โดย…ณัฏฐะ มหัทธนา ผู้อำนวยการอาวุโส
ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนและลูกค้าสัมพันธ์
บลจ.กรุงไทย (KTAM)
เข้าโค้งส่งท้าย 2021 เราวาง 5 สมมุติฐานสำหรับปรับพอร์ตเพื่อเตรียมพร้อมขึ้นปีใหม่ 2022
สมมุติฐาน 1) Omicron ไม่ค่อยรุนแรง แม้ยังไม่ชัด 100% แต่ความเห็นเบื้องต้นจากหลายผู้เชี่ยวชาญระบุอาการป่วย “ไม่ค่อยรุนแรง” วัคซีนที่มีอยู่ปัจจุบันน่าจะช่วยลดความเสี่ยงได้ ประเทศส่วนใหญ่ไม่ล็อกดาวน์
สมมุติฐาน 2) เศรษฐกิจสหรัฐยังเติบโตได้ดี เครื่องยนต์หลัก “การบริโภค” มีแนวโน้มสดใสตามความเชื่อมั่นต้นเดือน ธ.ค. U. Michigan consumer sentiment 70.4 (คาด 68.0, พ.ย. 67.4) ปัจจัยหนุนสำคัญ “ตลาดแรงงานแกร่ง” ยอดผู้ขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกรายสัปดาห์ 184,000 ต่ำสุดใน 52 ปี ตลาดพันธบัตรตอกย้ำมุมมองดังกล่าวโดย US treasury yield curve “ชันขึ้น” ส่วนต่างระหว่างยีลด์ช่วงอายุ 10 ปี กับ 2 ปี (10Y-2Y spread) เริ่มฟื้นจากจุดต่ำสุดในรอบปี
สมมุติฐาน 3) ภาวะเงินเฟ้อสูงในสหรัฐคงลากยาว US CPI พ.ย. +6.8%YoY แรงสุดตั้งแต่ปี 1982 แถมรายการที่ไม่โดนผลกระทบชั่วคราวจากโควิดก็ราคาพุ่ง สะท้อนความหนึบ (stickiness) ของเงินเฟ้อ ผลสำรวจต้น ธ.ค. ผู้บริโภคอเมริกันคาดเงินเฟ้อเฉลี่ย 1 ปีข้างหน้า 4.9% เท่ากับเดือนก่อนและสูงสุดตั้งแต่ปี 2008 ความคาดหวังระยะยาว 5-10 ปี ทรงตัวที่ 3% “เงินเฟ้อสูง” ซึมเข้าไปถึง “ทัศนคติ” ส่งผลต่อการตัดสินใจเกี่ยวกับราคาในระยะยาวของครัวเรือนและธุรกิจแล้ว
เราจึงไม่เห็นด้วย กับมุมมองแบบผิวเผินที่ว่า “ฐานราคาสูงปีนี้จะทำให้เงินเฟ้อ (YoY) ลดลงเองในปีหน้า”
สมมุติฐาน 4) เฟด “เข้มงวด” คุมเงินเฟ้อจริงจัง Jerome Powell ตื่นขึ้นมาปรับท่าทีตั้งแต่แถลงวุฒิสภาปลาย พ.ย. เตรียมหารือเรื่องเร่งลด QE ให้จบเร็วกว่าเดิมในการประชุม FOMC 14-15 ธ.ค. เพื่อกรุยทางขึ้นดอกเบี้ยปีหน้า
สมมุติฐาน 5) จีนลดหนี้เสร็จแล้ว PBOC ลดอัตรากันสำรอง (RRR) 0.5% มีผล 15 ธ.ค. ปล่อยสภาพคล่องระยะยาว 1.2 ล้านล้านหยวน เพื่อประคองเศรษฐกิจพร้อมเลี่ยงความเสี่ยงเชิงระบบจากการผิดนัดชำระหนี้ภาคอสังหาฯ ณ เวลาที่ credit impulse ต่ำใกล้ “จุดกลับตัว” หลายครั้งในอดีต ดังนั้น “วัฏจักรการลดหนี้” (deleveraging cycle) ของจีนคงสิ้นสุดลงแล้วเริ่มเข้าสู่โหมด re-leveraging สินเชื่อใหม่น่าจะเร่งขึ้นในระยะถัดไปเพื่อขับเคลื่อนการเติบโตตามทิศทางของรัฐบาล
