IRPC มั่นใจปีนี้กำไรพุ่งจากปีที่แล้ว รับกำลังการกลั่นเพิ่มเป็น 2.1 แสนบาร์เรลต่อวัน จ่อบันทึกกำไรพิเศษขายที่ดินให้บริษัทร่วมทุน 160 ล้านบาท เตรียมเงิน 2.5 หมื่นล้านเข้าซื้อกิจการ ดัน EBITDA แตะ 2.9 หมื่นล้านในปี 2563
นางรัชดาภรณ์ ราชเทวินทร์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายบัญชีและการเงิน บริษัท ไออาร์พีซี (IRPC) เปิดเผยว่า ในช่วงครึ่งปีหลังคาดว่าค่าการกลั่นรวม (GIM) จะอยู่ที่ 14-15 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ใกล้เคียงกับครึ่งปีแรกที่ GIM อยู่ที่ 14 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ขณะที่รายได้และกำไรของปีนี้จะดีกว่าปีที่แล้ว เนื่องจากไม่มีการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่น รวมทั้งจะมีการบันทึกกำไรพิเศษจากการขายที่ดิน 2,000 ไร่ให้บริษัทร่วมทุนระหว่าง IRPC กับบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น (WHA) ซึ่งคาดว่าจะมีกำไรก่อนหักภาษี 160 ล้านบาท
นอกจากนี้ ในช่วงครึ่งปีหลังคาดว่าราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยจะอยู่ที่ 70 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งจะทำให้บริษัทมีกำไรจากสต็อกน้ำมันอีก ส่วนแนวโน้มความต้องการผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีในช่วงไตรมาส 3 คาดว่าจะอ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับครึ่งปีแรก เนื่องจากเป็นช่วงฝนตก ทำให้กำลังการผลิตลดลง ซึ่งบริษัทจะเน้นลดค่าใช้จ่ายต่างๆเพื่อรักษา GIM ไม่ให้ต่ำกว่า 14 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และเมื่อถึงไตรมาส 4 กำลังการผลิตจะเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับความต้องการใช้ในช่วงต้นปีหน้า
“ปีนี้กำไรสุทธิจะเติบโตขึ้นจากปีที่แล้ว เพราะปีที่แล้วเราปิดซ่อมโรงกลั่น 30 วัน อีกทั้งปีนี้กำลังการกลั่นของ IRPC เพิ่มเป็น 2.1 แสนบาร์เรลต่อวัน จากปีที่แล้วที่อยู่ที่ 1.5 แสนบาร์เรลต่อวัน รวมทั้งจะมีการบันทึกกำไรพิเศษจากการขายที่ดิน 2,000 ไร่ให้บริษัทร่วมทุน ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะมีกำไรก่อนหักภาษี 160 ล้านบาท”นางรัชดาภรณ์กล่าว
นางรัชดาภรณ์ กล่าวว่า บริษัทยังคงเป้าหมายว่าภายใน 2563 กำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) จะอยู่ที่ 29,000 ล้านบาท เพิ่มจากปี 2560 ที่ EBITDA อยู่ที่ 20,420 ล้านบาท แบ่งเป็น EBITDA จากการลงทุนตามแผนการเติบโตตามปกติของบริษัท 100-200 ล้านเหรียญสหรัฐ , EBITDA จากโครงการ E4E (Everest forever) 100 ล้านเหรียญสหรัฐ , EBITDA จากโครงการ IRPC 4.0 และEBITDA จากกิจการที่ IRPC เข้าไปซื้อกิจการในช่วงปี 1-2 ปีจากนี้
“IRPC มีแผนเข้าซื้อกิจการใหม่ๆในช่วง 1-2 ปีจากนี้เพื่อเพิ่ม EBITDA ให้กับบริษัทประมาณ 100 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเงินที่นำไปซื้อกิจการดังกล่าวยังไม่ได้ตั้งงบไว้ แต่คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 800 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาท”นางรัชฎาภรณ์กล่าว
สำหรับการลงทุนโครงการ MAR ซึ่งจะเพิ่มกำลังการผลิตพาราไซลีนและเบนซีน วงเงินลงทุน 1,000-1,100 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 3.5 หมื่นล้านบาทนั้น คาดว่าผลการศึกษาจะแล้วเสร็จช่วงปลายปีนี้ จากนั้นจะเสนอให้บอร์ดพิจารณาอนุมัติต่อไป หากได้รับอนุมัติคาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้าง 4-5 ปี ส่วนโครงการขยายกำลังการผลิตของโรงงานโอเลฟินส์เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตอีก 50% จากกำลังการผลิตในปัจจุบันนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้และออกแบบโรงงาน