HoonSmart.com>> “ทรีนีตี้” เปิดผลงานงวดครึ่งปีแรก 67 พลิกกำไร 16.49 ล้านบาท ทะยาน 106.29% จากงวดปีก่อนขาดทุน 262.37 ล้านบาท หลังโกยรายได้งวดครึ่งปีกว่า 294.89 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 69.07% โดยเฉพาะรายได้จากค่าธรรมเนียม และบริการโตก้าวกระโดด ด้านเงินกองทุนยังแกร่งสูงเกินเกณฑ์ก.ล.ต กำหนด
ดร.วิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทรีนีตี้ วัฒนา (TNITY) เปิดเผยว่าผลดำเนินงานของบริษัทพลิกกลับมาเป็นกำไร โดยงวดครึ่งแรกปี 2567 บริษัทและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิจำนวน 16.49 ล้านบาท เพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 106.29 เมื่อเทียบกับงวดครึ่งแรกปี 2566 ที่ขาดทุนจำนวน 262.37 ล้านบาท เป็นผลจากรายได้รวม และกำไรเงินลงทุนปรับตัวดีขึ้น ขณะที่ผลดำเนินงานงวดไตรมาส 2 มีกำไรสุทธิ 0.63 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นในอัตรา 100.26% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันปีก่อนที่ขาดทุน 239.18 ล้านบาท
ทั้งนี้ ในงวดครึ่งแรกปี 2567 บริษัทและบริษัทย่อยมีรายได้รวม 294.89 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้น 69.07% เทียบกับงวดเดียวกันปี 2566 ที่มีรายได้รวมจำนวน 174.42 ล้านบาท โดยมีปัจจัยหนุนสำคัญ คือ 1.รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการในงวดครึ่งปีแรก 2567 เพิ่มขึ้นเป็น 41.48 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นในอัตรา 37.99% จากงวดครึ่งปีแรก 2566 บริษัทมีรายได้จาก 30.06 ล้านบาท เป็นการเพิ่มขึ้นของค่าธรรมเนียมจัดจำหน่ายหุ้นสามัญที่เสนอขายให้กับประชาชนเป็นครั้งแรก (ไอพีโอ) และดีลที่ปรึกษาในการรับคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ของบริษัทต่างๆ ในตลาดหลักทรัพย์ฯ 2.งวดครึ่งปีแรก 2567 บริษัทมีกำไร และผลตอบแทนจากเงินลงทุนรวม 25.86 ล้านบาท
ขณะที่ในงวดเดียวกันของปี 2566 บริษัทมีผลขาดทุน และผลตอบแทนจากเงินลงทุนรวม 116.65 ล้านบาทเนื่องจากได้รับผลกระทบจากความผันผวนของตลาดที่รุนแรงในงวดหกเดือนปี 2566 โดยดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวลดลงจากสิ้นเดือนธันวาคม 2565 ที่ 1,668.66 จุด เป็น 1,503.10 จุด ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2566
ดร.วิศิษฐ์ กล่าวเสริมว่า ในส่วนของธุรกิจหลักทรัพย์นั้นยังคงได้รับผลกระทบจากสภาพตลาดและปริมาณการซื้อขายที่หดตัวโดยครึ่งแรกปี 2567 รายได้จากธุรกิจหลักทรัพย์จำนวน 175.19 ล้านบาท ลดลงในอัตรา 13.38% จากงวดครึ่งแรกปี 2566 ที่มีรายได้ 202.25 ล้านบาท
“รายได้จากธุรกิจหลักทรัพย์ประกอบด้วยรายได้ค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ ลดลงจาก 70.58 ล้านบาทในงวดครึ่งแรกปี 2566 เป็น 51.06 ล้านบาทในงวดเดียวกันของปี 2567 หรือลดลง 27.66% เป็นผลจากการลดลงของปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์โดยรวมของตลาดหลักทรัพย์ที่ลดลงจาก 58,658 ล้านบาทต่อวันในงวดหกเดือนแรกปี 2566 เป็น 45,201 ล้านบาทต่อวันในงวดเดียวกันปี 2567 หรือลดลงในอัตราร้อยละ 22.94 ส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการเพิ่มขึ้น”
นอกจากนี้ ในส่วนของรายได้ดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์ลดลงจาก 94.62 ล้านบาทในงวดครึ่งแรกปี 2566 เป็น 74.39 ล้านบาทในงวดเดียวกันปี 2567 เป็นผลจากมูลค่าเงินให้กู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์ที่ปรับลดลงระหว่างงวดจากความระมัดระวังในการให้สินเชื่อของบริษัท
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของเงินกองทุน (NCR) นั้นยังคงมีความแข็งแกร่ง โดยซึ่ง ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2567 บริษัทและบริษัทย่อยมีอัตราเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิที่ร้อยละ 77.73 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่สำนักงานก.ล.ต. กำหนด