โอกาสการลงทุนใน Go Green Megatrend

ในขณะที่บริษัทต่างๆ ขยายการผลิตสินค้าและการให้บริการที่รักษาสิ่งแวดล้อม ผู้ลงทุนเองก็สามารถมีส่วนร่วมในการลงทุนใน Trend การรักษาสิ่งแวดล้อมได้เช่นเดียวกัน โดยเราได้คัดเลือกโอกาสการลงทุนทางด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม หรือ Go Green Megatrend ในภูมิภาคเอเชียที่น่าสนใจ 3 อันดับแรกมาเสนอ ดังนี้

1. พลังงานหมุนเวียน

การออกนโยบายต่างๆ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาได้สร้างโอกาสการลงทุนในบริษัทที่อยู่ 2 กลุ่มบริษัทคือ

กลุ่มแรก บริษัทที่ประสบความสำเร็จในการลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ จะสามารถเพิ่มศักยภาพในการสร้างกระแสเงินสดให้เป็นบวก ซึ่งเป็นผลมาจากการซื้อขายสิทธิการปล่อยก๊าซคาร์บอนในภูมิภาคเอเชีย รวมถึงอาเซียนด้วย บริษัทที่สามารถจำกัดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ จะสามารถลดการผลกระทบต่อการดำเนินงานได้อย่างมีนัยยะ จากประสบการณ์ด้าน ETU ของ EU นั้นพบว่า ในระยะสั้นนั้น บริษัทอาจมีค่าใช้จ่ายประมาณ 50 – 100 เหรียญสหรัฐฯ ต่อการปล่อยคาร์บอนหนึ่งตัน ซึ่งเป็นภาระของบริษัทที่มีการปล่อยก๊าซจำนวนมาก

กลุ่มที่ 2 บริษัทที่มีส่วนร่วมในการเพิ่มศักยภาพด้านพลังงาน รวมถึงการผลิตและใช้พลังงานหมุนเวียน จะได้รับการสนับสนุนด้านการลงทุน โดยข้อมูลจาก IEA World Energy Investment 2021 แสดงให้เห็นว่าร้อยละ 70 ของบริษัทที่เข้าลงทุนในพลังงานใหม่ๆ นั้นจะเน้นลงทุนในพลังงานหมุนเวียน โดยทดแทนการลงทุนในพลังงานที่มาจากถ่านหินและเชื้อเพลิงฟอสซิล โดยเฉพาะเมื่อพลังงานลมและแสงอาทิตย์ (PV) ได้ถูกพัฒนาทางเทคโนโลยีจนสามารถให้ผลผลิตได้มากกว่าเมื่อ 10 ปีก่อนถึง 4 เท่า ในทางตรงกันข้าม ธนาคาร Asian Development Bank ได้ประกาศเมื่อปีที่แล้วว่า ธนาคารจะไม่สนับสนุนทางการเงินแก่โรงงานที่ใช้พลังงานถ่านหิน เหมืองถ่านหิน และการสำรวจและผลิตก๊าซ

นอกจากนี้ จะเห็นว่าความสนใจนี้ขยายไปยังห่วงโซ่เทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียน รวมถึงพลังงานแสงอาทิตย์ ผู้ผลิตอุปกรณ์ PV ผู้ผลิตวัตถุดิบ การแปลงพลังงาน การเก็บรักษา และแจกจ่ายพลังงานหมุนเวียนด้วย สำหรับเทคโนโลยีใหม่ๆ นั้นมีความต้องการสูงจากอุตสาหกรรมที่อยากจะลดการปล่อยคาร์บอนลง เช่น การใช้พลังงานจากไฮโดรเจนและเครื่องบินไฟฟ้าในธุรกิจการบินและการเดินเรือ หรือการนำเทคนิคการผลิตเช่น การกรองด้วยเยื่อสำหรับธุรกิจอาหารและเครื่อง ทำให้ลดการใช้พลังงานได้ถึงร้อยละ 90

2. อสังหาริมทรัพย์ที่รักษ์สิ่งแวดล้อม

กราฟที่ 4: นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เลือกที่จะพัฒนาโครงการที่เน้นเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

