“ROCTEC” เป้าปี’71 รายได้ 6,050 ล้านบาท “บีทีเอส”ใบเบิกทางสู่ตลาดไอซีทีไทย

HoonSmart.com>>ร็อคเทค โกลบอล รับบทหัวหมู่ทะลวงฟัน ความหวัง บีทีเอส ดันเปิดน่านฟ้าธุรกิจบริการไอซีทีครบวงจรเป้าผู้นำวางระบบงานในภาคคมนาคมขนส่ง ครอบคลุมราง-สนามบิน-สมาร์ทซิตี้ ในไทย อาเซียน ตั้งเป้าปี’71 รายได้รวม 6,050 ล้านบาท โต 83% จากปี’67 ไม่รวมตัวแปรงานสนามบินอู่ตะเภา

ปัจจุบัน บริษัทร็อคเทค โกลบอล (ROCTEC) อยู่ในกระบวนการถูกบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง (BTS) และบริษัท อาร์บี เซอร์วิสเซส (RB) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย 100% ของบีทีเอส ร่วมกันทำคำเสนอซื้อหุ้น 1,401.45 ล้านหุ้น คิดเป็น 17.26% ของหุ้นทั้งหมด ในราคาหุ้นละ 1 บาท โดยจะซื้อจากบริษัทวีจีไอ (VGI) บริษัทในเครือ

จะทำให้ BTS และ RB กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่รวมกัน 100% โดยเป็นหนึ่งในแผนการปรับโครงสร้างธุรกิจของ BTS ที่ต้องการเข้าสู่ธุรกิจบริการไอซีที (ICT Solutions) โดยเน้นด้านโซลูชันงานระบบคมนาคมขนส่ง (TransportationSolutions) ครบวงจร ทั้งการเป็นที่ปรึกษาและออกแบบ การพัฒนาและวางระบบ การนำไปใช้และปรับปรุง จนถึงการบำรุงรักษา การเพื่อต่อยอดการที่ตัวเองเป็นผู้บริหารระบบคมนาคมขนส่งอยู่แล้วให้เข้มแข็งขึ้น เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และการให้บริการในระยะยาว (Synergies)

ROCTEC ถูกจัดอยู่ในกลุ่มธุรกิจมิกซ์ของ BTS ที่มีทั้งหมดรวมกัน 10 บริษัท ที่ประกอบด้วยสื่อโฆษณา โซลูชั่น แพลตฟอร์ม ดาต้า ธุรกิจการเงิน ที่เก็บข้อมูลจากธุรกิจ MOVE และ MATCH นำไปวางกลยุทธ์ให้กับทางกลุ่ม

ROCTEC ได้ตั้งเป้ารายได้ปี 2571/72 ไว้ที่ 6,050 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,751 ล้านบาท หรือเติบโตคิดเป็น 83% จากปี 2567/68 ที่ตั้งเป้ารายได้ไว้ที่ 3,299 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23% จากปี 2566/67 โดยไม่รวมตัวแปรสำคัญ คือ งานที่สนามบินอู่ตะเภา ที่จะมีงานต่อเนื่องตามมาอีก เช่น รถไฟเชื่อม 3 สนามบิน

ปี 2567/68 จากเป้าหมายรายได้ 3,299 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากธุรกิจไอซีที 85% อีก 15% มาจากธุรกิจโฆษณา และแหล่งรายได้ 70% มาจากลูกค้าที่ฮ่องกงอันดับหนึ่งรองลงมาคือสิงคโปร์ มาเก๊า และเวียดนาม ส่วนไทยมีสัดส่วนรายได้ 30% โดย 90% ในไทย มาจากงานในกลุ่ม BTS ส่วนงานนอกกลุ่มมี 10%

แบคอัพแกร่ง-ประสบการณ์เก๋า
นายเว่ย แซม แลม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ร็อคเทค โกลบอล (ROCTEC) คาดว่าการเสนอซื้อหุ้นน่าจะแล้วเสร็จในช่วงปลายเดือนตุลาคม ปี 2567 นี้ และการที่บีทีเอสมาถือหุ้น 100% จะทำให้บริษัทฯเป็นที่น่าเชื่อถือเมื่อเข้าไปร่วมประมูลโครงการต่างๆ ของภาครัฐและเอกชน และจะช่วยเพิ่มโอกาสในการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินในอนาคต แม้ปัจจุบันบริษัทฯจะมีเงินสดอยู่ถึง 1,800 ล้านบาท มีสัดส่วนหนี้สินต่อทุนอยู่ที่ 0.05 เท่า ยังไม่มีแผนลงทุนอะไรมากนัก เพราะเป็นธุรกิจวางระบบ ซึ่งลูกค้าจะเป็นผู้ลงทุนซื้ออุปกรณ์เองทั้งหมด

“ในระยะยาวบริษัทฯจะเป็นผู้ให้บริการด้านไอซีทีครบวงจรให้กับกลุ่มบีทีเอส ซึ่งปัจจุบันรถไฟฟ้าของบีทีเอส มีการใช้งานมากว่า 20 ปี ถึงเวลาของการปรับปรุงระบบให้ทันสมัยขึ้น ซึ่งเราคาดว่าน่าจะได้งานส่วนนี้ด้วยในฐานะผู้เชี่ยวชาญ”นายเว่ย กล่าว

