กรุงศรีคาดศก.ปีหน้าโต 3.3% ส่งออก ลงทุนรัฐ-เอกชนหนุน

HoonSmart.com>>ธนาคารกรุงศรีอยุธยาเห็นเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว หนุนไทยพลิกกลับมาโต 3.3% จากในปีนี้จะหดตัว -6.4%  ได้แรงหนุนจากส่งออกโต การลงทุนทั้งภาครัฐ-เอกชนเพิ่มขึ้น เสนอรัฐออกมาตรการเพิ่มสภาพคล่อง จัดแคมเปญกระตุ้นท่องเที่ยว จูงใจให้เกิดการจ้างงาน  ดึงเงินออกจากกระเป๋าผู้มีรายได้สูง แนะไทยขยายความสัมพันธ์พร้อมพึ่งพาศักยภาพภายในภูมิภาคมากขึ้น  แก้หลักเกณฑ์เอื้อต่อการลงทุนหวังเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันของประเทศ  รมว.คลังส่งสัญญาณนโยบายเน้นการเติบโตยั่งยืน มีงบประมาณ 4 แสนล้านบาทสำหรับการฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจ

สมประวิณ มันประเสริฐ

นายสมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มฟื้นตัว เห็นทางสว่างมากกว่าในประเทศ ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยในปี 2564 พลิกกลับมาเติบโตได้  3.3% จากในปีนี้คาดว่าจะหดตัว -6.4% ปัจจัยหนุนมาจากการส่งออกที่จะขยายตัวได้ 4.5% จากปีนี้ที่ -7.5% และการลงทุนของภาครัฐจะขยายตัวต่อเนื่องจากปีนี้ที่ 10.5% ช่วยผลักดันการลงทุนภาคเอกชนและการบริโภคเติบโตตาม

ทั้งนี้ ตัวเลขส่งออกของเดือนต.ค. แม้ว่ายังหดตัว แต่เห็นว่าดีขึ้นในบางสินค้าและบางประเทศ ส่วนแนวโน้มเงินบาทคาดว่ายังคงแข็งค่าในปีหน้า

อย่างไรก็ตาม การท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นกลับมาอย่างรวดเร็ว และส่งผลต่อเนื่องต่อภาคบริการ รวมถึงกำลังซื้อที่ดีขึ้นแต่ยังติดลบ เพราะการพึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศถึง 2ใน 3 ธนาคารกรุงศรีฯได้ปรับลดจำนวนนักท่องเที่ยวลงเหลือ 4 ล้านคน จาก 7 ล้านคน ขณะที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติคาดไว้ที่ 5 ล้านคน เพราะยังเผชิญกับปัจจัยกดดันของโควิด-19 ต่อเนื่อง ประเทศยังไม่สามารถเปิดได้อย่างรวดเร็ว คาดว่ากว่าประเทศไทยจะได้วัคซีนมาใช้น่าจะเป็นช่วงครึ่งหลังของปี 2564 เป็นต้นไป อาจจะเร่งให้นักท่องเที่ยวต่างประเทศเพิ่มขึ้นในไตรมาส 4 ปีหน้า

” เศรษฐกิจไทยได้ผลบวกจากการฟื้นตัวตามวัฏจักร แต่กิจกรรมทางเศรษฐกิจถูกจำกัดโดยปัจจัยลบภายในประเทศ ซึ่งการชุมนุมทางการเมือง มีผลต่อเศรษฐกิจลดลง 0.6-1.1% อาจจะมีผลกระทบระยะยาว ต่อการท่องเที่ยวและการลงทุน จากการขาดความเชื่อมั่น และกว่าเศรษฐกิจจะกลับมาปกติ คงจะต้องรอถึงไตรมาส 3 ปี 2565 ซึ่งช้ากว่าที่ธนาคารแห่งประเทศไทยคาดการณ์ สิ่งที่กลัวตอนนี้คือ คนอื่นฟื้นแล้ว แต่ไทยยังไม่ฟื้นตาม” นายสมประวิณกล่าว

