HoonSmart.com>>แบงก์เตรียมจุก ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดกนง.ขึ้นดอกเบี้ยสองปีติด ปี 65 เพิ่ม 0.50-0.75% ธนาคารพาณิชย์ปรับเงินฝากประจำตาม แต่ขึ้นเงินกู้ตามไม่ได้ 3-6 เดือน กระทบส่วนต่าง 0.04-0.06% -ปี 66 ประมาณ 0.08-0.18% หากขึ้นออมทรัพย์ด้วย 0.125% ปีนี้กระทบ 0.05-0.07% ปีหน้า 0.15-0.25% แถมเพิ่มเงินส่งเข้ากองทุนฟื้นฟูฯ เหลือส่วนต่างแค่ 2.54% ต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิดที่ 2.78% อย่างมีนัยสำคัญ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์ว่า ประเทศไทยคงเข้าใกล้จังหวะการเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายแล้ว โดยกนง.ยังเหลือการประชุมนโยบายการเงินอีก 3 ครั้ง คือ ในเดือนส.ค. ก.ย.และพ.ย. ซึ่งคาดว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยประมาณ 0.50-0.75% มาที่ 1.00-1.25% ภายในช่วงสิ้นปีนี้ และยังมีโอกาสปรับขึ้นอีกในช่วงต้นปี 2566 ส่วนธนาคารพาณิชย์คาดว่าจะเห็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำก่อน ส่วนการปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้มาตรฐานมีโอกาสเลื่อนจังหวะเวลาออกไป เพื่อช่วยเหลือลูกค้า
ทั้งนี้ คาดว่าธนาคารพาณิชย์เลื่อนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้มาตรฐานออกไป 3-6 เดือน จะส่งผลกระทบต่อส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยในปี 2565 ประมาณ 0.04-0.06% และในปี 2566 ประมาณ 0.08-0.18% เมื่อเทียบกับในภาวะปกติที่จะปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำและเงินกู้ตามอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งจะส่งผลบวกต่อส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากสินเชื่อสัดส่วนประมาณ 55-70% ของสินเชื่อรวมทั้งหมด จะอ้างอิงอัตราดอกเบี้ยลอยตัว (ขึ้นกับแบงก์แต่ละแห่ง) จึงทำให้ได้รับประโยชน์ทันทีในไตรมาสที่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้มาตรฐานอย่างเช่น MOR, MLR และ MRR ขณะที่ อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำในปัจจุบัน มีสัดส่วนประมาณ 25% ของเงินฝากทั้งหมด จะทยอยรับรู้ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นหลังเงินฝากประจำล็อตเดิมครบกำหนด นั่นคือ อีก 3, 6, 12 เดือนข้างหน้า
ขณะที่หากระบบธนาคารพาณิชย์มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยออมทรัพย์ แม้จะไม่มากนัก (สมมติให้ปรับขึ้น 0.125% ในช่วงที่เหลือของปี 2565) แต่ผลกระทบต่อส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้นมาที่ประมาณ 0.05-0.07% ในปี 2565 และ 0.15-0.25% ในปี 2566 สุดท้ายแล้ว แนวโน้มส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยแทบจะไม่แตกต่างไปจากที่เห็นในปี 2564 ที่ 2.54% และต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิดที่ 2.78% อย่างมีนัยสำคัญ
“แบงก์คงยากจะหลีกเลี่ยง ผลกระทบต่อส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย โดยเฉพาะปี 2566 เพราะต้องปรับเพิ่มอัตราเงินนำส่งกองทุนฟื้นฟูฯ อาจทำให้เห็นภาพการปรับขึ้นของต้นทุนดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งทำให้ยังต้องติดตามผลกระทบต่อคุณภาพหนี้อย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันภาครัฐอาจต้องเตรียมมาตรการดูแลลูกหนี้กลุ่มเปราะบางเพิ่มเติมหากพบสัญญาณลบชัดเจนขึ้นด้วย”บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุ