HoonSmart.com>>บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทยมองหุ้นสัปดาห์ถัดไป มีแนวรับที่ 1,430 และ 1,415 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,465 และ 1,485 จุด ส่วนค่าเงินบาท ธนาคารกสิกรไทยคาดแกว่งแถว 30.00-30.40 บาท
บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทยมองหุ้นสัปดาห์ถัดไป (7-11 ธ.ค.) ว่า ดัชนีหุ้นมีแนวรับที่ 1,430 และ 1,415 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,465 และ 1,485 จุดตามลำดับ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์โควิด-19 ทั้งในและต่างประเทศ ประเด็นการเมือง การประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ-จีน ตลอดจนประเด็น Brexit
ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนพ.ย. ขณะที่ข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ จีดีพีไตรมาส 3/63 ของยูโรโซนและญี่ปุ่น ตลอดจนข้อมูลเศรษฐกิจเดือนพ.ย.ของจีน
หุ้นไทยพลิกกลับมาปิดบวกได้ในช่วงปลายสัปดาห์ โดยดัชนีปิดที่ระดับ 1,449.83 จุด เพิ่มขึ้น 0.84% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 88,504.12 ล้านบาท ลดลง 8.33% ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 0.99% ปิดที่ 331.18 จุด
หุ้นร่วงลงช่วงต้นสัปดาห์ตามแรงขายของนักลงทุนต่างชาติและสถาบันรับผลการปรับลดน้ำหนักตลาดหุ้นไทยในดัชนี MSCI และย่อตัวลงอีกครั้งในช่วงกลางสัปดาห์ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 ทั้งในและต่างประเทศ
อย่างไรก็ดีหุ้นดีดตัวขึ้นในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ มีแรงหนุนจากความคืบหน้าในการพัฒนาวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ประกอบกับหุ้นกลุ่มพลังงานมีแรงหนุนจากผลการประชุมของโอเปกพลัส ขณะที่หุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์มีปัจจัยบวกจากการผ่อนเกณฑ์คุณสมบัติตราสารทางการเงินที่นับเป็นเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์โดยธปท.
สำหรับค่าเงินบาทสัปดาห์ถัดไป (7-11 ธ.ค.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวที่ 30.00-30.40 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยในประเทศที่ต้องติดตาม ได้แก่ มาตรการดูแลเงินบาทระยะที่ 2 ของธปท. ทิศทางเงินลงทุนต่างชาติ
เงินบาททยอยแข็งค่าขึ้นสอดคล้องกับทิศทางของสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค แต่สวนทางเงินดอลลาร์ฯ เผชิญแรงขายท่ามกลางความหวังต่อการใช้วัคซีนต้านโควิด-19 ประกอบกับมีปัจจัยลบเพิ่มเติมจากสัญญาณผ่อนคลายทางการเงินต่อเนื่องที่สะท้อนจากถ้อยแถลงของประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ขณะที่ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาทิ การจ้างงานภาคเอกชนและดัชนี ISM ภาคบริการเดือนพ.ย. ที่ออกมาดีน้อยกว่าที่ตลาดคาดก็เป็นปัจจัยกดดันเงินดอลลาร์ฯ ด้วยเช่นกัน
ในวันศุกร์ (4 ธ.ค.) เงินบาทอยู่ที่ระดับ 30.15 เทียบกับระดับ 30.29 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (27 พ.ย.)