เชื่อว่าอาคารที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกมากมีจำนวนสูงถึงร้อยละ 39 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด หากแยกประเภทออกมา การบริหารจัดการอาคารก่อให้เกิดก๊าซถึงร้อยละ 28 ต่อปี ขณะที่ตัววัสดุและการก่อสร้างทำให้เกิดก๊าซร้อยละ 11 ต่อปี โดยคอนกรีต เหล็กและอะลูมิเนียมเป็นตัวที่ปล่อยก๊าซมากที่สุด

ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน กำลังผลักดันให้มีอาคารที่รักษ์สิ่งแวดล้อมใหม่ๆ และลดการปล่อยคาร์บอนของอาคารที่มีอยู่ ซึ่งไม่เพียงแต่จะเป็นผลดีอย่างมากต่อสิ่งแวดล้อม แต่ยังสามารถสร้างโอกาสในการลงทุนขึ้นด้วย เพราะการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของการก่อสร้างอาคาร และ ความต้องการลดการปล่อยก๊าซนี้จะมีมูลค่าสูงถึงประมาณ 17.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ในเมืองหลวงของกลุ่มประเทศเกิดใหม่ ภายในปี 2573

นโยบายของทางการมีความชัดเจนมากขึ้น ในการสร้างอาคารที่รักษ์สิ่งแวดล้อมทั่วเอเชีย โดยมีประเทศที่มีนโยบายที่โดดเด่น ดังนี้

• สิงคโปร์ – อาคารใหม่ๆ มีศักยภาพในการลดการใช้พลังงานลงถึงร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับเมื่อปี 2548 และจะสามารถลดลงถึงร้อยละ 80 ภายในปี 2573

• เกาหลีใต้ – มีการตั้งงบการลงทุนไว้ถึง 61 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับการก่อสร้างตึก Zero-Energy หรือตึกไร้การใช้พลังงาน และการจัดหาแหล่งพลังงานยั่งยืน
• ไทย – ความต้องการการใช้พลังงานของอาคารจะต้องลดลงร้อยละ 30 ภายในปี 2579
• เวียดนาม – มีแผนที่จะปรับปรุงการผลิตและใช้วัตถุดิบที่ยั่งยืนสำหรับการผลิตซีเมนต์ และวัสดุก่อสร้าง

มีความต้องการอาคารที่รักษ์สิ่งแวดล้อมขยายตัวเพิ่มสูงขึ้น จากการสำรวจของ Jones Lang LaSalle (JLL) พบว่าร้อยละ 70 ของบริษัทผู้ใช้พื้นที่อาคารกล่าวว่ายินดีที่จะลงทุนเพิ่มขึ้นในอาคารที่ได้รับการรับรองว่าเป็นอาคารที่รักษ์สิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์การดำเนินงานอย่างยั่งยืนของบริษัทเหล่านี้เอง เพราะ ESG ได้กลายมาเป็นตัวชี้วัดตัวหนึ่งของบริษัท แต่เนื่องจากอาคารที่รักษ์สิ่งแวดล้อมยังมีจำนวนจำกัดและยังต้องใช้เวลาในการพัฒนา อาคารเหล่านี้จึงมีค่าเช่าและราคาที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ในทางตรงกันข้าม อาคารที่ยังไม่สามารถปรับตัวให้เป็นไปตามมาตรฐานทางสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ จะเริ่มเสื่อมความนิยมไป นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งของการรักษาสิ่งแวดล้อมที่จะทำให้มีโอกาสได้ค่าเช่าในราคาที่ดีกว่า

ดังนั้น ความต้องการอาคารเพื่อสิ่งแวดล้อมในเอเชียจึงสูงขึ้นมาก ส่วนในอาเซียนเอง โดยเฉพาะที่สิงคโปร์กำลังมีการก่อสร้างอาคารเพื่อสิ่งแวดล้อมเป็นจำนวนมาก จากการสำรวจของ World Buildings Trends Study เกือบครึ่งหนึ่งของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ในสิงคโปร์บอกว่า ภายในปี 2564 กว่าร้อยละ 60 ของพอร์ตการก่อสร้างของบริษัทเหล่านี้จะเป็นอาคารเพื่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกที่ร้อยละ 57 ของโครงการอาคารเพื่อสิ่งแวดล้อมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงเป็นอาคารเพื่อการพาณิชย์ อันเนื่องมาจากนโยบายความยั่งยืนของบริษัทเหล่านี้ นอกจากนี้ ผู้ถูกสำรวจในสิงคโปร์กว่าครึ่งหนึ่งยังบอกว่ามีโครงการจะปรับปรุงอาคารเดิมให้เป็นอาคารเพื่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์เรื่องสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ ที่ออกมา แม้จะต้องลงทุนสูง แต่ก็คาดว่าจะสามารถคืนทุนได้ภายในเวลาไม่เกิน 5 ปี