สำหรับ ตลาดไทย ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเข้าสู่ธุรกิจไอซีทีครบวงจร เพราะเพิ่งเริ่มเมื่อปี 2566 และกลางปี 2567 ได้ย้ายจากกลุ่มอุตสาหกรรมบริการ (SERVICE) หมวดธุรกิจสื่อและสิ่งพิมพ์ (Media & Publishing : MEDIA) มาอยู่กลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยี (Technology : TECH) หมวดธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Information & Communication Technology : ICT) เพราะ 85% ของรายได้มาจากธุรกิจไอซีที โดยเป็นผู้ให้บริการโซลูชันจอแสดงผลดิจิทัลที่ใหญ่ที่สุด และให้บริการโซลูชันจอแสดงผลด้านในรถไฟฟ้า ทำให้บริษัทกลับมามีกำไรและจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นได้เป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี โดยเดือนก.ค.ปี 2567 มีการอนุมัติจ่ายปันผล 0.013 บาทต่อหุ้น

ด้วยความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ของทีมงาน ทั้งที่ฮ่องกง 120 คน และไทย 120 คน ที่มีการพัฒนาทักษะความรู้อย่างต่อเนื่อง และมีอัตราความคงอยู่สูง เข้ามาแล้วไม่ค่อยออก ที่เคยให้บริการงานระบบครบวงจร ครอบคลุม การบริการด้านเครือข่ายข้อมูลการบริการด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ การบริการด้านเทคโนโลยีนวัตกรรม ธุรกิจงานระบบคมนาคมขนส่ง และธุรกิจงานสื่อประชาสัมพันธ์ดิจิตอล

โดยเฉพาะตลาดที่ฮ่องกงที่มีการพัฒนาด้านไอซีทีสูงและรวดเร็ว ซึ่งบริษัทเป็นผู้ให้บริการระบบสื่อสารด้านในของรถไฟที่ใหญ่ที่สุดในฮ่องกง ที่สิงคโปร์ บริษัทเป็นผู้จัดหาระบบจอแสดงผลสถานีสำหรับ MRT, CCTV และระบบสื่อสารในขบวนรถไฟ ที่เวียดนาม ให้บริการระบบจอแสดงผลดิจิทัล, จัดหา LED Screen ให้กับ media agency รายใหญ่ของเวียดนาม และที่มาเก๊า ให้บริการระบบ CCTV สถานีสำหรับ MLRT, ระบบควบคุมและการตรวจสอบวิดีโอสำหรับ MLRT

“เรามีประสบการณ์กว่า 30 ปี ในธุรกิจบริการไอซีที โดยเฉพาะงานระบบคมนาคมขนส่ง และมีทีมงานวิจัยและพัฒนาภายในบริษัทกว่า 40คน ที่สามารถออกแบบทางเลือก พัฒนาสินค้า บริการเพื่อตอบสนองความต้องการลูกค้าของแต่ละรายที่แตกต่างกัน ได้อย่างรวดเร็วมีประสิทธิภาพ โดยอีก 2-3 ปีข้างหน้าเราตั้งเป้าที่จะเพิ่มรายได้นอกกลุ่มบีทีเอสเพิ่มเป็น 20-30% จากปัจจุบัน 10% “นายเว่ย กล่าว

นายเว่ย กล่าวว่า โอกาสของธุรกิจบริการงานระบบครบวงจรในไทยมีโอกาสเติบโตสูง เพราะในระยะต่อไปธุรกิจต่างๆ ของไทยกำลังเปลี่ยนผ่านเข้าสู่การนำระบบดิจิทัลมาใช้ในกระบวนการทำงานมากขึ้น ไม่เฉพาะบริษัทขนาดใหญ่เท่านั้น แต่ยังรวมถึงบริษัทขนาดกลาง และรวมถึงภาครัฐบาล รัฐวิสาหกิจ เอกชน สถาบันการศึกษา ระบบสาธาณูปโภค ที่สำคัญระบบการคมนาคมขนส่งของไทยกำลังขยายตัว ทั้งรถไฟสายสีต่างๆ และสนามบินใหม่ๆ โดยเป้าหมายการเติบโตของรายได้ใน 5 ปีข้างหน้า ไม่ได้รวมโอกาสที่จะได้งานที่สนามบินอู่ตะเภา สมาร์ทซิตี้ ซึ่งจะเป็นตัวแปรสำคัญในการพลิกรายได้ของบริษัทให้เปลี่ยนไปจากประมาณการณ์ที่ตั้งไว้

ธุรกิจไทย กำลังจะมีการใช้ระบบสมาร์ทโซลูชั่นเพิ่มขึ้น เพื่อบริหารระบบภายใน โดยเฉพาะการควบคุมการเดินรถ สื่อต่างๆ จอดิจิทัล กล้อง ไปจนถึง ห้องน้ำอัจฉริยะ ธุรกิจงานสื่อประชาสัมพันธ์ดิจิทัล รวมถึงแนวคิดของสมาร์ทลิฟวิ่งในทุกภาคอุตสาหกรรม และการที่ระบบดิจิทัลเข้ามาซึ่งมีความซับซ้อนและอ่อนไหว จะทำให้ลูกค้าต้องการความปลอดภัยจากการใช้ระบบเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ซึ่งเป็นแนวโน้มของเศรษฐกิจไทยที่กำลังก้าวสู่แผนการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งเป็นเมกะเทรนด์ที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง

บริษัท ร็อคเทค โกลบอล หรือ ROCTEC เดิม คือ บริษัท มาสเตอร์ (MACO) ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับสื่อ Out-of-Home โดยในเดือนธันวาคม 2566 บริษัทเปลี่ยนชื่อบริษัทฯ และชื่อย่อหลักทรัพย์จาก MACO เป็น ROCTEC