แม้ว่าหลักการการลงทุนแบบยั่งยืน หรือ การลงทุนด้วยเกณฑ์ทาง ESG จะมีหลักการคล้ายๆกันคือ การลงทุนในบริษัทที่มีปัจจัยส่งเสริมด้าน Environmental Social and Governance
แต่วิธีการลงทุนแบบยั่งยืนนั้นแตกต่างกันไปตามแต่ละขั้นตอนการลงทุนของบริษัทจัดการ หรือจะพูดอีกอย่างหนึ่งว่า การนำหลักการณ์ ESG เข้ามาประยุกต์ใช้ในการลงทุนแตกต่างกันในแต่ละ บลจ. ดังนั้น สิ่งที่จะกล่าวถึงในบทความนี้ คือ ประสบการณ์การลงทุนในรูปแบบ ESG ในฐานะผู้จัดการกองทุน และแนะนำวิธีการที่ท่านผู้ฟังสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ จากฐานข้อมูลที่เปิดเผยโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม
สิ่งแรกที่ผู้จัดการกองทุนและผู้แนะนำการลงทุนควรทำในการจัดพอร์ตการลงทุน คือ การเข้าใจความต้องการของลูกค้า เพื่อให้จัดพอร์ตออกมาให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับลูกค้า เนื่องจาก ESG มีเรื่องที่ต้องพิจารณาในหลายๆแง่มุม ทั้ง สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ในฐานะผู้ดูแลเงินของลูกค้าควรทำความเข้าใจว่า ลูกค้าให้น้ำหนักกับหลักเกณฑ์ใดของ ESG เช่น ลูกค้าบางส่วนอาจต้องการเน้นด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ต้องการช่วยแก้ปัญหาโลกร้อน หรือ ลูกค้าบางส่วนอาจเน้นบริษัทที่มีธรรมาภิบาลที่ดี เพราะลดความเสี่ยงจากการถูกบริหารคดโกงอนาคตได้ การพูดคุยกับลูกค้าเพื่อกำหนดแนวทางการลงทุน (Investment policy) ซึ่งเดิมจะมีการพูดถึง ผลตอบแทนที่คาดหวังและความเสี่ยงที่ลูกค้ารับได้ ปัจจุบันจะมีการเพิ่มเรื่อง ESG เข้าไปด้วย
ในปัจจุบัน นโยบายการลงทุนของนักลงทุนสถาบันมักจะมีส่วนที่กล่าวถึง บทบาทของ ESG ในกระบวนการลงทุน หรือ ESG Investment Process ในอนาคต นโยบายการลงทุนของลูกค้าส่วนบุคคลจะมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับ ESG มากขึ้น มองว่าการพูดคุยกับลูกค้าให้ชัดเจนว่าส่วนไหนใน ESG ที่ลูกค้าต้องการและจัดพอร์ตให้ตรงเป็นสิ่งที่สำคัญและป้องกันการเกิดปัญหาการเข้าใจผิดในอนาคต เช่น ลูกค้าเข้าใจว่ากองทุนนี้เน้นด้านสิ่งแวดล้อม แต่จริงๆ แล้วกองทุนนี้เป็น ESG ที่เน้นด้านสังคม เช่น การไม่ใช้แรงงานเด็ก เป็นต้น
เลือกพิจารณาหุ้น ESG อย่างไร
เมื่อสามารถกำหนด Investment policy ที่ตรงตามความต้องการของลูกค้าแล้ว ลำดับถัดไปคือ การคัดเลือกสินทรัพย์ต่างๆ เข้า portfolio ขอยกตัวอย่าง กองทุนที่ลงทุนในหุ้นทั้ง 100% เพื่อให้เห็นภาพการนำ ESG เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการจัดพอร์ต สมมุติว่า ท่านเป็นผู้จัดการกองทุนที่ลูกค้าต้องการลงทุนใน Asia Equity Fund หรือ หุ้นในทวีปเอเชีย สิ่งแรกที่เราต้องทำคือ คัดเลือกหุ้นที่เราสามารถลงทุนได้ เช่น หุ้นขนาดใหญ่ที่มีสภาพคล่องเหมาะสม เราเรียกหุ้นที่เราสามารถลงทุนได้ว่า universe หุ้น
เมื่อเราได้ universe ของหุ้นแล้ว ต่อไปจะวิเคราะห์ประเด็นทาง ESG ของหุ้นทุกตัวใน universe ปัญหาคือ เรามีหุ้นประมาณ 1,600 ตัวอยู่ใน universe ซึ่งเราจะวิเคราะห์ ESG ของหุ้น 1,600 ตัวนั้นใช้เวลามาก เราต้องการตัวช่วย นั่นคือ การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ เทคโนโลยีที่จะนำมาใช้มี 2 ส่วนด้วยกัน ส่วนที่หนึ่ง คือ Data automation หรือ ระบบการดึงข้อมูลจากฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องมาโดยอัตโนมัติ ในหุ้น 1,600 ตัวเราใช้ฐานข้อมูลจากหลายแหล่ง เช่น MSCI S&P Global และฐานข้อมูลที่เป็นข่าวที่เกี่ยวกับหุ้นเหล่านี้ เนื่องจากเรามีหุ้นที่ต้องดูเป็นจำนวนมาก การดึงข้อมูลอัตโนมัติจึงมีความจำเป็นเพื่อให้เราสามารถวิเคราะห์ได้อย่างทันท่วงที
ส่วนที่สอง เมื่อเราใช้เทคโนโลยีจาก Data automation และ Artificial Intelligence จะได้คะแนน ESG คร่าวๆ ตามฐานข้อมูลที่เรามี แต่เนื่องจากข้อมูลไม่ได้สมบูรณ์ 100% เราจึงใช้ ESG analysts หรือนักวิเคราะห์ทาง ESG มาทำให้คะแนน ESG ของหุ้น แต่ละตัวมีความครบถ้วนและถูกต้องยิ่งขึ้น สิ่งที่ได้คือ คะแนน ESG ของหุ้นแต่ละตัว เช่น A, B, C, D โดย A คือ ESG ดีที่สุด ซึ่งจะเป็น input
สำหรับขั้นตอนที่ 3 นั่นคือ การใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ (Prediction models) เพื่อหาหุ้นที่เหมาะสมที่สุดที่จะอยู่ใน Asia Equity Fund ของเรา ผู้จัดการกองทุนจะวิเคราะห์ผลจาก model เพื่อหาหุ้น 60 ตัว ที่ให้ผลตอบแทนดีที่สุดในความเสี่ยงที่ลูกค้ารับได้และคะแนน ESG ผ่านเกณฑ์ที่กำหนด เช่น A และ B เท่านั้น
ขั้นตอนที่ 4 การเลือกในขั้นตอนนี้จะทำอย่างละเอียด โดยมีการใช้ ทีม ESG Analysts ส่งแบบสอบถาม หรือเข้าไปคุยกับผู้บริหารเพื่อปรับคะแนน ESG อีกรอบหนึ่งให้ถูกต้องมากขึ้น ในขั้นตอนที่ 5 เมื่อได้หุ้น 30 ตัวสุดท้าย เราจะนำหุ้น 30 ตัวนี้มาสร้างเป็น Asia Equity Fund เมื่อเราลงทุนในหุ้นแล้ว งานทาง ESG ยังไม่จบ เรายังคงต้องประเมิณ ESG ของหุ้นแต่ละตัวใน Portfolio ของเราอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากคะแนน ESG ของหุ้นแต่ละตัวจะเปลี่ยนแปลงไปด้วยปัจจัยต่างๆ เช่น การเปลี่ยนกลยุทธ์ทางธุรกิจ ข้อพิพาทต่างๆ เช่น การใช้แรงงานผิดกฎหมาย สิ่งเหล่านี้จะทำให้คะแนน ESG ลดลงได้
เมื่อทุกท่านเห็นภาพการสร้าง portfolio ในภาพรวมแล้ว เราจะมาพูดถึงการวิเคราะห์ด้าน ESG ในภาพลึก โครงสร้างของการวิเคราะห์ ESG ประกอบด้วยเสาหลัก 3 เสา หรือ 3 pillar เสาแรก คือ สิ่งแวดล้อม เสาที่สองคือ สังคม และ เสาที่สามคือ
ธรรมาภิบาล ภาพในแต่ละเสาจะมีหัวข้อที่สำคัญในเสานั้นๆ ยกตัวอย่าง เช่น หัวข้อที่สำคัญทางสิ่งแวดล้อมคือ การจัดการขยะ และ การปล่อยแก๊สเรือนกระจกที่สร้างปัญหาโลกร้อน หัวข้อที่สำคัญทางสังคม คือ ความปลอดภัยในการทำงานของพนักงาน ความปลอดภัยของข้อมูลลูกค้า และ หัวข้อที่สำคัญทางธรรมาภิบาล คือ จริยธรรมทางธุรกิจและ การบริหารบริษัทอย่างถูกต้อง จ่ายภาษีถูกต้อง เปิดเผยครบถ้วน เป็นต้น ซึ่งจะมีการให้น้ำหนักที่ไม่เหมือนกันตามความเหมาะสมของแต่ละอุตสาหกรรมที่แตกต่างกัน แล้วเอาน้ำหนักดังกล่าวมาคำนวณเป็นคะแนน Weighted ESG score
และจะมีการติดตามอยู่เสมอ โดยเมื่อ ESG analyst ได้รับการแจ้งเตือนถึงข่าว จะทำการปรับคะแนน ESG จะเรียกคะแนนที่เกิดจากประเด็นข้อพิพาทเหล่านี้ว่า Controversy Score ในแต่ละข่าว เราจะนำ Controversy score มาลบออกจาก Weighted ESG score ในขั้นที่แล้ว สุดท้ายจะเป็นคะแนน ESG ล่าสุดที่เราจะนำมาปรับพอร์ตการลงทุนจริงๆ เช่น หากเดิม หุ้นตัวนี้ได้ B และ มีข้อพิพาทร้ายแรงทำให้ คะแนนตกมา D เราอาจต้องพิจารณาขายหุ้นตัวนั้นออกไปจาก Portfolio เรา
นักลงทุนทั่วไปที่ต้องสนใจ ESG จะเริ่มต้นอย่างไร
สำหรับนักลงทุนในหุ้นไทย ทางเว็บไซต์ www.settrade.com ได้รวบรวมคะแนน ESG จากแหล่งต่างๆมาไว้ในหน้า ESG อย่างครบถ้วน ทำให้สะดวกต่อการหาข้อมูล และ THSI ที่มาจากคำว่า Thailand Sustainability Investment จัดโดย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่คัดเลือกหุ้นที่มีการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยต้องมีผลคะแนนจากการตอบแบบประเมินความยั่งยืนอย่างน้อย 50% ในแต่ละด้านของ ESG หรือ หุ้นที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นสมาชิกของ Dow Jones Sustainability Indices ในปีล่าสุด มีบริษัทจดทะเบียนที่ผ่านการคัดเลือกเข้าสู่รายชื่อหุ้นยั่งยืน 124 บริษัท การเลือกลงทุนในบริษัทเหล่านี้ถือเป็นการเลือกลงทุนแบบ ESG ที่มีหลักเกณฑ์ชัดเจน นำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างไม่ยาก
สำหรับตราสารหนี้ โดยปกติบริษัทต่างๆ จะออกทั้งหุ้นและตราสารหนี้ ดังนั้น การพิจารณา ESG ในผู้ออกตราสารหนี้สามารถใช้หลักการและ วิธีการเช่นเดียวกับหุ้นได้ แต่หากบริษัทต้องการออกตราสารหนี้เพื่อนำเงินไปใช้ในโปรเจ็กเฉพาะ เช่น หากบริษัทต้องการออกตราสารหนี้เพื่อนำเงินไปใช้ในโปรเจ็กเฉพาะทางด้านสิ่งแวดล้อม เราจะเรียก green bond หากบริษัทต้องการออกตราสารหนี้เพื่อนำเงินไปใช้ในโปรเจ็กเฉพาะทางด้านสังคม เราจะเรียก social bond หากบริษัทต้องการออกตราสารหนี้เพื่อนำเงินไปใช้ในโปรเจ็กเฉพาะที่เป็นผลดีทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและทางด้านสังคม เราจะเรียก sustainability bond
สำหรับนักลงทุนในตราสารหนี้ไทย ทางเว็บไซต์ www.thaibma.or.th ได้รวบรวม ESG –related bond ไว้ ทำให้สะดวกต่อการหาข้อมูล
ESG Strategy หรือวิธีที่กองทุนนำ ESG เข้ามาร่วมพิจารณาหลักทรัพย์ต่างๆที่กองทุนลงทุน และวิธีการคัดเลือกกองทุน
