โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน
ปีใหม่ หลายคนมักจะถือช่วงเวลานี้ในการเริ่มต้นอะไรใหม่ๆให้ชีวิต อยากรู้จริงๆว่ามีกี่คนที่สามารถทำสิ่งที่ตั้งใจได้สำเร็จ เพราะไม่เห็นมีใครทำสำรวจเอาไว้
แต่ถ้าจะอ้างอิงรายงานวิจัยเมืองนอกเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา ก็มีวารสารจิตวิทยาคลินิก ของ University of Scranton ในสหรัฐอเมริกาได้ทำวิจัยเกี่ยวกับการตั้งปณิธานปีใหม่ พบว่า คนอเมริกันมีถึง 45% ที่ตั้งปณิธานปีใหม่ แต่มีเพียงแค่ 8% เท่านั้นที่ทำได้ตามที่หวังไว้ ส่วนอีก 24% ไม่เคยประสบความสำเร็จตามที่ตั้งใจไว้เลย ที่เหลืออีก 68% ทำได้บางส่วน
และยังมีมหาวิทยาลัยบริสตอลในประเทศอังกฤษ ก็ทำงานวิจัยคล้ายๆ กัน พบว่า 88% ไม่ประสบความสำเร็จในปณิธานที่ตั้งไว้ นอกจากนั้นยังพบว่า ยิ่งเวลาผ่านไปนานเท่าไร โอกาสทำได้ตามที่ตั้งใจก็ลดลงมากเท่านั้น
• สัปดาห์แรก คนทำตามที่ตั้งใจไว้ 75%
• สัปดาห์ที่ 2 ลดเหลือ 71%
• หนึ่งเดือนให้หลัง เหลือ 64%
• ผ่านไป 6 เดือน เหลือ 46%
และที่น่าสนใจอีกอย่างคือ อายุมีความสัมพันธ์กับความสำเร็จ โดยผู้ที่อยู่ในวัย 20-30 ปี ประสบความสำเร็จตามที่ตั้งใจ 39% ส่วนผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ประสบความสำเร็จเพียงแค่ 14% เท่านั้น) แสดงว่ายิ่งอายุมากขึ้น โอกาสที่จะล้มเลิกความตั้งใจก็มากยิ่งขึ้น
หากถามเหตุผลว่าทำไมถึงทำตามปณิธานไม่สำเร็จ ทุกคนคงมีเหตุผลต่างๆนานา จะเป็นเหตุผลจริงหรือ ข้อแก้ตัว เราก็รู้กันดีอยู่แก่ใจ แต่เหตุผลหนึ่งที่ผมเชื่อว่าเป็นเหตุผลที่เราล้มเหลวจริงๆ คือ อย่างที่ท่าน ว. วชิรเมธี เคยกล่าวไว้ว่า สาเหตุหนึ่งของความล้มเหลว คือ เราไม่ให้ค่าสิ่งนั้นมากพอ ดังนั้นเราจึงพร้อมที่จะหันเหไปทำอย่างอื่น หรือล้มเลิกความตั้งใจนั้นเมื่อเผชิญอุปสรรคเพียงเล็กน้อย หรือ บางทียังไม่ได้เจออุปสรรคเลย แต่เบื่อเอง
พูดถึงการตั้งปณิธานปีใหม่ ทำให้ต้องนึกถึงสมการ 2 ตัวที่ญี่ปุ่นใช้สอนเด็กอนุบาล คือ
1.01 ยกกำลัง 365 = 37.8
0.99 ยกกำลัง 365 = 0.03
1.01 ยกกำลัง 365 = 37.8 หมายความว่า ถ้าหากเราทำดีกว่าเมื่อวานแค่วันละ 1% ผ่านไป 1 ปี เราจะดีกว่าต้นปีถึง 37.8 เท่า
ในทางตรงข้าม 0.99 ยกกำลัง 365 = 0.03 หมายความว่า ถ้าหากเราเลือกทำตัวแย่กว่าเมื่อวานเพียงวันละ 1% ในเวลาเพียงหนึ่งปี คุณภาพหรือศักยภาพเราจะลดเหลือ 0.03 เท่าของต้นปี
และถ้าหากเราเอา 37.8 หารด้วย 0.03 จะได้คำตอบ คือ 1260 แปลว่า เมื่อผ่านไป 1 ปี คนที่ทำตัวดีกว่าเมื่อวานวันละ 1% จะมีศักยภาพหรือคุณภาพสูงกว่าคนที่ทำตัวแย่กว่าเมื่อวานวันละ 1% ถึง 1,260 เท่า
