HoonSmart.com>>นับถอยหลัง อีก 3 วันทำการ (27พ.ค.2564) นักลงทุนต่างชาติจะต้องปรับพอร์ตตามดัชนี MSCI ตลาดหุ้นไทยถูกลดน้ำหนักลง -0.1% สู่ 1.73% คิดเป็นเม็ดเงินราว -341 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งคนในวงการตลาดทุนต่างจับตาดูว่า นักลงทุนต่างชาติจะปรับพอร์ตอย่างไร โดยหวังว่าเหตุการณ์คงไม่ซ้ำรอยถล่มขาย โดยไม่มีใบหุ้นหรือการทำเน็กเก็ตชอร์ต (NAKED SHORT) เหมือนเมื่อวันที่ 28 พ.ค.2562 ที่ผ่านมา
วันนั้นตลาดหลักทรัพย์ได้สร้างประวัติศาสตร์ตลาดหุ้นไทย ด้วยมูลค่าซื้อขายสูงถึง 204,855.67 ล้านบาท โดยนักลงทุนต่างชาติมียอดซื้อสุทธิ 12,534 ล้านบาท จากการซื้อมูลค่า 168,421 ล้านบาท สัดส่วน 82.21% และขายจำนวน 155,886 ล้านบาท สัดส่วน 76.10% หากเป็นการขายเพื่อปรับพอร์ตตามน้ำหนักดัชนี MSCI ตลาดคงไม่ร้อนแรงขนาดนั้น เรื่องการขายหุ้นออกไปโดยไม่มีใบหุ้น มาแดงหนักขึ้น เมื่อกองทุนที่ซื้อหุ้นไป แต่ไม่สามารถขายหุ้นออกได้ภายในเวลาที่กำหนด เพราะฝั่งขายไม่มีหุ้นส่งมอบ ซึ่งตามเกณฑ์ตลาดจะต้องส่งมอบใบหุ้นวันรุ่งขึ้นก่อนเที่ยง หรือ 1+1 และชำระเงิน 1+2
หลังจากนั้นจึงต้องไล่ซื้อหุ้นคืน เพื่อส่งมอบ ทำให้ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นแรงอย่างรวดเร็ว เช่นวันที่ 4 มิ.ย. ดัชนีเพิ่มขึ้นแรง 17 จุด หรือ 1.08% สวนทางตลาดหุ้นเอเชีย เกิดจากนักลงทุนต่างชาติ มียอดซื้อสุทธิ 5,826 ล้านบาท โดยซื้อมูลค่า 33,149 ล้านบาท สัดส่วน 50.83% ขายจำนวน 27,323 ล้านบาท สัดส่วน 41.90%
“ครั้งนี้ประวัติศาสตร์อาจจะซ้ำรอยก็เป็นไปได้ เพราะนักลงทุนต่างชาติยังสามารถทำเน็กเก็ตชอร์ตได้อยู่ แม้จะผิดหลักเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ก็ตาม จากการฝากหุ้นที่คัสโตเดี้ยนในต่างประเทศ และการมีเอ็นวีดีอาร์ แต่ตลาดหลักทรัพย์เข้าไม่ถึงข้อมูลคัสโตเดี้ยน ทำได้วิธีเดียว คือการขอให้ส่งข้อมูลและลงโทษ แต่ไม่ถึงตัวนักลงทุน”
นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อวันที่ 18 พ.ค.2564 ว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติทยอยขายหุ้นไทยมาโดยตลอด ถ้าดูจากสถิติย้อนหลังตั้งแต่ปี 2554 จะพบว่าต่างชาติขายไปแล้วกว่า 900,000 ล้านบาท และขายต่อเนื่องทุกปี ยกเว้นในปี 2555 และปี 2559 แม้กระทั่งในปี 2564 ที่หลายคนคาดว่าน่าจะได้เห็นการกลับมาของเม็ดเงินต่างชาติ จากเหตุผลที่ตลาดหุ้นไทยมีหุ้นที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจจำนวนมาก ซี่งจะได้รับประโยชน์จากการเริ่มเปิดประเทศทั่วโลก และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก แต่ต่างชาติก็ยังขายหุ้นสุทธิกว่า 50,000 ล้านบาทนับจากต้นปี
