HoonSmart.com >> CGSI เผยแพร่รายงานความยั่งยืนฉบับแรกเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจก พร้อมเปิดตัวสถาบัน AICN พัฒนาความรู้ทางการเงินที่ยั่งยืนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
นางแครอล ฟง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) หรือ CGSI เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา CGSI ได้เริ่มเผยแพร่รายงานความยั่งยืนเป็นฉบับแรก ซึ่งรายงานนี้ได้รับการตรวจสอบจากองค์กรอิสระ สอดคล้องกับมาตรฐานขององค์การแห่งความริเริ่มว่าด้วยการรายงานสากล (Global Reporting Initiative: GRI) และคณะกรรมการมาตรฐานการบัญชีเพื่อความยั่งยืน (Sustainability Accounting Standards Board: SASB)
ปี 2566 ที่ผ่านมา CGSI ได้กำหนดเป้าหมายสำหรับประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืน (8SF) 8 เรื่อง ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการลดคาร์บอน, ความหลากหลายทางชีวภาพและการลงทุนตามธรรมชาติ, การวิจัยเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำและการเงินที่ยั่งยืน, การเติบโตที่ครอบคลุม, การเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน, ความปลอดภัยทางไซเบอร์, การเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัล และความรับผิดชอบต่อสังคม
“การยอมรับบทบาทของเรา ในการดำเนินการด้านสภาพอากาศ เราได้ลงมือปฏิบัติอย่างไตร่ตรองในทุกรายละเอียด เพื่อสร้างข้อมูลพื้นฐานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) ในขอบเขตที่ 1 และ 2 และเริ่มกระบวนการเตรียมแผนที่ซับซ้อนขึ้นสำหรับขอบเขตที่ 3” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่ม CGSI กล่าว
นางสาวแครอล ฟง กล่าวด้วย ว่า ปีต่อ ๆ ไป CGSI จะมุ่งเน้นไปที่การกำหนดเป้าหมายสำหรับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การจัดการความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศ การใช้กลไกการกำกับดูแล และการพัฒนากลยุทธ์ด้านสภาพภูมิอากาศ เพื่อจัดการการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของบริษัท
CGSI จะเปิดเผยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของแต่ละประเทศ ครอบคลุมประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ ไทย อินโดนีเซีย และเกาหลีใต้
ทั้งนี้ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกขอบเขตที่ 1 นั้น ทั้งหมดเกิดจากแหล่งกำเนิดที่เป็นการเผาไหม้แบบเคลื่อนที่ จากการใช้ยานพาหนะที่บริษัทเป็นเจ้าของ สำหรับปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขอบเขต 2 ซึ่งเกิดจากพลังงานที่จัดซื้อมานั้นมีอัตราที่สูงกว่าในบางประเทศ
โดยสำนักงานที่อินโดนีเซียและเกาหลีมี Data Server ตั้งอยู่ภายในสำนักงานของตน ซึ่งมีส่วนทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขอบเขตที่ 2 ทั้งหมด เมื่อเปรียบเทียบกับสำนักงานอื่น ๆ ที่ใช้บริการ Data Center จากหน่วยงานภายนอก
นางสาวแครอล ฟง กล่าวว่า สุดท้ายนี้ CGSI มุ่งมั่นที่จะวัดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเด็นอื่น ๆ เพิ่มเติมภายใต้ขอบเขตที่ 3 โดยจะเริ่มด้วยการเปิดเผยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการเดินทางเพื่อธุรกิจในปีนี้
เพื่อตอกย้ำความพยายามด้านความยั่งยืน CGSI ยังได้เปิดตัวสถาบัน Asean Institute of Carbon Neutrality (AICN) ซึ่ง AICN มีเป้าหมายที่จะเอื้อให้เกิดการบรรเทาผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศ และเพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัว ผ่านการพัฒนาความเป็นผู้นำทางความคิดสำหรับตลาดทุน
นายเควิน ลี หัวหน้ากลุ่มความยั่งยืน CGSI กล่าวว่า AICN เป็นการดึงเอาศักยภาพของทีมวิจัยที่ได้รับรางวัลของกลุ่มบริษัท เพื่อพัฒนาความรู้ทางการเงินที่ยั่งยืนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ ด้วยความร่วมมือกับพันธมิตรในมาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และไทย โดยมีแผนที่จะเสริมสร้างองค์ความรู้และเครือข่ายเพื่อระดมเงินทุนไปสู่การดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ
เดือนธันวาคม 2566 CGSI ได้ลงนามบันทึกข้อตกลง MOU กับมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (National University of Singapore: NUS) ทำให้ NUS เป็นพันธมิตรรายแรกของ CGSI ทั้งนี้ AICN และสถาบัน Sustainable and Green Finance Institute ของ NUS ร่วมมือกันในโครงการวิจัย 3 โครงการในหัวข้อต่าง ๆ เช่น พลังงานทดแทนและการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีเป้าหมายจะเผยแพร่ผลการวิจัยเรื่องดังกล่าวในไตรมาส 4 ของปีนี้
อ่านประกอบ
https://www.cgsi.com/cgsiresources/resources/CGS-International-ESG-Report-FY2023.pdf