การเลือกไม่ลงทุนในบางอุตสาหกรรม หรือ Negative/Exclusionary Screening มี อัตราการเติบโตในหลังต่ำลง เนื่องจาก การทำ ESG ในช่วงหลังมีความละเอียดประณีตมากขึ้น ในช่วงแรกๆ การทำ ESG อาจเป็นการนำบาง industry ออกซึ่งเป็นวิธีที่นำไปปฏิบัติได้ง่าย แต่ จุดอ่อนคือหลายๆ asset managers มองว่า เราทำ ESG เพื่อให้เกิดผลกระทบที่ดีขึ้นต่อสิ่งแวดล้อม สังคม ธรรมาภิบาล เราต้องการให้บริษัทใส่ใจเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อม พัฒนาสังคม และมีธรรมาภิบาลที่ดีขึ้น การนำทุกๆบริษัทในทั้ง industry ออก จึงเป็นเหมือนการตัดโอกาสที่จะทำให้เราเข้าไปมีบทบาทร่วมกับบริษัท ในฐานะนักลงทุน
กลยุทธ์การลงทุน ESG แบบใดที่ได้ความนิยม
Positive/ best-in-class screening การลงทุนในบริษัทที่มี commitment และแสดงความพยายามในการลดโลกร้อน โดยไม่จำกัดอุตสาหกรรมการลงทุน เช่น เราอาจลงทุน บริษัท ในอุตสาหกรรมถ่านหินที่มีความพยายามในการกรองอากาศให้ดีขึ้น สำหรับลูกค้าบางรายที่มีความประสงค์จะลงทุนเพื่อวัตถุประสงค์เพื่อ ESG โดยตรง เช่น ลดโลกร้อน เรียกว่า sustainability themed investing และ impact investing อีก strategy หนึ่งที่ เป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ คือ ESG Integration หรือ การนำ ESG เข้าเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการลงทุน เช่น การคัดเลือกหุ้นหรือตราสารหนี้โดยหลักการ ESG การลงทุนในหุ้นที่ได้คะแนน ESG สูง ในสัดส่วนที่มากขึ้น
จะเห็นได้ว่า ESG strategy มีการเปลี่ยนแปลงไปตามแต่ละช่วงเวลา ในอนาคต เราน่าจะเห็น ESG strategy ใหม่ๆ ในการลงทุน ที่เป็นที่นิยม ดังนั้น ในฐานะผู้แนะนำการลงทุน เราจึงควรศึกษาว่า กองที่เราไปลงทุนใช้ ESG strategy แบบใด บางกองอาจใช้ มากกว่า หลายแบบรวมกัน ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะเปิดเผยอยู่ใน Fund Fact Sheet หรือ Fund Presentation ของกองทุน
เกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลการลงทุนอย่างยั่งยืนทางฝั่งยุโรป หรือ SFDR
สาเหตุที่หลายภูมิภาคในโลกให้ความสำคัญกับเกณฑ์ SFDR นี้เนื่องจากทวีปยุโรปถือเป็นผู้นำด้านการลงทุนอย่างยั่งยืน เห็นได้จำนวนเงินที่ลงทุนในกองทุน ESG ทำให้กฎเกณฑ์ของทางฝั่งยุโรปมักจะถูกใช้เป็นต้นแบบในภูมิภาคอื่น ๆ ทั่วโลก เกณฑ์ SFDR นี้เริ่มมีการบังคับใช้เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยให้แต่ละบลจ. แบ่งประเภทกองทุนออกเป็น 3 กลุ่มที่เป็นไปตาม Article หรือมาตรา 6, 8 หรือ 9 ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ด้านความยั่งยืนของผลิตภัณฑ์การลงทุนนั้น