“มูลค่าหุ้นที่ถือครองโดยต่างชาติล่าสุด อยู่ที่ 4.71 ล้านล้านบาท ซึ่งแทบไม่ได้เปลี่ยนแปลงจากยอด 4.66 ล้านล้านบาทเมื่อปี 2556 ที่ดัชนีใกล้เคียงกับระดับปัจจุบัน แสดงว่าต่างชาติไม่ได้ลงทุนเพิ่มขึ้นเลยในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา”
สาเหตุหลักเกิดจาก 3 ปัจจัย คือ 1.ประเทศไทยขาดความน่าสนใจในระดับมหภาค 2. ตลาดหุ้นไทยขาดหุ้น New Economy เช่น หุ้นเทคโนโลยี หุ้น Unicorn ถึงแม้มีหุ้นใหม่เข้าตลาดอย่างต่อเนื่อง แต่ส่วนใหญ่เป็นประเภทเศรษฐกิจเก่า ที่ต่างชาติไม่ค่อยสนใจ ซึ่งสะท้อนได้จากระดับการถือครองหุ้น IPO โดยนักลงทุนต่างชาติ เฉลี่ยเพียง 7% ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา 3. น้ำหนักตลาดหุ้นไทยใน Benchmark ที่นักลงทุนต่างชาติใช้เป็นเกณฑ์อ้างอิงในการลงทน ถูกปรับลดลงมาโดยตลอด เช่น MSCI AC Asia ex. Japan Index น้ำหนักหุ้นไทยลดลงจาก 7-8% เมื่อ 20 ปีที่แล้ว เหลือ 2-3% เมื่อ 10 ปีที่แล้ว และ 1.8% ในปัจจุบัน ทำให้กองทุนส่วนใหญ่ต้องลดการลงทุนในตลาดหุ้นไทยตาม
แน่นอน การดูแค่มูลค่าซื้อขายสุทธิไม่อาจบอกได้ถึงสถานะที่แท้จริงของนักลงทุนต่างชาติ เนื่องจากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การซื้อขายแบบเก็งกำไรรายวัน โดยใช้โปรแกรม Algorithmic Trading คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 60-70% ของธุรกรรมของต่างชาติ แปลง่าย ๆ ว่า ตัวเลขขายสุทธิส่วนใหญ่อาจเกิดจากการซื้อขายของกองทุนเหล่านี้
บล.โนมูระพัฒนสิน รายงานว่า MSCI ประกาศลดน้ำหนักหุ้นไทยลง -0.1% สู่ 1.73% โดยดัชนี MSCI Global Standard Index มีหุ้นเข้าใหม่ 2 บริษัทคือ SCGP คาดเม็ดเงิน +104 ล้านเหรียญฯ, CBG +48 ล้านเหรียญฯ และเพิ่มน้ำหนัก OSP, KTC, STGT, BH ราว 22-6 ล้านเหรียญฯต่อบริษัท ขณะเดียวกันถอดออกหุ้น KBANK-F(-210 ล้านเหรียญฯ), DTAC(-33 ล้านเหรียญฯ) และลดน้ำหนัก PTT, KBANK, INTUCH, CPN, SCC, CPALL, EGCO, TU ราว -94 ถึง -8 ล้านเหรียญฯต่อบริษัท
แนะกลยุทธ์เลือกหุ้นเด่น SCGP, CBG/OSP ส่วนกลุ่มเข้า Small Cap เลือก PSL, TTA, RCL, SINGER, TOA ระวังแรงขายหุ้นถึงปลายเดือนโดยเฉพาะ KBANK-F, PTT, KBANK, DTAC, INTUCH, CPN
ด้านบล.เอเซีย พลัส แนะกลยุทธ์ลงทุนธีม MSCI ชื่นชอบมากสุด คือ SCCC, TOA พร้อมกับเก็งกำไรหุ้น Laggard ที่ถูกคัดเข้าอย่าง CBG
นอกจากนี้ บล.หยวนต้า คาดว่า SCGP จะถูกเข้าคำนวณ FTSE Rebalance เม็ดเงินราว 75 ล้านเหรียญฯ จะมีผลราคาปิดวันที่ 18 มิ.ย.2564