กองหุ้นใหญ่เงินไหลออกครั้งแรกรอบ 15 ปี พิษโควิด-ไร้แรงซื้อ LTF ประคองหุ้นปี 63

HoonSmart.com>> “มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช” เผยเงินไหลออกกองทุนรวมปี 63 กว่า 2.8 แสนล้านบาท พิษโควิดฉุดตราสารหนี้วูบ หุ้นไทยร่วง กองทุนหุ้นบิ๊กแคปเงินไหลครั้งแรกในรอบ 15 ปีเป็นเงินกว่า 2.1 หมื่นล้านบาท ไร้เม็ดเงินกองทุน LTF หนุนตลาดหุ้นหลังหมดสิทธิภาษี ด้าน SSF ยังไม่นิยม เงินกระจายลงทุนนอก จับตาปี 65 นักลงทุนทยอยขาย LTF ด้านกองทุนหุ้นจีน-สหรัฐฯ ฮอต แห่ซื้อแน่น หนุนมูลค่าสินทรัพย์โต 100%

น.ส.ชญานี จึงมานนท์ นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ซ (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมกองทุนรวมในปี 2563 มีเงินไหลออกสุทธิ 2.8 แสนล้านบาท โดยมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิอยู่ที่ 5.0 ล้านล้านบาท ลดลง 6.5% จากสิ้นปี 2562 โดยกองทุนรวมที่ลงทุนในประเทศ ซึ่งเป็นสัดส่วนหลักของอุตสาหกรรมฟื้นตัวช้า การแพร่ระบาด COVID-19 ยังเป็นแรงกดดันเศรษฐกิจไทยโดยรวม ขณะที่การลงทุนต่างประเทศอาจมีปัจจัยสนับสนุนที่ชัดเจนกว่า โดยเฉพาะการลงทุนหุ้นต่างประเทศน่าสนใจในแง่ของหมวดอุตสาหกรรมที่ตลาดหุ้นไทยอาจจะยังขาดหรือการฟื้นตัวของตลาดในแต่ละประเทศตามสถานการณ์ของโควิด-19 ในประเทศนั้นๆ


กลุ่มกองทุนหุ้นต่างประเทศจึงเติบโตชัดเจน โดยเฉพาะกองทุนหุ้นจีนหรือหุ้นทั่วโลก แต่ด้วยสัดส่วนทรัพย์สินที่ยังไม่สูงนักเมื่อเทียบกับทั้งอุตสาหกรรมจึงยังไม่ส่งผลต่อการเติบโตของกองทุนหุ้นมากนัก โดยกองทุนหุ้นเติบโตเล็กน้อยจากปี 2562 หรือเพิ่มขึ้น 1.8% ไปอยู่ที่ 1.3 ล้านล้านบาท จากเม็ดเงินไหลเข้าสุทธิ 7.7 หมื่นล้านบาท

ด้านตลาดหุ้นไทยในไตรมาส 4/2563 ปรับสู่ระดับ 1,400 จุด โดย SET TR 3 เดือน อยู่ที่ 17.4% แต่โดยรวมยังไม่ส่งผลบวกต่อกองทุนรวมมากนัก เห็นได้จากกองทุนหุ้นไทยยังมีเงินไหลออกสุทธิต่อเนื่อง รวมทั้งนักลงทุนยังให้ความสนใจกับกองทุนหุ้นต่างประเทศมากกว่า และกองทุนตราสารหนี้โดยรวมยังเห็นผลกระทบจากกองทุนที่ปิดไปในช่วงต้นปี ทำให้มูลค่าทรัพย์สินกองทุนตราสารหนี้ยังไม่กลับไปสู่ระดับเดิม หรือลดลง 21.3% จากปี 2562 ไปอยู่ที่ 1.6 ล้านล้านบาท โดยในรอบปีที่ผ่านมามีเงินไหลออกสุทธิรวม 4.4 แสนล้านบาท จึงทำให้สัดส่วนของกองทุนตราสารหนี้ลดลงไปอยู่ที่ 38% จากปี 2562 ที่ 46%

