HoonSmart.com>> PwC แนะธนาคารและภาคการเงินของไทย ตื่นตัวบริหารความเสี่ยงจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกิจ หลังมีแนวโน้มนำ Climate Risk Stress Test มาใช้ในอนาคต ชี้หน่วยงานกำกับดูแลในสิงคโปร์-มาเลเซีย ออกข้อแนะนำและแนวปฏิบัติในการบริหารความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อม ขณะที่ผลการทดสอบ CST ของ ECB พบธนาคารในยูโรโซนส่วนใหญ่ ไม่ได้นับรวมความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศไว้ในโมเดลด้านสินเชื่อของตน
นางสาว สุ อารีวงศ์ หุ้นส่วนสายงานที่ปรึกษา บริษัท PwC ประเทศไทย เปิดเผยว่า ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้หน่วยงานกำกับดูแลทั่วโลก รวมทั้งกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตื่นตัวในการประเมินการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นจากปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม หรือ สภาพภูมิอากาศ กับการดำเนินงานของธนาคารมากขึ้น โดยธนาคารกลางของสิงคโปร์ และ มาเลเซีย ได้ออกข้อแนะนำและแนวปฏิบัติในการนำปัจจัยความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม มาเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารความเสี่ยงของธนาคาร ซึ่งในทางทฤษฎี การนำความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม มาเป็นปัจจัยส่วนเพิ่มในการบริหารความเสี่ยงที่ธนาคารมีอยู่เดิม จะทำให้ธนาคารสามารถประเมินผลกระทบของความเสี่ยงได้อย่างมีความแม่นยำมากขึ้น
“กระแสของการดำเนินธุกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล หรือ ESG ถือเป็นหนึ่งในพลวัตสำคัญของโลกที่ทุกภาคส่วนรวมทั้งหน่วยงานกำกับร่วมกันผลักดัน ทำให้เกิดเป็นแนวทางปฏิบัติ requirement และกฎระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ ที่ภาคธุรกิจจะต้องปฏิบัติตามเพื่อหาทางออกให้กับปัญหาโลกร้อน” นางสาว สุ กล่าว
ทั้งนี้ เมื่อปลายปี 2564 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกประกาศปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำกับดูแลงานกองทุนโดยทางการ (Pillar 2) โดยเพิ่มการคำนึงถึงปัจจัยด้าน ESG (Environmental, Social and Governance) ในกระบวนการประเมินความเสี่ยงของเงินกองทุน ซึ่งถึงแม้ว่า ธปท. อาจจะยังไม่ได้ออกแนวทางที่ชัดเจนในปัจจุบัน นางสาว สุ กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงในหลักเกณฑ์ดังกล่าว ถือได้ว่า เป็นสัญญาณการเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงในหลักเกณฑ์การนำปัจจัยด้าน ESG มาใช้ในการบริหารความเสี่ยงในอนาคตของธนาคาร
“สำหรับไทยเวลานี้ regulator ของเราน่าจะอยู่ในช่วงศึกษา และพิจารณาแนวทางที่ทางธปท. จะออกมาเป็นแนวปฏิบัติ แต่ถ้าประเมินจากสิ่งที่ประเทศเพื่อนบ้านได้ทำไปบ้างแล้ว เราน่าจะเห็นการนำ Climate Stress Testing หรือ Environment Stress Testing มาใช้กับภาคธนาคารของไทยในอนาคตอันใกล้ ซึ่งตัวอย่างของปัจจัยและสถานการณ์ต่าง ๆ ที่จะนำมาใช้ในการทำ Stress Testing เช่น ปัญหาภาวะโลกร้อน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยการเปลี่ยนแปลงที่คาดว่าจะเกิดขึ้นนี้ แบงก์จะต้องตื่นตัวในการบริหารความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้” เธอ กล่าว
ล่าสุด เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank: ECB) ได้ประกาศผลการทดสอบภาวะวิกฤตด้านความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศ (Climate Risk Stress Test: CST) พบว่า ธนาคารส่วนใหญ่นับรวมความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศเข้าในกรอบการทดสอบภาวะวิกฤต แต่ยังขาดประสิทธิภาพและข้อมูลที่เพียงพอ
ทั้งนี้ ผลการทดสอบ CST ของ ECB ที่ถูกจัดทำในช่วงไตรมาสที่ 2 แสดงให้เห็นว่า ถึงแม้ว่าธนาคารในยูโรโซนส่วนใหญ่ จะตื่นตัวในการนำ ESG มาใช้เป็นส่วนหนึ่งของการทำธุรกิจ และการบริหารความเสี่ยง แต่ยังพบว่ามีความท้าทายจากการจัดทำแบบทดสอบนี้ เนื่องจากมีข้อมูลที่ไม่เพียงพอ อีกทั้งกระบวนการจัดทำรายงานภายในของธนาคารมีความยุ่งยากและซับซ้อน ระบบการเปิดเผยข้อมูลที่มีโครงสร้างที่แตกต่างกัน และ Climate Risk Framework ที่อาจจะยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการพัฒนา ดังนั้น การจัดทำ CST ของ ECB ครั้งนี้ จึงถือเป็นการเรียนรู้ร่วมกันของทั้งหน่วยงานกำกับและธนาคารในแถบยุโรป นางสาว สุ กล่าว
นางสาว สุ กล่าวต่อว่า ในระยะต่อไปจะเห็นภาคธุรกิจธนาคารยิ่งต้องปรับกลยุทธ์ โดยผนวกการบริหารความเสี่ยงที่พิจารณาถึงความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศ และ ESG Risk อื่น ๆ เข้ากับการดำเนินธุรกิจมากขึ้น เช่น มีการพิจารณาถึงผลกระทบจากระดับ ESG Risk ของลูกค้าแต่ละราย และมีการนำผลกระทบดังกล่าว มาใช้ในการพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยให้แก่ลูกค้าที่มีธุรกิจที่มีความเสี่ยงด้าน ESG ต่ำ รวมไปถึง การออกสินเชื่อสีเขียว (Green loan) ซึ่งปัจจุบัน เริ่มเห็นธนาคารหลายแห่งออกผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ หรือ มีการพูดคุยกับลูกค้าถึงแนวทางบริหารความเสี่ยงด้าน ESG และมีการเก็บข้อมูลที่จำเป็นต่าง ๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งฐานข้อมูล ที่จะนำมาใช้ในการวิเคราะห์ผลกระทบของความเสี่ยงด้าน ESG ให้มีความแม่นยำมากขึ้น
“ธนาคารต้องเชื่อมต่อตัวธุรกิจเข้ากับแผนการบริหารความเสี่ยงด้าน ESG ให้เป็นแบบ End-to-end framework ครอบคลุมไม่ใช่แค่ตัวธุรกิจ แต่รวมถึงสังคม คู่ค้าและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย นอกจากนี้ ควรนำเครื่องมือเข้ามาช่วยบริหารความเสี่ยง และออกผลิตภัณฑ์ หรือ ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ เพื่อช่วยให้องค์กรจัดการกับความเสี่ยงและผลตอบแทนที่คาดหวังได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น” เธอ กล่าว
นอกจากนี้ รายงาน Risk and Regulatory Outlook 2022 ของ PwC ยังได้แนะนำแนวทางในการ เตรียมตัวสำหรับธนาคารในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หากมีการนำแบบทดสอบภาวะวิกฤตด้านความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศมาใช้ ดังต่อไปนี้
1. สร้างความสามารถด้านข้อมูลสำหรับสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม นอกเหนือจากการเก็บข้อมูลตัวชี้วัดความเสี่ยงด้านเครดิต ซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติในปัจจุบัน ธนาคารควรเริ่มเก็บข้อมูลด้านสภาพภูมิอากาศ (เช่น อุณหภูมิ และระดับน้ำในส่วนภูมิภาคต่าง ๆ) และ การปล่อยแก๊สเรือนกระจก ซึ่งสามารถนำมาใช้ในการพยากรณ์ หรือ การวิเคราะห์เชิงสถิติได้ในอนาคต โดยอาจมีการแบ่งประเภทของข้อมูลตามกลุ่มอุตสาหกรรม ทำเลที่ตั้ง หลักที่มีความสำคัญกับลูกค้า (เช่น แหล่งของวัตถุดิบต้นน้ำ หรือ แหล่งรายได้หลักของลูกค้า) และทำเลที่ตั้งของหลักประกันด้านอสังหาริมทรัพย์ เพื่อให้ง่ายต่อการนำข้อมูลมาใช้ และทำให้การประเมินผลกระทบมีความถูกต้องแม่นยำมากยิ่งขึ้น
