HoonSmart.com>> “ธนาคารกรุงศรี” คาดเงินบาทสัปดาห์นี้ซื้อขายในกรอบ 32.50-32.95 บาท/ดอลลาร์ ลุ้นเงินเฟ้อสหรัฐฯ และยอดค้าปลีกเดือนส.ค.ของสหรัฐฯ หลังดัชนีราคาผู้ผลิตเทียบรายปีเร่งตัวขึ้น 8.3%
กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า เงินบาทสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 32.50-32.95 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดอ่อนค่าที่ 32.64 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในกรอบ 32.33-32.85 บาท/ดอลลาร์ เงินดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับทุกสกุลเงินสำคัญ ขณะที่ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ระบุว่าจะชะลอการซื้อพันธบัตรภายใต้โครงการฉุกเฉิน Pandemic Emergency Purchase Programme (PEPP) ในไตรมาสหน้า โดย PEPP จะดำเนินต่อไปจนสิ้นสุดโครงการในเดือนมีนาคม 2565
ส่วนการซื้อพันธบัตรในโครงการ Asset Purchase Programme (APP) จะยังอยู่ที่ 2 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน ทางด้านประธานอีซีบีใช้วลี The lady isn’t tapering โดยใช้คำว่าปรับ (Recalibration) อัตราการซื้อแทนคำว่า Taper ทั้งนี้ อีซีบีเพิ่มคาดการณ์จีดีพีปีนี้เป็น 5% จาก 4.6% และเพิ่มประมาณการเงินเฟ้อเป็น 2.2% ในปีนี้ ก่อนจะลดลงสู่ 1.7% และ 1.5% ในปี 2565 และ 2566 ตามลำดับ ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมาย 2% ของอีซีบี โดยทักษะการสื่อสารคุมโทนดังกล่าวช่วยจำกัดความผันผวนของค่าเงินยูโร ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิในตลาดหุ้นไทย 4,001 ล้านบาท แต่ขายพันธบัตร 8,117 ล้านบาท
กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่า นักลงทุนจะติดตามข้อมูลเงินเฟ้อและยอดค้าปลีกเดือนสิงหาคมของสหรัฐฯ หลังดัชนีราคาผู้ผลิตเมื่อเทียบเป็นรายปีเร่งตัวขึ้นถึง 8.3% ในเดือนสิงหาคม ซึ่งสูงที่สุดในรอบเกือบ 11 ปี สะท้อนว่าอัตราเงินเฟ้ออาจจะยังอยู่ในระดับสูงต่อไปท่ามกลางปัญหาห่วงโซ่อุปทานที่ตึงตัวและอุปสงค์ที่ฟื้นตัวจากการกลับมาเปิดเมือง กรุงศรีมองว่าภาวะดังกล่าวอาจสร้างความท้าทายให้กับธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) และตลาดการเงินโลกในระยะถัดไปหากเงินเฟ้อไม่ใช่ปรากฏการณ์ชั่วคราวอย่างที่เฟดตั้งสมมติฐานไว้ โดยมีความเสี่ยงที่ค่าเงินดอลลาร์จะปรับตัวสูงขึ้นและสินทรัพย์ตลาดเกิดใหม่เผชิญแรงกดดันกรณีตลาดปรับมุมมองว่าเฟดจะลดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าคาด
นอกจากนี้ ทางฝั่งยุโรปจะประกาศตัวเลขเงินเฟ้อในสัปดาห์นี้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม หากราคาสินทรัพย์เสี่ยงทรุดลงและดัชนีความผันผวนสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ค่าเงินเยนจะได้รับแรงหนุนจากความต้องการแหล่งพักเงินที่ปลอดภัย
สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ตลาดจะยังคงติดตามสถานการณ์แพร่ระบาดหลังคลายล็อคบางส่วนตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน การกระจายวัคซีนที่มีสัญญาณดีขึ้น รวมถึงประเด็นทางการเมือง อนึ่ง กรุงศรีมองว่าปัจจัยต่างๆ ในตลาดโลก อาทิ ราคาทองคำ และน้ำมันดิบจะเริ่มกลับมามีน้ำหนักมากขึ้นสำหรับค่าเงินบาทควบคู่กับปัจจัยภายใน โดยนักลงทุนอาจเพิ่มความระมัดระวังก่อนการประชุมเฟดวันที่ 21-22 กันยายน และการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 29 กันยายน