บลจ.กสิกรไทยจับตา 16 ส.ค.เคาะนายกฯ ใหม่-2 กรณีกดดัชนีต่ำสุด 1,200 จุด หั่นเป้าสิ้นปีเหลือ 1,400

HoonSmart.com>> “บลจ.กสิกรไทย” มอง 2 มุมแนวโน้มตลาดหุ้นไทย หลังนายกฯ เศรษฐา พร้อมครม.หลุดเก้าอี้ จับตา 16 ส.ค.ได้นายกฯใหม่ แกนนำพรรคการเมืองเดิม คาดเศรษฐกิจชะลอลงจากเดิมเล็กน้อย งบเบิกจ่ายรัฐช่วงส.ค.-ก.ย.ลดลง มองตลาดหุ้น downside จำกัดได้แรงหนุนกำไรบจ.-กองทุนวายุภกษ์ หั่นเป้าดัชนีปีนี้เหลือ 1,400 จุด กรณียังไม่ได้นายกฯ กด downside ดัชนีลงแถว 1,200 จุด ระดับเดียวกับช่วงโควิด

บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กสิกรไทย จำกัด เผยมุมมองการลงทุนหลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย นายเศรษฐา ทวีสิน พ้นตำแหน่งนายกฯ ส่งผลให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) หลุดทั้งคณะว่า ประเด็นทางการเมือง และผลต่อการลงทุน แยกเป็น 2 สถานการณ์ (ข้อมูล ณ วันที่ 15 ส.ค.2567)

กรณีที่ 1 : สามารถเลือกนายกฯ ได้วันที่ 16 ส.ค นี้

โดยยังเป็นพรรคการเมืองที่เป็นแกนนำเช่นเดิมนั้น คาดว่าระยะเวลาในการได้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ ประมาณ 1 เดือนหลังจากนี้ ทำให้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจ จะมีการชะลอกว่ากรณีเดิมเล็กน้อย จากการที่งบการเบิกจ่ายภาครัฐฯ ช่วง ส.ค. – ก.ย. ลดลง และความเชื่อมั่นด้านผู้บริโภคในเงิน Digital Wallet ลดลง โดย GDP ปีนี้ คาดจะเติบโตประมาณ 3.0% (ในกรณีรวม Digital Wallet) และการผ่านงบประมาณปี 2568 น่าจะล่าช้าไม่มาก

กรณีนี้ คาดว่าตลาดหุ้นจะพักฐานรอผลการจัดตั้ง ครม. ชุดใหม่ และการแถลงนโยบาย ซึ่งใช้เวลาประมาณ 1 เดือน อย่างไรก็ดี คาดว่าตลาดหุ้นจะมี downside จำกัดได้ จากผลประกอบการบริษัทที่ทยอยออกมาดีกว่าคาด รวมถึง Valuation ที่ปัจจุบันเป็น laggard และมีเม็ดเงินสนับสนุนจากโครงการวายุภักดิ์ช่วงปลายปีนี้ คาดว่าเป้าดัชนี SET ปีนี้ (ในกรณีนี้) ลดลงมาที่ประมาณ 1,400 จุด และยังคงมุมมอง Neutral ต่อตลาดหุ้นไทย

กรณีที่ 2 : ไม่ได้นายกฯในวันที่ 16 ส.ค.นี้

คาดว่าจะใช้เวลานานไปถึงไตรมาส 4 ซึ่งในด้านเศรษฐกิจ ถือว่ากระทบความเชื่อมั่นทั้งภาคเอกชน ผู้บริโภค และการเบิกจ่ายภาครัฐ รวมถึงนโยบาย Digital Wallet ซึ่งจะทำให้ภาพการเร่งตัวขึ้นของ GDP ในครึ่งหลังของปีนี้ ชะลอลงกว่าคาดมาก GDP อาจเติบโตน้อยกว่า 2.5% ได้ และนำไปสู่สุญญากาศเช่นเดียวกับปลายปีที่แล้ว

กรณีนี้ คาดว่าตลาดหุ้นจะเกิดความกังวลอย่างมาก จากการไม่มีความเชื่อมั่นในการใช้จ่ายและลงทุน และ downside ของตลาดจะอยู่ที่ประมาณ 1,200 จุด ซึ่งเป็นระดับ P/E ที่ตลาดปรับลงเช่นเดียวกับช่วงโควิด และมีมุมมอง Negative ในกรณีนี้