2. ร่วมมือกับลูกค้าเพื่อการเปิดเผยข้อมูล ESG ที่มีคุณภาพ ด้วยการจัดทำผลสำรวจเพื่อสอบถามและศึกษาข้อมูลของลูกค้า โดยเพิ่มคำถามเกี่ยวกับขอบเขตคาร์บอนฟุตพริ้นท์ว่า อยู่ในระดับใด รวมทั้งแผนการปรับตัว ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ จะสามารถถูกนำไปใช้ประเมินความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศ และช่วยในการตัดสินใจด้านการจัดสรรทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
3. มีจุดยืนเชิงกลยุทธ์สำหรับ Sustainable Financing ธนาคารที่มีเป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนของแผนธุรกิจที่ยั่งยืน จะสามารถตอบสนองกับความต้องการของหน่วยกำกับดูแล และการเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวข้องกับ ESG ได้ดี ซึ่งรวมถึงกรอบการทดสอบ CST ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
4. ผนวกความเสี่ยงด้านสภาพอากาศ เข้ากับกรอบการบริหารความเสี่ยงที่มีอยู่ในปัจจุบัน การบริหารความเสี่ยงในปัจจุบัน หมายรวมถึง ความเสี่ยงด้านตลาด เครดิต การปฏิบัติการ และสภาพคล่อง เป็นต้น ซึ่งในอนาคต กรอบการบริหารความเสี่ยงดังกล่าว จะสามารถระบุ และประเมินผลกระทบความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศ ซึ่งสามารถนำมาสนับสนุนการบริหารงานเชิงธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
5. ยกระดับทักษะและความรู้การบริหารความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศภายในองค์กร เพื่อให้ธนาคารสามารถปรับตัวตามข้อกำหนด และการเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวกับความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศได้ นอกจากนี้ ธนาคารควรสนับสนุนให้ทีมงานบริหารและพิจารณาความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศ ซึ่งถือเป็นอีกปัจจัยความเสี่ยงหนึ่ง เสมือนกับปัจจัยความเสี่ยงที่ธนาคารพิจารณาอยู่แต่เดิม
6. อัปเดตกระบวนการกำกับดูแลที่มีอยู่ให้ครอบคลุมความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศ โดยอาจปรับปรุงแนวทางการบริหารความเสี่ยง การวิเคราะห์ และ Stress Testing ที่มีอยู่เดิมให้รวม หรือ สะท้อนถึงความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศ และมีการนำข้อมูลมาตรวจสอบความถูกต้องของสมมติฐานต่าง ๆ ที่ใช้ในการประเมินผลกระทบ เพื่อให้การคาดการณ์ของธนาคารมีความแม่นยำขึ้น
7. นำผลการประเมิน Climate Risk Stress Testing มาใช้ในการบริหารพอร์ตโฟลิโอของธนาคาร เมื่อธนาคารสามารถประเมินถึงกลุ่มลูกค้าที่มีความอ่อนไหวต่อความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศในสถานการณ์ต่าง ๆ ธนาคารจะสามารถนำข้อมูลนั้นมาปรับใช้ในการบริหารพอร์โฟลิโอของตน เพื่อมีระดับ Risk vs Return ที่เหมาะสม และคุ้มค่ากับระดับเงินกองทุนที่ธนาคารต้องมีรองรับความเสี่ยงนั้น ๆ
นางสาว สุ กล่าวว่า การจัดเก็บข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมในอดีตที่ยังคงมีไม่เพียงพอ ถือเป็นความท้าทายของการบริหารความเสี่ยงของภาคธุรกิจไทย รวมไปถึงกลุ่มประเทศในภูมิภาคนี้ เพราะทำให้การประมาณการความเสียหายจากความเสี่ยงที่เกิดขึ้นไม่ครอบคลุมทุกมิติ และอาจจะไม่มีความแม่นยำเท่าที่ควร ดังนั้น ภาคธุรกิจควรต้องพิจารณาว่า ข้อมูลอะไรบ้างที่สามารถนำมาใช้ต่อยอดการบริหารความเสี่ยงด้าน ESG ในอนาคต และภาครัฐควรให้การสนับสนุนการจัดเก็บข้อมูล เพื่อให้การดำเนินการด้าน ESG ในทุกภาคส่วนมีการพัฒนาขึ้น