2 สมการนี้สอนเราว่า การจะประสบความสำเร็จในชีวิต ประกอบด้วยปัจจัย 2 อย่าง คือ
1.เลือก เลือกในสิ่งที่ถูก ก็สำเร็จ เลือกในสิ่งที่ผิด ก็ล้มเหลว
2.วินัย ยึดมั่น อดทนทำตามเป้าหมายจนกว่าจะสำเร็จ
ดังนั้นเรามาทำให้ปณิธานปีใหม่เราเป็นจริงกันใหม่ดีกว่า แล้วจะทำอย่างไรให้ปณิธานด้านการเงินประสบความสำเร็จ
1.ตั้งปณิธานที่ท้าทายที่เปลี่ยนชีวิตเราได้ และเป็นปณิธานที่เราต้องการจริงๆ ตัวอย่างเช่น หากให้เราเก็บเงินให้ได้ 10 ล้านบาท หลายคนอาจมองเป็นเรื่องยาก แต่หากเก็บเงินเพื่อให้ลูกได้เรียนอินเตอร์หรือเรียนนอก หลายคนกลับทำได้ ทั้งที่ค่าเล่าเรียนลูกไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาทเลย แต่ที่ทำสำเร็จเพราะเราให้ค่ากับการศึกษาลูก
2.ซอยเป้าใหญ่เป็นเป้าย่อย เป้าใหญ่อาจทำให้ท้อ หรือดูไกลเกินเอื้อม เช่น ตั้งเป้ามีเงินเก็บหลักล้านบาทใน 5 ปี แต่ถ้าเราซอยเป้าใหญ่ให้เป็นเป้าย่อย จะทำให้ความฝันเราเป็นจริงได้ อย่างเช่น น้องตูน วิ่งจากเบตงไปแม่สาย ใช้ระยะเวลา 55 วัน วิ่ง 2,000 กว่ากิโล ยอดเงินบริจาคไปมากกว่า 1,154 ล้านบาท ผมเชื่อนะว่าน้องตูนแบ่งเป้าหมายใหญ่ 2000 กว่ากิโล เป็นเป้าย่อย คือ วิ่งให้ได้วันละกี่กิโล วิ่งตอนช่วงไหนของวัน แต่ละวันต้องถึงจุดหมายที่ไหน ถ้าทำได้ตามเป้าหมายย่อยในแต่ละวัน สุดท้ายเป้าหมายใหญ่ก็จะถึงแน่นอน ดังนั้นถ้าเราซอยเป้าหมายใหญ่ให้เป็นเป้าหมายย่อยจาก 5 ล้านบาทใน 5 ปี เป็นใน 3 เดือนจะเก็บเงินให้ได้เท่าไหร่ ทำให้ดูแล้วความเป็นไปได้มีมากขึ้น และเห็นผลเร็ว เมื่อทำ 3 เดือนสำเร็จ ก็ตั้งเป้าหมายของอีก 3 เดือนถัดไป
3.ประกาศให้ทุกคนรู้ กำลังใจจากเพื่อน ๆ และคนในครอบครัวสามารถช่วยให้คนยึดมั่นในเป้าหมายได้ ผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะได้ประโยชน์จากเรื่องนี้มากกว่า
4.ทำทันที ทำต่อเนื่อง เรื่องที่อยากแนะนำให้ทำกัน ก็คือ การทำบัญชีรายรับ รายจ่าย รายวัน ทำทุกวัน เห็นผลทุกวัน ทำเรื่อยๆอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ก็จะเป็นนิสัย ขอบอกเลยครับ ผลที่ได้ดีมาก ทำให้เรามีวินัยการเงินดีขึ้นมาก อีกเรื่องที่อยากแนะนำ คือ หาความรู้ เราเคยได้ยินคำว่า “ดอกเบี้ยทบต้น” เรื่องความรู้ ก็มีคำว่า “ความรู้ทบต้น” เหมือนกัน ความรู้ที่เราได้มา เราสามารถทบต้นสร้างสรรค์สิ่งใหม่จากความรู้ที่เราได้มาได้
มาตั้งปณิธานปีใหม่ แล้วทำจริงจังกันนะ เผื่อวันขึ้นปีใหม่ปีหน้า เราอาจพบศักยภาพใหม่ของตัวเราได้นะ
อ่านบทความอื่นๆ
ความจริงความคิด : 10 เคล็ดลับการบริหารเงินต้อนรับปีใหม่ ตอนที่ 2