“น้ำมัน” ดูโดดเด่นบนสมมุติฐานเหล่านี้ ข้อ 1, 2 และ 5 หนุนความต้องการใช้พลังงานของเศรษฐกิจจริง (real demand) ข้อ 3 น่าจะกระตุ้นแรงซื้อสินค้าโภคภัณฑ์เพื่อป้องกันความเสี่ยงเงินเฟ้อ (inflation hedge) ส่วนปัจจัยฝั่งซัพพลาย OPEC+ คุมโควตารักษาสมดุลตลาดมุ่งดันราคาสูงเพิ่มรายได้ให้ตัวเองอยู่แล้ว ขณะการลงทุนผลิต “พลังงานเก่า” ทั่วโลกเผชิญแรงกดดันให้ชะลอลงในระยะยาว สืบเนื่องจากนโยบายลดโลกร้อนตามข้อตกลงที่ประชุม COP26 หากพิจารณาให้ดีจะพบว่า “น้ำมันจำเป็นต้องแพง” เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่าน เพิ่มแรงบีบเร่งให้ผู้บริโภคหันไปใช้พลังงานสะอาด (clean energy)
ข้อ 4 “เฟดเตรียมขึ้นดอกเบี้ย” ดูเผินๆคล้ายปัจจัยถ่วง แต่ตลาดสะท้อนความน่าจะเป็นเกือบ 60% ว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยอย่างน้อย 3 ครั้งในปี 2022 ขณะราคาน้ำมันดิบได้ปรับตัวลงรับรู้ความคาดหวังดังกล่าว (ผสมโรงกับข่าว omicron) ในเดือน พ.ย. ไปเรียบร้อยแล้ว ดังนั้น ความเสี่ยงจากนโยบายเฟดจึงเหลือน้อย นอกจากนี้ การปรับฐานครั้งล่าสุดยังเปิดทางลงทุนน้ำมันรอบใหม่ ณ ระดับราคาที่น่าสนใจยิ่งขึ้นอีกด้วย
กองทุนเปิดเคแทม ออยล์ ฟันด์ (KT-OIL) (ระดับความเสี่ยงกองทุน = 8
) ลงทุนในหน่วยของ Invesco DB Oil Fund (กองทุนหลัก) ซึ่งลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าน้ำมันดิบ WTI ปัจจุบันถือสัญญารุ่น JAN 2023 (CLF3 หมดอายุ 20 ธ.ค. 2022) ดังนั้น nav อาจเคลื่อนไหวแตกต่างจากที่เห็นในข่าวทั่วไปซึ่งมักรายงานราคาของสัญญารุ่นใกล้สุด
กองทุนเปิดเคแทม เวิลด์ เอ็นเนอร์จี ฟันด์ (KT-ENERGY) (ระดับความเสี่ยงกองทุน = 7)
กองทุนหลัก BGF World Energy Fund ลงทุนหุ้นพลังงานทั่วโลก ผลดำเนินงานในอดีตมีความสัมพันธ์ค่อนข้างมากกับราคาน้ำมัน
KT-OIL และ KT-ENERGY อิงราคาน้ำมันเป็นหลักจึง “เสี่ยงสูงมาก” เหมาะสำหรับนักลงทุนที่ชำนาญ ประสบการณ์สูง สภาพจิตใจแกร่งพร้อมเผชิญความผันผวนรุนแรง ผู้ที่รับความเสี่ยงได้ไม่สูงขนาดนั้น หากเห็นด้วยกับสมมุติฐานทั้ง 5 ข้อก็อาจเลือกกองทุนอื่นซึ่งน่าจะเข้าทางเช่นกัน อาทิ “หุ้นกลุ่มการเงิน” KT-FINANCE “หุ้นเล็กญี่ปุ่น” KT-JAPAN
ไอเดียจัดพอร์ตยังพลิกแพลงได้อีกมาก ผู้สนใจเชิญรับชมรายการ Fund Today by KTAM ทุกเช้า จันทร์-ศุกร์ เริ่มเวลา 8:45 น. โดยสามารถพิมพ์คำถามให้ตอบทางไลฟ์ KTAM Smart Trade หรือรับฟัง/ร่วมพูดคุยใน Clubhouse: KTAM Smart Trade สดพร้อมกันสองช่องทาง และดูคลิปย้อนหลังที่ Youtube: KTAM TV ONLINE
#คุยทุกวันฟันทุกเช้า #ฟันทูเดย์845
คำเตือน: ความเห็นส่วนบุคคล ไม่ใช่คำแนะนำการลงทุน ผลการดำเนินงานในอดีต มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน คู่มือการลงทุน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน