KTBST จับมือ Unicapital Group ผู้ให้บริการด้านการลงทุนจากฟิลิปปินส์ ให้บริการด้านวาณิชธนกิจและนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ เพื่อขยายโอกาสลงทุนให้นักลงทุน หนุน บจ.ไทยและฟิลิปปินส์ ทำ Dual-listing พร้อมร่วมมือตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน “ดร.วิน” เผยมีในมือแล้ว 5 ดีล
ดร.วิน อุดมรัชตวนิชย์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เคทีบี (ประเทศไทย) หรือ KTBST เปิดเผยว่า บริษัทได้ลงนามและแสดงเจตจำนงความร่วมมือทางธุรกิจด้านวาณิชธนกิจ และนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์กับ บริษัท Unicaptal, Inc. กลุ่มบริษัทผู้ให้บริการด้านการลงทุนครบวงจรชั้นนำของฟิลิปปินส์
ทั้งนี้ ความร่วมมือทางธุรกิจครั้งนี้ครอบคลุม 3 กิจกรรมธุรกิจ ได้แก่
1. การแนะนำให้ผู้ลงทุนสถาบันของประเทศไทยกับฟิลิปปินส์มาลงทุนในสินทรัพย์ตลาดทุนต่างๆ เช่น หุ้น ตราสารหนี้ และกองทุน
2. ความร่วมมือในการทำ Dual-listing หรือการนำบริษัทจดทะเบียนชั้นนำในฟิลิปปินส์เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และนำบริษัทจดทะเบียนชั้นนำในไทยเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฟิลิปปินส์ และ
3. การร่วมมือจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานที่น่าสนใจจากสินทรัพย์หรือโปรเจคใน 2 ประเทศ เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพ (Geothermal power plant)
“การทำบันทึกข้อตกลงนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการขยายธุรกิจของ KTBST สู่ระดับสากล ตามวิสัยทัศน์ของบริษัท ที่มุ่งจะเป็น สถาบันการเงินของไทยที่โดดเด่น และเพิ่มโอกาสในตลาดหุ้นต่างประเทศ โดยในปัจจุบันมีดีลที่รออยู่ 5 ดีล เช่น การนำนักลงทุนสถาบันของฟิลิปปินส์มาลงทุนในตลาดหุ้นไทย นำบริษัทฟิลิปปินส์มาออกบาทบอนด์ในประเทศไทย และการตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ลงทุนในสินทรัพย์ฟิลิปปินส์ที่จะมาจดทะเบียนในตลาดไทย มูลค่าขั้นต่ำ 5,000 ล้านบาท” ดร.วิน กล่าว
ดร.วิน กล่าวเพิ่มเติมว่า ฟิลิปปินส์เป็นหนึ่งในตลาดที่มีการเติบโตสูงในอาเซียนและมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และมีบริษัทจดทะเบียนที่มูลค่าทางการตลาดที่ใหญ่ โดยตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ มีกลุ่มอุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ กลุ่มอุปโภคบริโภค, กลุ่มธุรกิจบันเทิง, กลุ่มธุรกิจเครื่องดื่ม, กลุ่มธุรกิจสาธารณูปโภค (Utility) รวมถึงกลุ่มธุรกิจพลังงานที่หลากหลาย ซึ่งต้องถือว่าเป็นตลาดที่ค่อนข้างใหม่และน่าสนใจสำหรับนักลงทุนไทย
ขณะที่ตลาดหุ้นไทยนั้นเป็นตลาดที่มีความคึกคักมากที่สุดในอาเซียน มีกลุ่มธุรกิจสถาบันการเงินที่โดดเด่น รวมถึงกลุ่มธุรกิจพลังงานระหว่างประเทศที่แข็งแกร่งอย่างกลุ่ม PTT ที่มีธุรกิจอุตสาหกรรมด้านเคมีภัณฑ์ที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน และมีธุรกิจอุปโภคบริโภคพื้นฐานขนาดใหญ่ เช่น CPN CPALL และ BJC ซึ่งน่าจะดึงดูดนักลงทุนจากฟิลิปปินส์เข้ามาลงทุนได้เช่นเดียวกัน
“ตลาดหุ้นไทยมีความพร้อมและความสมบูรณ์มาก ด้วยการมีบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (IPO) จำนวนมาก รวมทั้งตลาดตราสารหนี้ที่มีผู้ออกตราสารจำนวนมาก แสดงให้เห็นถึงการมีสภาพคล่อง (Market liquidity) ของตลาดที่สูง ซึ่งจะจูงใจให้มีเม็ดเงินลงทุน (Fund Flow) จากนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายใหญ่ (High Net Worth) ของฟิลิปปินส์เข้ามาลงทุนมากขึ้น นอกจากนี้ KTBST ต้องขอขอบคุณทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่เปิดช่องทางในการให้นักลงทุนสามารถขยายการลงทุนไปยังอาเซียนได้” ดร.วิน กล่าว