อย่างไรก็ดีในช่วงท้ายของปีเริ่มมีเงินกลับเข้าลงทุนกองทุนตราสารหนี้มากขึ้นชัดเจน จากปริมาณเงินไหลเข้าสุทธิ 5.7 หมื่นล้านบาท

น.ส.ชญาณี กล่าวว่า สำหรับกองทุนหุ้นไทย (ไม่รวม LTF, RMF, SSF, SSFX) แม้ไตรมาส 4/2563 ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวขึ้น แต่ไม่ทำให้นักลงทุนสนใจกองทุนหุ้นไทยมากนัก โดยกลุ่มกองทุนหุ้นขนาดใหญ่ (Equity Large-Cap) มีเงินไหลออกสุทธิ 7.2 พันล้านบาท รวมเงินไหลออกสุทธิทั้งปี 2.1 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นการไหลออกครั้งแรกในรอบ 15 ปี มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 6.2 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตามดัชนี SET Index ณ สิ้นปี 2563 อยู่ที่ระดับ 1,400 จุด ซึ่งยังอยู่ในระดับต่ำกว่าปีที่แล้วที่สูงกว่า 1,500 จุด ทำให้มูลค่ากองทุนกลุ่มนี้ยังหดตัวจากปีที่แล้ว 15.4%

“ทิศทางเม็ดเงินกองทุนกลุ่มหุ้นขนาดใหญ่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาพบว่า ไม่ว่าผลตอบแทนกองทุนกลุ่มนี้จะเป็นบวกหรือติดลบก็จะยังมีเงินไหลเข้าสุทธิระดับหมื่นล้านบาทในไตรมาสสุดท้ายของทุกปี แต่ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2563 ถือเป็นปีแรกที่มีเงินไหลออกสุทธิ ซึ่งเป็นผลจากการขาดเงินลงทุน LTF ในขณะที่กองทุน SSF ที่มาแทนนั้นยังไม่ได้รับความสนใจเท่าในอดีต บวกกับมีทางเลือกให้ลงทุนต่างประเทศได้ ขณะที่ LTF เน้นลงทุนในหุ้นไทย”น.ส.ชญาณี กล่าว

นอกจากนี้ไตรมาสสุดท้ายปี 2563 SET Index ปรับตัวขึ้นกว่า 17% เป็นส่วนให้มีการขายหน่วยลงกองทุนหุ้นไทย ทำให้เงินยังไหลออกสุทธิ 2.8 หมื่นล้านบาท ต่างจากในอดีตที่ไตรมาสสุดท้ายจะเป็นช่วงที่เงินไหลเข้าสุทธิ

ในปริมาณเงินไหลออกสุทธิ 2.8 หมื่นล้านบาท หากแบ่งกองทุนที่มีผลตอบแทนเฉลี่ยสะสมเต็มปี 2563 จำนวน 220 กองทุน ออกเป็น 10 กลุ่ม (decile) ตามอัตราผลตอบแทนสะสมรอบปี 2563 โดยกลุ่ม top decile เป็นกลุ่มที่มีผลตอบแทนเฉลี่ยสูงสุดและ Bottom decile เป็นกลุ่มที่มีผลตอบแทนเฉลี่ยต่ำสุด พบว่า top decile เป็นเพียงกลุ่มเดียวที่มีผลตอบแทนเฉลี่ยเป็นบวกหรือเกือบ 7% และ bottom decile มีผลตอบแทนเฉลี่ย -18.0% โดยจะเห็นได้ว่าไม่ว่าผลตอบแทนจะเป็นบวกหรือติดลบมากน้อยเพียงใด ทุกกลุ่มล้วนมีปริมาณเงินไหลออกสุทธิ โดยมีแนวโน้มที่ผลตอบแทนแย่กว่าจะมีเงินไหลออกมากกว่า

หากแยกเฉพาะกองทุนเปิดใหม่จะพบว่า แม้กองทุนหุ้นไทยส่วนใหญ่มีเงินไหลออก แต่กองทุนหุ้นไทยที่เปิดใหม่ยังมีปริมาณเงินไหลเข้าสุทธิที่สูง รวมมากกว่า 1.6 หมื่นล้านบาท โดยในปี 2563 นมีกองทุนหุ้นไทยจากบลจ.เอไอเอ (AIAIM) เปิดใหม่ 3 กองทุนมูลค่าทรัพย์สินรวม 1.4 หมื่นล้านบาท

ด้านกองทุนเพื่อการออม (SSF) และกองทุนเพื่อการออมพิเศษ (SSFX) มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวม 2.2 หมื่นล้านบาท กองทุน SSFX มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ ณ วันที่ 1 ก.ค.2563 รวม 1.1 หมื่นล้านบาท) มีเงินไหลเข้าสุทธิในไตรมาสสุดท้ายรวม 9.6 พันล้านบาท จากการเปิดขายกองทุน SSF/SSFX ในปีแรกพบว่ามีลักษณะการลงทุนคล้ายกับกองทุน LTF คือเงินลงทุนจะไหลเข้าสูงในช่วงท้ายเช่น มีเงินไหลเข้ากองทุน SSFX สูงในช่วงเดือนมิ.ย.และเดือนธ.ค.สำหรับกองทุน SSF

กองทุน LTF มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 3.5 แสนล้านบาท ลดลง 14.6% จากสิ้นปี 2562 แต่เพิ่มขึ้น 10.4% จากไตรมาสที่ 3 จากมูลค่าทรัพย์สินที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นตาม SET Index อย่างไรก็ตามในไตรมาสสุดท้ายของปียังมีเงินไหลออกจากกองทุน LTF ต่อเนื่องอีก 3.7 พันล้านบาท รวมเป็นเงินไหลออกสุทธิทั้งปีรวมเกือบ 1.5 หมื่นล้านบาท ผลตอบแทนเฉลี่ยกองทุน LTF รอบ 1 ปีที่ผ่านมาอยู่ที่ -8.0% ในขณะที่รอบรอบ 5 ปีอยู่ที่ 2.1%

ส่วนกองทุน RMF มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิกลับขึ้นมาในระดับ 3 แสนล้านบาทได้อีกครั้งหลังจากที่ปรับตัวลงไปในช่วงกลางปี โดยเพิ่มขึ้น 8.5% จากปี 2562 ด้านทิศทางเม็ดเงินกองทุน RMF ในปีนี้ถือว่ามีเงินไหลเข้าในไตรมาสสุดท้ายที่สูงกว่าทุกปีที่ 3.1 หมื่นล้านบาท รวมทั้งปีมีเงินไหลเข้าสุทธิ 3.6 หมื่นล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นเงินไหลเข้ากองทุน RMF – Equity รวมราว 2.3 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ในปี 2563 มีกองทุนเปิดใหม่จำนวน 28 กองทุน โดยเกือบทั้งหมดเป็นกองทุนเปิดใหม่ในไตรมาสสุดท้าย รวมทั้งเป็นกองทุนต่างประเทศเป็นหลัก เช่น กลุ่ม Global Equity หรือ China Equity เป็นต้น

ผลตอบแทนเฉลี่ยกองทุน RMF มีกลุ่มกองทุนทองคำ (ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม RMF – Other) ที่มีผลตอบแทนเฉลี่ยสูงสุดรอบ 1 ปีที่ 15.9% ตามมาด้วยกลุ่มกองทุนหุ้น (RMF – Equity) เฉลี่ยที่ 4.3% ที่เป็นผลจากผลตอบแทนเป็นบวกของหุ้นต่างประเทศแต่กองทุนหุ้นไทยมีผลตอบแทนเฉลี่ยติดลบ ทั้งนี้ในรอบ 3 เดือนล่าสุดเฉลี่ยที่ 11% เนื่องจากการลงทุนหุ้นไทยที่ฟื้นตัว

อ่านข่าว

ส่อง “กองทุน” แห่งปี 63 ผลตอบแทนสูงสุด

กองทุน “หุ้นต่างประเทศ” แจกกำไรอู้ฟู่ ปี 63 ฝ่าวิกฤตโควิด-19

ปี 63 กองหุ้นไทยขนาดกลาง-เล็กชนะบิ๊กแคป “KTMSEQ” แชมป์ 23.92%