG ในการผลิตและห่วงโซ่อุปทานสามารถสร้างความแตกต่างและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในตลาด
โอกาสทางธุรกิจที่ยั่งยืนและการลงทุน ESG
ในภาคอุตสาหกรรมเทคโนโลยีการแพทย์ ความต้องการสำหรับอุปกรณ์และเครื่องมือที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพและผลิตอย่างยั่งยืนกำลังเพิ่มสูงขึ้น นักลงทุนและผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนและความรับผิดชอบต่อสังคมมีแนวโน้มที่จะสนับสนุนบริษัทที่ให้ความสำคัญและนำหลัก ESG มาใช้ เช่น การดำเนินงานที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม และการจัดการแรงงานอย่างเป็นธรรม
ปัจจัย ESG กำลังมีบทบาทสำคัญและกลายเป็นหัวใจสำคัญในอุตสาหกรรมสุขภาพและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืนและมีความรับผิดชอบจะสามารถตอบสนองต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากผู้บริโภคและนักลงทุน การบูรณาการ ESG ในกระบวนการตัดสินใจลงทุนจะช่วยให้นักลงทุนสามารถระบุโอกาสในบริษัทที่มีศักยภาพ และในขณะเดียวกันยังส่งเสริมแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืนและมีความรับผิดชอบในอุตสาหกรรม
บทความโดย
ดร. ณรงค์เดช เถกิงเกียรติ Senior ESG Analyst บลจ. ยูโอบี (ประเทศไทย) จํากัด
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
• Bae, J. H. (2022). Developing ESG evaluation guidelines for the tourism sector: With a focus on the hotel industry. Sustainability, 14(24), 16474.
• Kuzmina, J. and Lindemane, M. (2023). ESG Investing: New Challenges and New Opportunities. Journal of Business Management, 14, 1-14.
• Lin, M. S., Zhang, H., Luo, Y., & Li, Y. (2024). Environmental, social, and governance (ESG) measurement in the tourism and hospitality industry: views from a developing country. Journal of Travel & Tourism Marketing, 41(1), 154-168.
———————————————————————————————————————————————————–