ในปี 2564 เริ่มต้นด้วยความหวัง ถ้าเชื่อว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวแรง ประเทศไทยยังต้องปรับตัวและใช้มาตรการช่วยเหลือ เช่น เรื่องสภาพคล่อง ที่ออกมาแล้วแต่ยังไม่เพียงพอ ยังขาดมาตรการส่งเสริมการใช้สินเชื่อใหม่ ธุรกิจที่กำลังจะกลับมาเปิด ยังต้องการสภาพคล่อง ขณะที่ยังไม่มีรายได้ รวมถึงมาตราการจูงใจให้เกิดการจ้างงาน เพื่อมีเงินไปใช้ต่อเนื่อง และการกระตุ้นการท่องเที่ยว ยังสำคัญโดยไม่ต้องใช้เงิน อาทิการสร้างแคมเปญ สนับสนุนท่องเที่ยวในประเทศ จะต้องอาศัยการบริโภคของผู้มีรายได้สูง คิดมีรายได้เดือนละ 25,000 บาท ที่มีสัดส่วน 30% แต่มีสัดส่วนรายจ่ายถึง 57% เป็นกลุ่มหลักในการขับเคลื่อนการบริโภค

นอกจากนี้ความคืบหน้าของการเข้าร่วมในความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ของไทยถือว่าเป็นปัจจัยหนุนต่อการช่วยผลักดันเศรษฐกิจในระยะต่อไป แต่โครงสร้างเศรษฐกิจยังต้องพึ่งพาจากภายนอกค่อนข้างมาก  การรวมกลุ่มความร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ จะเป็นกลไกขับเคลื่อนที่จะนำพาให้ขยายตัวได้มากขึ้น โดยที่ความร่วมมือ RCEP จะเป็นโอกาสในการขยายฐานการส่งออกไปสู่ประเทศที่มีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้น และเป็นกลุ่มประเทศที่ประชากรเริ่มมีกำลังซื้อสูงขึ้น ความสัมพันธ์การพึ่งพาทางการค้าภายในภูมิภาคมากขึ้น ช่วยสนับสนุนให้อาเซียนมีส่วนร่วมมากขึ้นในห่วงโซ่มูลค่าโลก  ปัจจุบันประเทศอาเซียนอยู่ในตำแหน่งที่แตกต่างกันบนซัพพลายเชนโลก  เช่น กัมพูชาอยู่ปลายน้ำ ส่วนอินโดนีเซียอยู่ต้นน้ำ ขณะที่ประเทศไทยอยู่ระดับกลาง  แสดงถึงโอกาสที่จะเอื้อประโยชน์ต่อกันและกัน สามารถดึงการลงทุนนอกกลุ่มเข้ามาในอาเซียน เช่น จากจีน ญี่ปุ่น และเกาหลี

สำหรับประเทศไทยลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างเดียวไม่เพียงพอ จะต้องปรับปรุงกฎเกณฑ์ให้เอื้อให้ทุกคนเข้ามาลงทุนทำธุรกิจ เปิดตลาดให้ง่ายขึ้น เพิ่มความสามารถแข่งขันของประเทศ

ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าว ว่า นโยบายในการพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาลภายหลังการระบาดของโควิด-19 จะเน้นการการเติบโตอย่างยั่งยืน ผ่านการมีส่วนร่วมของทุกคน และผ่านการลงทุนที่ให้ความสำคัญกับด้านสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก

รมว.คลังกล่าวว่า รัฐบาลมีงบประมาณ 4 แสนล้านบาทสำหรับการฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจ และจำเป็นต้องมีการปฏิรูปโครงสร้างภาษี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บ และการดำเนินการดังกล่าวยังจะช่วยส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว ส่วนภาคการท่องเที่ยวนั้น ประเทศไทยจะทยอยเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา แต่จะเป็นไปอย่างรอบคอบและระมัดระวัง จะเน้นกลุ่มที่มีการใช้จ่ายสูงมากกว่า