CHASE โกยเงินพอร์ต NPLs 287 ลบ. RS ยันไม่ขายหุ้นหลัง IPO

HoonSmart.com>>บริษัท เชฎฐ์ เอเชีย หรือ CHASE ผู้ให้บริการติดตามทวงถามและบริหารหนี้เสีย (AMC) โชว์กระแสเงินสดจากพอร์ต NPLs 287 ล้านบาท เติบโต 70% ขณะที่ธุรกิจบริการติดตามทวงถาม และเร่งรัดหนี้สิน ได้รับอัตราค่าคอมมิชชั่นในระดับสูงถึง 21.6% พร้อมนำเงินจากการระดมทุนขยายธุรกิจ ตั้งเป้าซื้อ NPLs ปีละ 1,000 ล้านบาท อาร์เอส กรุ๊ป หรือ RS ยืนยันไม่ขายหุ้น CHASE ที่ถืออยู่ 20% หลังเข้าเทรดในตลาด

นายประชา ชัยสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เชฎฐ์ เอเชีย หรือ CHASE เปิดเผยว่า ในธุรกิจ AMC นั้น บริษัท จะต้องนำเงินไปซื้อพอร์ตหนี้เสียจากทางธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินอื่นๆ ยิ่งจัดเก็บหนี้ได้จากพอร์ต NPLs ที่ซื้อมาได้มากก็ยิ่งได้เปรียบในการแข่งขัน ซึ่งเมื่อพิจารณาจากเงินสดที่เก็บได้เทียบกับเงินลงทุน จะพบว่า เชฎฐ์ เอเชีย มีศักยภาพการจัดเก็บหนี้อยู่ในเกณฑ์สูงเมื่อเทียบกับเงินลงทุนสำหรับพอร์ต NPLs ในปีเดียวกัน ซึ่งในอดีตสามารถเก็บเงินสดได้มากถึง 252% เมื่อเทียบกับเงินลงทุนสำหรับพอร์ต NPLs ที่ซื้อมาในปี 56 และในรอบ 9 เดือนปี 65 บริษัทสามารถจัดเก็บกระแสเงินสดจากพอร์ต NPLs ได้กว่า 287 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากรอบ 9 เดือนปี 64 ที่จัดเก็บได้ 167 ล้านบาทถึง 70%

นอกจากนี้ นายประชา กล่าวถึงธุรกิจให้บริการติดตามทวงถามและเร่งรัดหนี้สิน (Collection) ว่า บริษัทที่ให้บริการจะได้รับค่าจ้างเป็นค่าคอมมิชชั่นจากการทวงถามหนี้ เช่น ตามเก็บหนี้ได้ 100 บาท ก็อาจจะได้รับคอมมิชชั่นจากทางธนาคารประมาณ 7 บาท เป็นต้น สำหรับ เชฎฐ์ เอเชีย นั้นมีอัตราค่าคอมมิชชั่นที่อยู่ในระดับสูง โดยได้รับอัตราค่าคอมมิชชั่นสูงถึง 21.6% สำหรับงวด 9 เดือนสิ้นสุด 30 ก.ย.65 ถือว่าเป็นอัตราค่าคอมมิชชั่นที่สูงมากในอุตสาหกรรมนี้

“ผลตอบแทนที่สูงนั้นมาจากความชำนาญของเรา ที่คร่ำหวอดในวงการและแน่นด้วยประสบการณ์ ส่งผลให้สามารถตามเก็บหนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้รับงานทวงถามหนี้ที่มีความท้าทายสูง เช่น เป็นลูกหนี้ที่ไม่ชำระหนี้มานานแล้ว บางครั้งไม่สามารถติดตามตัวลูกหนี้ได้ หรือบางครั้งลูกหนี้มีปัญหาในการชำระหนี้ งานเหล่านี้จำเป็นต้องอาศัยความเชี่ยวชาญในการเจรจาต่อรอง รวมถึงบางครั้งอาจต้องใช้การบังคับใช้ทางกฎหมาย ซึ่งทั้งหมดนี้อยู่ในความเชี่ยวชาญของบริษัท” นายประชากล่าว

ปัจจุบัน เชฎฐ์ เอเชีย มีผู้ถือหุ้นใหญ่ 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มนายประชา ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้ง และ บริษัท อาร์เอส หรือ RS ซึ่งจะถือหุ้นประมาณ 51% และ 20% ตามลำดับ นายสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของ อาร์เอส กรุ๊ป ได้ยืนยันว่าจะไม่ขายหุ้นเพิ่มเติม และคงสัดส่วนการถือหุ้นใน เชฎฐ์ เอเชีย ต่อไป โดยย้ำว่า ตั้งแต่ในปี 64 ที่อาร์เอส กรุ๊ป ได้เข้าการลงทุนในบริษัท เชฎฐ์ เอเชีย หรือ CHASE ได้ทำงานร่วมกันอย่างหนักเพื่อขยายระบบนิเวศทางธุรกิจ (Ecosystem) ร่วมกัน ทั้งการเตรียมความพร้อมของเงินทุน และการยกระดับระบบบริหารงานภายใน โดยเล็งเห็นว่าหลังจากเข้าระดมทุน IPO แล้วยังมีโอกาสทางธุรกิจระหว่าง เชฎฐ์ เอเชีย และ อาร์เอส กรุ๊ป ที่จะร่วมมือกันอีกมาก มั่นใจศักยภาพของ เชฎฐ์ เอเชีย ในฐานะผู้นำการให้บริการบริหารจัดการหนี้สินอย่างครบวงจร ผสานกับโมเดลธุรกิจ Entertainmerce ที่แข็งแกร่งของอาร์เอส กรุ๊ป จะทำให้เกิดการเติบโตร่วมกันในหลายมิติ ทั้งในแง่การใช้สื่อ และการขยายฐานลูกค้า

ทั้งนี้ หลังเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ทางอาร์เอส กรุ๊ป จะยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่กว่า 20.35% ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ อาร์เอส กรุ๊ป ถือภายหลังจากการเสนอขาย IPO ด้วยเล็งเห็นว่าการลงทุนใน เชฎฐ์ เอเชีย เป็นการลงทุนเชิงกลยุทธ์ (Strategic Investment) ในระยะยาว โดยนักลงทุนของ เชฎฐ์ เอเชีย สามารถมั่นใจได้ว่าหุ้นส่วนที่ไม่ติด Silent ทั้งหมดจำนวน 331 ล้านหุ้นเป็นของอาร์เอส กรุ๊ป

ดังนั้น จะไม่มีกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ขายหุ้น เชฎฐ์ เอเชีย ออกมาในตลาดหลัง IPO เนื่องจากตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เชฎฐ์ เอเชีย ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความสำเร็จทั้งในด้านการบริหารติดตามทวงถามหนี้สิน และการบริหารจัดการหนี้เสียหรือ NPLs เชื่อมั่นว่า เชฎฐ์ เอเชีย จะยังคงเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพสูง พร้อมสร้างโอกาสและการเติบโตในทุกสภาวะเศรษฐกิจ ในขณะเดียวกัน อาร์เอส กรุ๊ป ก็พร้อมสนับสนุนความสำเร็จของ เชฎฐ์ เอเชีย ในก้าวต่อไปอย่างต่อเนื่อง

นายประชา ได้กล่าวว่า ที่ผ่านมา เชฎฐ์ เอเชีย มีการปล่อยสินเชื่อเพื่อความหวังหรือ Hope Loan เป็นสินเชื่อที่บริษัทปล่อยให้กับลูกหนี้รายย่อยที่เป็นหนี้เสียแล้วเท่านั้น ซึ่งไม่มีสถาบันการเงินอื่นใดให้โอกาสกับลูกหนี้เช่นเดียวกับที่บริษัทได้ทำ ในอดีตบริษัทจะถึงจุดคุ้มทุน (Break Even) จากการติดตามเงินสด Hope Loan ได้ในปีที่ 5 หรือ 6

ต่อมาในภายหลัง บริษัทได้ปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินธุรกิจ โดยชะลอและหยุดให้บริการปล่อยสินเชื่อ Hope Loan และนำเงินทุนที่มีมาใช้ดำเนินธุรกิจ AMC ด้วยเล็งเห็นถึงศักยภาพการเติบโต ซึ่งจะสร้างผลตอบแทนให้ผู้ถือหุ้นภายหลังการเข้าตลาดฯ ได้เต็มที่มากกว่า ดังนั้น บริษัทจึงวางแผนที่จะขยายทั้งธุรกิจบริหารสินทรัพย์ (AMC) และธุรกิจให้บริการติดตามทวงถามและเร่งรัดหนี้สิน (Collection) โดยตั้งเป้าที่จะซื้อ NPLs ปีละ 1,000 ล้านบาท พร้อมขยายทีมเร่งรัดติดตามหนี้สินเพื่อให้บริการติดตามทวงถามหนี้ เพื่อรองรับการติดตามทวงถามหนี้ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นในอนาคต

 

#CHASE #เชฎฐ์เอเชีย #RS #อาร์เอสกรุ๊ป