บลจ.ยูโอบี : ถอดโมเดลพลิกโฉมประเทศไทย พัฒนาสู่ความยั่งยืนด้วยแนวคิด ESG

การก้าวเดินบนเส้นทางสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกที่ต้องการจะทำให้สำเร็จในระยะยาว เช่นเดียวกับประเทศไทยที่ได้มีการลงนามตามกรอบความร่วมมือในระดับนานาชาติ ภายใต้เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน UN’s 2015 Sustainable Development Goals: SDGs ของสหประชาชาติ ซึ่งเป็นทิศทางการพัฒนาที่ทั่วโลกดำเนินการร่วมกันมาตั้งแต่ปี 2016 ไปจนถึงปี 2030 ครอบคลุมทั้งหมด 17 เป้าหมายหลัก (Goals) (ที่มา: SDG Move Team as of 2021)

ภาพที่ 1: Sustainable Development Goals ที่มา: SDG Move Team as of 2021

อีกทั้งประเทศไทยได้กำหนดเป้าหมายสู่ Carbon Neutrality ภายในปี 2065 เพื่อลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจก ซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว เนื่องจากประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบจาก Climate Change รุนแรง ผลสำรวจจาก German Watch ระบุว่าประเทศไทยเป็นอันดับ 9 ของโลกที่เศรษฐกิจมีความเสี่ยงในระยะยาว จากการสะสมปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จนเกิดเหตุภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างรุนแรง ซึ่งได้สร้างความเสียหายแก่ภาคธุรกิจ และระบบเศรษฐกิจของประเทศในหลายด้าน เช่น เกษตรกรรม ท่องเที่ยว และการค้า (ที่มา: SET Thailand as of 24/03/2023) เพราะเศรษฐกิจที่พึ่งพาภาคเกษตรค่อนข้างมาก และมีพื้นที่ป่าไม้กว่า 40% (ที่มา: SET Thailand as of 24/04/2023)

เปิดวิสัยทัศน์การพัฒนาประเทศไทยสู่ความยั่งยืน SDGs 2030

ล่าสุดในปี 2023 นายกรัฐมนตรี “เศรษฐา ทวีสิน” ได้ประกาศเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) บนเวทีการประชุมผู้นำโลก UN General Assembly ครั้งที่ 78 (UNGA78) ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา พร้อมย้ำเจตนารมณ์ที่จะขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (Leave no one behind) ซึ่งสหประชาชาติกำหนดให้ทศวรรษนี้เป็นทศวรรษแห่งการลงมือทำ (Decade of Action) (ที่มา: Royal Thai Government as of 20/09/2023, SDG MOVE as of 05/09/2023)

สำหรับนโยบายด้าน ESG ที่นายกรัฐมนตรีมองว่าจะนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านอย่างเป็นรูปธรรม นั้นต้องสร้างความสมดุลระหว่างเป้าหมายเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งได้นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG ที่เป็นการพัฒนาแบบองค์รวม 3 ด้านไปพร้อมกัน ได้แก่

ด้านที่ 1 เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) คือการมุ่งสร้างมูลค่าเพิ่มของทรัพยากรชีวภาพ เช่น พืชพันธุ์ ป่าไม้ และสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัวมนุษย์ โดยเน้นนำไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง
ด้านที่ 2 เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) คือการคำนึงถึงการใช้ทรัพยากรให้เกิดความคุ้มค่า และสามารถหมุนเวียนกลับมาใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด
ด้านที่ 3 เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) คือการพัฒนาเศรษฐกิจที่ควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุลให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนไปพร้อมกัน เพื่อให้เกิดการกระจายรายได้ลงสู่ชุมชน ลดความเหลื่อมล้ำ สามารถแข่งขันในระดับโลกด้วยนวัตกรรม (ที่มา: สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) as of 06/02/2021)

สำหรับแนวทางที่ประเทศไทยจะดำเนินการอย่างชัดเจนในช่วงแรก มีดังนี้

1.มุ่งมั่นในการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (Leave no one behind) ด้วยการช่วยเหลือกลุ่มที่รั้งท้ายก่อน (reaching those furthest behind first) ทั้งนี้ นิยามกลุ่มรั้งท้ายในบริบท SDGs ของประเทศไทย ประกอบไปด้วยกลุ่มผู้มีรายได้น้อย, ไม่มีความมั่นคงทางอาหารและน้ำสะอาด, ขาดหลักประกันการมีสุขภาวะที่ดี, ไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ และไม่สามารถเข้าถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เป็นต้น โดยในช่วงเริ่มต้นประเทศไทยตั้งเป้าหมายจะลดความยากจนในคนทุกช่วงวัยภายในปี 2027 (ที่มา: Royal Thai Government as of 20/09/2023)

2.มุ่งมั่นส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมทางเพศสำหรับประชากรทุกคนในประเทศ รวมถึงให้ความสำคัญกับสิทธิด้านสุขภาพ ซึ่งมีมาตรการที่สำคัญ คือการตั้งเป้าหมายลดความยากจนของครัวเรือนที่เกิดขึ้นจากรายจ่ายค่ารักษาพยาบาล (Health impoverishment) ให้มีจำนวนลดลงไม่เกิน 0.25% ภายในปี 2027 (ที่มา: Royal Thai Government as of 20/09/2023) หรือพูดง่าย ๆ ว่าคนไทยจะต้องไม่เกิดปัญหาทางการเงินจากรายจ่ายด้านสุขภาพ ด้วยการเพิ่มสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น เพราะการเจ็บป่วยแต่ละครั้งนั้นมาพร้อมกับค่าใช้จ่ายมหาศาล ทั้งค่ารักษาพยาบาล ค่ายา ค่าอาหารเสริม ค่าที่พัก ค่าเดินทาง และมีแนวโน้มเพิ่มที่ค่าใช้จ่ายดังกล่าวจะสูงขึ้นทุกปี