นายเจม เจ มาร์ติเรซ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Unicapital Group กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจฟิลิปปินส์ในระยะปานกลางยังคงปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง หนุนโดยการเติบโตขึ้นของจำนวนประชากรวัยหนุ่มสาวที่มีรายได้ปานกลาง การบริโภคภายในประเทศที่แข็งแกร่ง การใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของรัฐบาลที่เร่งตัวขึ้น และเม็ดเงินลงทุนตรงจากต่างประเทศที่สม่ำเสมอ ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนจากการเลือกตั้งของฟิลิปปินส์ที่จะเกิดขึ้นในปี 2562 การเติบโตของสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง เงินเปโซที่อ่อนค่า และความตึงเครียดทางการค้าโลก
นายมาร์ติเรซ กล่าวเพิ่มเติมว่า เม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเข้าสู่ฟิลิปปินส์พุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 10,050 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2560 ซึ่ง Unicapital เล็งเห็นการเติบโตและโอกาสการลงทุนในฟิลิปปินส์ โดยเฉพาะในธุรกิจพลังงานทดแทน โครงสร้างพื้นฐาน โรงแรมและการท่องเที่ยว อสังหาริมทรัพย์ การขยายตัวของเมืองต่าง ๆ นอกตัวเมืองมะนิลา ธุรกิจ อี-คอมเมิร์ซ และเทคโนโลยี และเกษตรกรรม
ด้านโอกาสในการลงทุนในกลุ่มธุรกิจบริการทางการเงิน อ้างถึงข้อมูลของธนาคารโลกในปี 2557 ระบุว่า ประชากรฟิลิปปินส์เข้าถึงระบบธนาคารเพียง 31% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งต่ำกว่ามาตรฐานสากล ขณะที่ประชากรฟิลิปปินส์มีบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์เพียง 1% ของจำนวนประชากรทั้งหมดเท่านั้น ดังนั้น ในมุมมองของกลุ่มบริษัท Unicapital จึงเห็นโอกาสการขยายธุรกิจไปสู่ลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย ซึ่งเป็นประชากรชนชั้นกลางของประเทศ ซึ่งจากมุมมองที่เป็นบวกต่อเศรษฐกิจฟิลิปปินส์แล้วจะช่วยผลักดันให้ธุรกิจบริหารสินทรัพย์เติบโตได้ดี
“โดยความร่วมมือของ KTBST และ Unicapital คาดว่าจะสามารถนำบริษัทชั้นนำของทั้ง 2 ประเทศจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฟิลิปปินส์ และไทย หรือ Dual-listing ควบคู่ไปกับการผลักดันของตลาดในอาเซียนซึ่งมีการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศของสมาชิกอาเซียนมากขึ้น การควบรวมกิจการในประเทศไทยเอง หรือในฟิลิปปินส์ และการผสานความร่วมือประเทศในกลุ่มอาเซียน จะเสริมโอกาสให้ความร่วมมือครั้งนี้มีความท้าทายขึ้น ซึ่งผมมีความภาคภูมิใจที่ได้เป็นพันธมิตรกับ KTBST และหวังว่าเป็นอย่างยิ่งว่าจะประสบความสำเร็จในอนาคตอันใกล้นี้” นายมาร์ติเรซ กล่าว
นายอาเวอลิโน เจ ครูซ จูเนียร์ ประธานคณะกรรมการบริษัท Unicapital Securities, Inc. (USI) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยปัจจุบันที่ขยายตัวและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จึงเห็นโอกาสมากมายสำหรับนักลงทุนฟิลิปปินส์ที่จะได้เข้ามาลงทุน ในฐานะที่ฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่เติบโตจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เรารู้สึกตื่นเต้นกับโอกาสที่จะแสดงศักยภาพของฟิลิปปินส์ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย ซึ่งจะเป็นแบบอย่างให้กับประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อื่นๆ ต่อไป