3. การเงินเพื่อสิ่งแวดล้อม

กราฟที่ 5: เอเชียเป็นภูมิภาคหลักในการออก Green Bonds หรือตราสารหนี้เพื่อสิ่งแวดล้อม


ตราสารหนี้เพื่อสิ่งแวดล้อมเป็นตราสารหนี้ที่ออกมาเพื่อระดมทุนและลงทุนในโครงการใหม่ๆ หรือโครงการที่มีอยู่ที่ได้รับประโยชน์จากโครงการที่เกี่ยวกับภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ตลาดนี้ได้ขยายตัวอย่างมากและนับเป็นอีกโอกาสในการลงทุน ตราสารหนี้เพื่อสิ่งแวดล้อมออกมาครั้งแรกเมื่อปี 2550 จนถึงปัจจุบันตลาดนี้มีมูลค่าตลาดสูงถึง 1.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ คาดว่าตลาดตราสารหนี้เหล่านี้จะปรับสูงขึ้นเป็นเท่าตัวภายในปี 2566 จากอัตราการเติบโตในอัตราร้อยละ 49 ต่อปีในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

จากมูลค่าตลาดทั่วโลกนี้ มากกว่าหนึ่งในห้า หรือ 219.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ นั้นออกโดยประเทศในแถบเอเชีย จีนและญี่ปุ่นจะเป็นผู้ออกตราสารหนี้เพื่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุดเป็นอันดับที่สองและเก้าตามลำดับ โดยที่จีนมีมูลค่าเกินครึ่งหนึ่งของทั้งหมด และออกเสนอขายมากที่สุดเมื่อปี 2564 ซึ่งมีบริษัทพลังงานเพื่อผู้บริโภคและหน่วยงานที่รัฐสนับสนุนเป็นผู้ออกตราสารหนี้มากที่สุด มากกว่าตราสารหนี้ที่ออกโดยธุรกิจการเงิน แม้ตราสารหนี้เหล่านี้จะยังไม่ได้ตามมาตรฐานสากลของการเป็นตราสารหนี้เพื่อสิ่งแวดล้อม และคาดว่าในอนาคตจะสามารถขยายออกขายในตลาดต่างประเทศได้

ความน่าสนใจของตราสารหนี้เพื่อสิ่งแวดล้อม และการลงทุนแบบยั่งยืน (ESG) เติบโต และเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง และยังหมายถึงการได้รับรายได้และมูลค่าเพิ่มจากการลงทุนในระยะยาวด้วย จากการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การลงทุนในลักษณะนี้จะมีความผันผวนน้อย เนื่องจากบริษัทที่ให้ความสนใจกับ ESG จะมีความยืดหยุ่นในการปรับตัวสูงและสามารถรับมือกับความเสี่ยงได้ดี อีกทั้ง ไม่ค่อยถือครองทรัพย์สินที่ล้าสมัย สุดท้าย การลงทุนลักษณะนี้จะเป็นการป้องกันความเสี่ยงไปในตัว แตกต่างจากการลงทุนในสินทรัพย์ทั่วไป เช่น ตราสารหนี้เพื่อสิ่งแวดล้อมจะเพิ่มบทบาทในป็นการลงทุน และเป็นอีกประเภทสินทรัพย์ที่จะไม่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนนโยบายเร่งด่วนของทางการที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม

แปลจาก บทความ From Powerhouse to PowerCentre: The Megatrends Shaping Asia’s Economic Leadership in a Post-Covid World Part 2 : Go Green

ที่มา : www.uobam.com.sg

โดย..บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ยูโอบี (ประเทศไทย) จำกัด (www.uobam.co.th)

อ่านบทความอื่นๆ

Go Green