HoonSmart.com >> ตลาด ฯ หารือ ก.ล.ต. เร่งเปิดข้อมูลหุ้นค้ำประกันมาร์จิ้น-เงินกู้ เร็วขึ้น ขณะที่ Uptick ส่งผลตลาดหุ้นไทยชะลอตัว บล.ภัทร ส่วนแบ่งตลาดตกวูบเหลือ 12.90% ต่างชาติสัดส่วนต่ำกว่า 50% ขายชอร์ตไม่ถึง 4%
นายภากร ปีตะธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์ อยู่ระหว่างหารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาเปิดเผยข้อมูลหุ้นที่นำไปค้ำประกันบัญชีมาร์จิ้น ให้เร็วขึ้น จากปกติรายงานทุก 1 เดือน และโปร่งใส เนื่องจากที่ผ่านมา ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน (บจ.) หลายแห่งถูกบังคับขายหุ้น ที่นำไปค้ำประกันมาร์จิ้น (Force Sell)
นายรองรักษ์ พนาปวุฒิกุล รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานกฎหมาย และหัวหน้ากลุ่มงานเลขานุการองค์กรและกำกับองค์กร ตลาดหลักทรัพย์ กล่าวว่า ปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์ รายงานข้อมูลหลักทรัพย์ที่วางคค้ำประกันมาร์จิ้น ชำระหนี้ในบัญชีมาร์จิ้น ทุก ๆ 1 เดือน ซึ่งจะพิจารณาความถี่ ในเปิดเผยข้อมูลให้เร็วขึ้น
นอกจากนี้ยังพบว่า มีธุรกรรมบางส่วนที่เป็น Share Financing หรือการนำหลักทรัพย์วางเป็นหลักประกันในการกู้ยืมเงินในสถาบันการเงินทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งไม่ได้มีการรายงานต่อก.ล.ต. เนื่องจาก ไม่ได้เป็นการนำหลักทรัพย์ไปวางมาร์จิ้นกับบริษัทหลักทรัพย์
“มันเป็น Money Game อย่างหนึ่ง เราพบว่ามีการทำธุรกรรมดังกล่าวเกิดขึ้น ซึ่งเป็นธุรกรรมที่ไม่ได้รายงานผ่านตลาดหลักทรัพย์ แต่พบจากข้อมูลที่บริษัทจดทะเบียนเริ่มเปิดเผยมาเอง”
ตลาดหลักทรัพย์ อยู่ระหว่างการหารือหาแนวทางเพื่อทำให้การทำธุรกรรมดังกล่าวต้องมีการรายงาน หรือหากทำไม่ได้ ต้องมีการแก้ไขกฎเกณฑ์หรือไม่ เพื่อนำข้อมูลดังกล่าวมาเปิดเผยมากขึ้นทำให้นักลงทุนมีข้อมูลในการพิจารณาการลงทุน
ทั้งนี้ ช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา ผู้บริหาร บจ. หลายราย ถูกฟอร์ซเซลหุ้น อาทิ เน็กซ์พอยท์ (NEX), บมจ.พลังงานบริสุทุธิ์ (EA) และ.อิ๊กคราซิล กรุ๊ป (YGG) ส่งผลให้ราคาหุ้นดิ่งหลายฟลอร์
ขณะที่ การใช้ uptick วันที่ 1 ก.ค.2567 เป็นต้นมา ส่งผลให้ตลาดหุ้นไทยมีมูลค่าการซื้อขายชะลอตัว เฉลี่ยต่อวัน 3.1 หมื่นล้านบาท ลดลงจากครึ่งปีแรกที่เฉลี่ย 43,466 ล้านบาท/วัน ล่าสุด วันที่ 8 ก.ค.2567 มูลค่าอยู่ที่ 31,299.39 ล้านบาท โดยบล.เกียรตินาคินภัทรมีส่วนแบ่งตลาดเพียง 12.90% จากที่ผ่านมาเคยมีสัดส่วนสูงกว่า 20-25%
ส่วนนักลงทุนต่างชาติมีสัดส่วนการซื้อขายลดลงเป็น 42-43% จากที่ผ่านมาเคยเทรดสูงกว่า 50% ทุกวัน ส่วนนักลงทุนไทยกลับมีสัดส่วนสูงขึ้นเป็น 38-40%
ขณะที่มูลค่าขายชอร์ต 1,124.22 ล้านบาท สัดส่วน 3.45%ของมูลค่าการซื้อขายรวม ลดลงอย่างต่อเนื่อง จากเฉลี่ยครึ่งปีแรกที่ 5,300 ล้านบาท/วัน คิดเป็นสัดส่วน 11.4% ของมูลค่าซื้อขายต่อวัน
แหล่งข่าวจากวงการหลักทรัพย์กล่าวว่า มูลค่าซื้อขายที่เบาบางเหลือเพียงประมาณ 31,000 ล้านบาท/ วัน ทำให้โบรกเกอร์ส่วนใหญ่อยู่ไม่ได้ แม้ว่าจะพยายามหารายได้จากธุรกิจอื่นๆ ก็ลำบาก นอกจากพึ่งพารายได้นายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ เพราะธุรกิจวาณิชธนกิจ (IB) การปล่อยสินเชื่อซื้อหลักทรัพย์ (มาร์จิ้น) รวมถึงอนุพันธ์ เช่น DW ,บล็อกเทรด จะได้รับความสนใจในภาวะตลาดคึกคัก
“ตลาดหุ้นไทยตกต่ำและซึมมานาน นักลงทุนขาดทุน ไม่มีเงินซื้อขายหุ้น ทำให้บริษัทหลักทรัพย์ประสบปัญหาขาดทุน ผู้แนะนำการลงทุน (IC) มีวอลุ่มต่ำไม่ถึงเกณฑ์ที่กำหนด ในที่สุดจะต้องเลิกจ้าง “แหล่งข่าวกล่าว