โดยตามมาตรา 6 หมายถึงทุกกองทุนจะมีการเปิดเผยข้อมูล ESG ในบางส่วน ในขณะที่กองทุนตามมาตรา 8 และ 9 จะต้องมีการแสดงข้อมูลในรายละเอียดเกี่ยวกับ ESG ที่มากกว่าให้ผู้ลงทุนรับทราบ ตาม Article 8 ถูกตีความว่าเป็นการนำเสนอกองทุนโดยในใช้ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมร่วมกับปัจจัยอื่น Article 9 นั้นมีลักษณะ เป็นกองทุนที่มีวัตถุประสงค์มีการลงทุนอย่างยั่งยืน โดยจะเป็นการลงทุนในบริษัทที่สร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ทำตามแนวปฏิบัติธรรมาภิบาลที่ดี ฉะนั้นกองทุนตาม Article 9 นี้มักจะเป็นกองทุนกลุ่ม thematic หรือ impact fund ซึ่งข้อมูลเหล่านี้มักจะถูกเปิดเผยอยู่ใน Fund Fact Sheet หรือ Fund Presentation ของกองทุน
ในแต่ละกองทุน สิ่งแรกที่เราควรจะดูคือ คะแนน ESG ในภาพรวม เช่น หากบลจ มีการจัดประเภทกองทุนเป็น A B C D กองทุนนี้ได้ A หมายถึง ทางบลจ เลือกหุ้นและตราสารหนี้ที่จัดว่า มี positive impact หรือ ผลกระทบเชิงบวก กับสิ่งแวดล้อม สังคม ถ้ากองทุนที่เราเลือก ได้ D หมายถึง กองทุนนี้ อาจมีการคัดเลือกหุ้นและตราสารหนี้โดยไม่ใช่หลักเณฑ์ทาง ESG ต่อมา ESG score coverage หมายถึง ในกองทุนมีหุ้นหรือตราสารหนี้ที่ได้ ESG ในระดับ A กี่เปอร์เซนต์ B กี่เปอร์เซนต์ C กี่เปอร์เซนต์ และ D กี่เปอร์เซนต์ ต่อมาคือ คะแนน ESG ของกองทุนเมื่อเทียบกับ Benchmark เช่น กองทุนตราสารหุ้นโลก มักใช้ Benchmark เป็น MSCI All Country World Index ใน บลจ. เปิดเผยว่า ทางกองทุนอาจจะได้ A ในขณะที่ Benchmark ได้ B ในส่วนนี้ กองทุนที่มีความเป็น Sustainable Investment ควรได้คะแนนมากกว่า Benchmark
หากเรามองลึกลงมาจะว่า ESG ในระดับกองทุนคิดจากอะไร จะเป็นการรวมคะแนน ESG ในหุ้นที่กองทุนถือนั่นเอง โดยตัวอย่างของ มาตราวัดที metric สำคัญ ในส่วนของสิ่งแวดล้อมเช่น การปล่อยก๊าซเรือนกระจก การลดการใช้พลังงาน การลดการใช้น้ำ การลดการปล่อยขยะ เป็นต้น ในส่วนของสังคม เช่น การให้บทบาทการผู้หญิงในที่ทำงาน เช่น มีสัดส่วนของผู้หญิงในระดับบริหารกี่เปอร์เซนต์ ชำนวนชั่วโมงที่อบรมให้ความรู้กับพนักงาน และ ความปลอดภัยที่ในการทำงาน ในส่วนของธรรมาภิบาล จะเป็นในเรื่องของการตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหาร การเสียภาษีอย่างถูกต้อง มีการเปิดเผยการจ่ายคำตอบแทนผู้บริหาร การมีนโยบายเพื่อป้องกันการติดสินบน
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา บลจ.ยูโอบี เล็งเห็นว่าทิศทางการลงทุนหุ้นกลุ่มที่มีแนวคิด ESG เริ่มเข้ามามีบทบาทต่อการลงทุนมากขึ้น นักลงทุนมีความตื่นตัวและสนใจลงทุนในหุ้นกลุ่มดังกล่าว เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการลงทุนเพื่อโอกาสรับผลตอบแทนที่ยั่งยืนในระยะยาว และบทความนี้จะเป็นภาพรวมเบื้องต้นในการเข้าลงทุนกลุ่มธุรกิจ ESG ซึ่งทาง บลจ.ยูโอบีได้ตระหนักถึงการลงทุน เชื่อว่าจะเข้ามามีบทบาทเป็นทางเลือกอันดับต้นๆ ในการลงทุนเพื่อความยั่งยืน