TTA ยืนเป้ารายได้โตเท่าเดิม 1.6 หมื่นล้าน คาดดัชนีค่าระวางเรือครึ่งปีหลังใกล้เคียง 1,700 จุด หลังดีมานด์ยังเติบโตต่อเนื่อง แต่กองเรือทั่วโลกเพิ่มขึ้นไม่ทันดีมานด์
นายจิเทนเดอร์ พอล เซอร์มา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส และประธานเจ้าหน้าที่การเงิน บริษัท โทรีเซนไทย เอเย่นต์ซีส์ (TTA) เปิดเผยว่า บริษัทยังคงเป้าหมายการเติบโตของรายได้ในปีนี้ที่ 1.6-1.7 หมื่นล้านบาท เทียบกับปีก่อนที่มีรายได้ 1.4 หมื่นล้านบาท แม้ว่าในครึ่งปีแรกบริษัทจะมีรายได้ 6,507 ล้านบาท ลดลง 3% เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากในช่วงครึ่งปีหลังรายได้จากธุรกิจขนส่งทางเรือ ซึ่งสร้างรายได้คิดเป็น 70% ของรายได้รวม ยังคงเติบโตได้ดีและดัชนีค่าระวางเรือ (BDI) ยังทรงตัวในระดับใกล้เคียง 1,700 จุด
“ในช่วงครึ่งปีหลังอัตราการเติบโตของกองเรือค่อนข้างต่ำ ในขณะที่ดีมานด์เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 3 ซึ่งเป็นช่วงที่ดีที่สุดของธุรกิจขนส่งทางเรือ คาดว่าดัชนีค่าระวางเรือจะสูงกว่า 1,735 จุด และในช่วงไตรมาส 4 ค่าระวางจะปรับตัวลดลงจาก 1,735 จุดไม่มาก อีกทั้งในช่วงครึ่งปีหลังเราไม่มีเรือที่ต้องเข้าซ่อม จึงสามารถใช้เรือที่มีอยู่ 21 ลำได้อย่างเต็มที่”นายจิเทนเดอร์กล่าว
นอกจากนี้ ในส่วนของธุรกิจบริการนอกชายฝั่งของบริษัท เมอร์เมดนั้น ณ สิ้นไตรมาส 2 มีงานในมือ (backlog) จำนวน 165 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยจะรับรู้รายได้ในปีนี้ 40% หรือเป็นเงินประมาณ 2,100 ล้านบาท ส่วนงานที่เหลือจะรับรู้รายได้ภายในปีหน้า ส่วนธุรกิจเคมีภัณฑ์คาดว่ารายได้ในช่วงครึ่งปีหลังจะใกล้เคียงกับปีที่แล้ว แต่สูงกว่าครึ่งปีแรกที่มีรายได้ 1,398 ล้านบาท
สำหรับธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ในช่วงที่เหลือของปีนี้ บริษัทมีแผนเปิดร้านพิซซ่าฮัทเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากต้นปีที่เปิดไปแล้ว 13 สาขา ทำให้ขณะนี้มีจำนวนร้านพิซซ่าฮัททั้งสิ้น 121 สาขา และในช่วงไตรมาส 4 จะมีการเปิดร้าน Taco Bell จำนวน 1 สาขา ซึ่งภายใน 5 ปีตั้งเป้าเปิดร้าน Taco Bell เป็น 40 สาขา ขณะที่ธุรกิจบริหารจัดการทรัพยากรน้ำนั้น ล่าสุดบริษัทได้เข้าซื้อหุ้นในบริษัท เอเชีย อินฟราสตักเชอร์ แมเนจเม้นท์ (AIM) ในสัดส่วน 80% เป็นเงิน 200 ล้านบาท
“ปีนี้บริษัทตั้งงบลงทุนไว้ที่ 1,500 ล้าน ใช้ในการซื้อเรือใหม่ 900 ล้านบาท อีก 200 ล้านบาทใช้ในการซื้อ AIM ทำให้เราเหลือเงินอีก 400 ล้านบาท ซึ่งบริษัทเองกำลังมองหาการเข้าซื้อและลงทุนกิจการใหม่ๆ โดยล่าสุดได้มีการเจรจาพูดคุยกับผู้ประกอบการในธุรกิจให้บริการนอกชายฝั่งในอ่าวไทยบางแห่งอยู่”นายจิเทนเดอร์ระบุ
ส่วนผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนนั้น นายจิเทนเดอร์ กล่าวว่า นักวิเคราะห์ประเมินว่าจะมีผลกระทบต่อธุรกิจขนส่งทางเรือไม่มากนัก ยกตัวอย่างเช่นการขนส่งสินแร่เหล็ก ซึ่งเดิมจะเป็นการขนส่งจากออสเตรเลียและบราซิลไปประเทศจีนเพื่อผลิตเป็นสินค้าเหล็ก แต่เมื่อสหรัฐขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าเหล็กจากจีน การขนส่งสินแร่เหล็กจากออสเตรเลียหรือบราซิล ก็จะเปลี่ยนเส้นทางไปยังโรงงานผลิตเหล็กในสหรัฐแทน เป็นต้น