นายครูซ ยังมั่นใจว่า บริษัทไทยและฟิลิปปินส์จำนวนมากจะสามารถสร้างความสัมพันธ์ทางธุรกิจเพื่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกันได้ และในขณะที่ประเทศไทยอยู่ระหว่างการศึกษาธุรกิจใหม่ๆ ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น หุ่นยนต์ ยานอวกาศ และเทคโนโลยีชีวภาพ บริษัทในฟิลิปปินส์เองก็มุ่งที่จะพัฒนาธุรกิจซับซ้อนขึ้นและมองหาโอกาสทางธุรกิจในต่างประเทศเช่นเดียวกัน
“ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่เราสนใจ บริษัทของฟิลิปปินส์ เช่น San Miguel, SM, JG Summit, Ayala, Lopez Group, Alliance Global of Andrew Tan, ICTSI of Enrique Razon และอีกหลายบริษัท กำลังหาโอกาสการลงทุนในประเทศในกลุ่มอาเซียน และเมื่อต้นปีนี้ บริษัทที่ดำเนินธุรกิจน้ำในฟิลิปปินส์ ชื่อ Ayala’s Manila Water Company ได้ซื้อหุ้น 19% ในอีสท์วอเตอร์ของประเทศไทย ซึ่งทำให้นักลงทุนฟิลิปปินส์เริ่มรู้จักบริษัทของไทยมากขึ้น ความร่วมมือทางธุรกิจของทั้ง 2 ประเทศที่กำลังเติบโตขึ้น เมื่อเทียบกับการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียนในปี 2568 และข้อตกลงทางธุรกิจทวิภาคีเหล่านี้จะมีขนาดใหญ่และมีปริมาณมากขึ้น” นายครูซกล่าว
ด้านภาพรวมเศรษฐกิจของไทย นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานคณะกรรมการ KTBST กล่าวเปิดงาน Thailand and Philippines Investment Opportunity and MOU signing ceremony between KTBST and Unicapital Group ว่า ภาพรวมของเศรษฐกิจไทยคาดว่าจะฟื้นตัวขึ้นอย่างชัดเจน จากการบริโภคภาคเอกขนที่ขยายตัว 4.5% ในไตรมาส 2 และการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชนไทยที่ฟื้นตัว
“คาดว่าปีนี้การลงทุนภาคเอกชนจะเติบโต 3% เทียบกับปีก่อน ตาม Roadmap การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น ขณะที่ภาคการท่องเที่ยว และภาคการส่งออก ยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งปีจะเติบโตอย่างน้อย 9-10% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว นำโดยกลุ่มนักท่องเที่ยวจีน อินเดีย ลาว และฮ่องกง ส่วนภาคการส่งออกยังคงขยายตัวสูงต่อเนื่อง นำโดยอุตสาหกรรมยานยนต์ ทั้งตลาดสหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น จีน อาเซียน และออสเตรเลีย สอดคล้องกับการเติบโตของเศรษฐกิจโลกและราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น” นายกิตติรัตน์ กล่าว
แม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะเผชิญกับสงครามการค้า และความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากวิกฤติตุรกีโดยเฉพาะกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ที่มีพื้นฐานเศรษฐกิจเปราะบาง และมีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดต่อ GDP แต่การอ่อนค่าลงของเงินบาท และพื้นฐานเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของไทย จะช่วยลดทอนความรุนแรงของสงครามการค้าลง และจำกัดผลกระทบจากวิกฤติของตุรกี และหนุนให้ตลาดหุ้นไทยเติบโตได้ และเป็นที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนไทยและต่างชาติ