3.มุ่งมั่นที่จะผลักดันความร่วมมือในทุกระดับ เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงส่งเสริมการเข้าถึงบริการพลังงานสมัยใหม่ (Modern energy services) ในราคาที่เหมาะสมและมีความน่าเชื่อถือ ภายในปี 2030 โดยคำจำกัดความของ Modern energy services หมายถึงบริการที่ผู้คนสามารถเข้าถึงไฟฟ้าและเชื้อเพลิงหุงต้มที่มีประสิทธิภาพ สะอาด ปลอดภัย และไม่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศภายในครัวเรือน ตัวอย่างเช่น ระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ภายในบ้านพักอาศัย และก๊าซธรรมชาติที่ใช้กับเตาสมัยใหม่สำหรับประกอบอาหาร เป็นต้น ในทางตรงกันกับข้ามแหล่งพลังงานแบบดั้งเดิม เช่น ฟืน, ถ่านไม้, แกลบ และชานอ้อย เป็นต้น (ที่มา: SDG Move Team as of 03/01/2022)

นอกจากนี้ ไทยได้สนับสนุนข้อเรียกร้องของเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ในการปฏิรูปสถาปัตยกรรมทางการเงินระหว่างประเทศ ผ่านมาตรการกระตุ้นการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Stimulus) เป็นจำนวนเงิน 500,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี จนถึงปี 2030 ซึ่งรัฐบาลได้ออกมาตรการทางการเงิน 12,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อลงทุนในเศรษฐกิจสีเขียว ที่เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่ไปกับสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุล พร้อมพัฒนาระบบ Thailand Green Taxonomy ซึ่งเป็นมาตรฐานกลางที่ใช้จัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของไทย เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนเพื่อความยั่งยืน (ที่มา: Royal Thai Government as of 20/09/2023)

พัฒนากรุงเทพฯ สู่เมืองที่เติบโตยั่งยืนด้วยโมเดล ESG

นอกจากวิสัยทัศน์ระดับประเทศแล้ว เมื่อมองลงมาระดับเมืองจะเห็นว่ากรุงเทพฯ ก็มีแนวคิดการนำหลัก ESG เป็นโมเดลในการพัฒนาเมืองเช่นกัน ทั้งนี้ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เผยในงาน Redefining the future ESG in Thailand ถึงแนวคิดการพัฒนากรุงเทพในมิติต่าง ๆ โดยมีแก่นสำคัญคือการเชื่อมโยงผู้คนเข้ากับเมืองในรูปแบบเครือข่ายนวัตกรรม รวมทั้งประยุกต์ให้เข้ากับหลักคิด ESG เพราะเป็นเทรนด์ที่เราไม่สามารถเลี่ยงได้ จึงต้องมีแนวทางรับมือ เพื่อตอบสนองต่อผู้คนที่หลากหลายในเมืองแห่งนี้

กรุงเทพฯ ได้ริเริ่มโครงการในมิติสิ่งแวดล้อม (Environmental) คือ นโยบายสีเขียว ที่มีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมือง เพื่อแก้ปัญหามลภาวะทางอากาศ และฝุ่น PM 2.5 ด้วยการนำร่องปลูกต้นไม้นับล้านต้น โดยอาศัยความร่วมจากบุคคลทั่วไป บริษัทเอกชน องค์กรต่าง ๆ

อีกทั้งยังมีโครงการที่เรียกว่า BMA NET ZERO ซึ่งสนับสนุนการใช้รถพลังงานไฟฟ้าให้มากขึ้น เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

มิติด้านสังคม (Social) เองก็ได้นำร่องโครงการแพลตฟอร์ม Traffy Fondue สำหรับรับแจ้งปัญหาร้องเรียนจากประชาชนผ่านออนไลน์ เพื่อประกอบการตัดสินใจให้เจ้าหน้าที่พร้อมเข้าแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว พร้อมทั้งปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการบริการ และมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น นอกจากนี้ ยังตอบโจทย์ในเรื่องธรรมาภิบาล (Governance) ซึ่งเปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถตรวจสอบการทำงานของกรุงเทพฯ แบบเปิดเผย (ที่มา: The Nation Thailand as of 12/07/2022)

สุดท้ายนี้ จะเห็นว่าการกำหนดนโยบายด้านความยั่งยืน และ ESG เป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาประเทศและเมืองในยุคปัจจุบัน เพื่อให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้โดยไม่สะดุด ซึ่งทั้งหมดนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ซึ่งจะส่งเสริมให้เมืองและผู้คนเติบโตไปพร้อมกันในระยะยาว

 

บทความโดย บลจ. ยูโอบี (ประเทศไทย) จำกัด

ติดตามข้อมูลการลงทุนอย่างยั่งยืนได้ที่ https://www.uobam.co.th/th/Sustainability

สอบถามข้อมูลหรือขอรับหนังสือชี้ชวนได้ที่ บลจ. ยูโอบี (ประเทศไทย) จำกัด โทร. 0-2786-2222

ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/72377

ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับ SDGs



https://www.setinvestnow.com/th/knowledge/article/357-net-zero
https://media.setinvestnow.com/setinvestnow/Documents/2023/Mar/TSI_eBook_InvClassroom_Live_NetZero_24Mar2023.pdf

โมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG

SDG Vocab | 19 – Modern Energy Services – บริการพลังงานสมัยใหม่