ไฟเขียวร่างกม.ทรัสต์ “จัดการทรัพย์สินส่วนบุคคล”

ครม.เห็นชอบร่างพ.ร.บ.ทรัสต์เพื่อการจัดการทรัพย์สินส่วนบุคคล หวังลดการนำทรัพย์สินไปบริหารนอกประเทศ กำหนดอายุกองทรัสต์ไม่เกิน 100 ปี

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (10 ก.ค.) มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ทรัสต์เพื่อการจัดการทรัพย์สินส่วนบุคคล พ.ศ…. โดยร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้จะเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการทรัพย์สินส่วนบุคคลให้มีประสิทธิภาพ และช่วยลดการนำทรัพย์สินออกไปบริหารจัดการนอกประเทศ รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพของระบบการเงินและสถาบันการเงิน เพื่อสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจรวม

พร้อมกันนั้น ครม.ยังรับทราบแผนการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรอง ซึ่งต้องออกตามร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวตามที่กระทรวงการคลังเสนอ

นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า สำหรับร่าง พ.ร.บ.ทรัสต์เพื่อการจัดการทรัพย์สินส่วนบุคคล พ.ศ… มีสาระสำคัญดังนี้

1.กำหนดให้นิยามของ “ทรัสต์” หมายถึง นิติสัมพันธ์ที่เกี่ยวกับทรัพย์สิน ซึ่งมีบุคคลที่เกี่ยวข้อง 3 ฝ่ายด้วยกัน ได้แก่ ผู้ก่อตั้งทรัสต์ ทรัสตี และผู้รับประโยชน์ โดยผู้ก่อตั้งทรัสต์ได้ทำสัญญาก่อตั้งทรัสต์ให้ทรัสตี ทำหน้าที่บริหารจัดการทรัพย์สินให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งทรัสต์ เพื่อประโยชน์ของผู้รับประโยชน์ ทั้งนี้ ระยะเวลาในการจัดการกองทรัสต์ได้กำหนดระยะเวลาจัดการกองทรัสต์ไม่เกิน 100 ปี

2.กำหนดขอบเขตการใช้ทรัสต์ โดยให้การก่อตั้งทรัสต์ตามพระราชบัญญัตินี้ต้องมีวัตถุประสงค์เพื่อการจัดการทรัพย์สินส่วนบุคคล และต้องไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อการระดมทุนจากประชาชนและการจัดการทรัสต์ที่อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายว่าด้วยทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน

3.คุณสมบัติของผู้ก่อตั้งทรัสต์ ทรัสตี และผู้รับประโยชน์ ได้แก่ (1) ผู้ก่อตั้งทรัสต์ อาจเป็นบุคคลหรือนิติบุคคลใด ๆ แต่ต้องไม่เป็นบุคคลเดียวกับทรัสตี และทรัสตีต้องไม่เป็นผู้รับประโยชน์ (2) ทรัสตี จะต้องได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจเป็นทรัสตีจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. (3) ผู้รับประโยชน์ เป็นบุคคลตามที่กำหนดในสัญญาก่อตั้งทรัสต์ แต่อาจเป็นผู้ก่อตั้งทรัสต์ได้ รวมทั้งผู้รับประโยชน์จะเป็นบุคคลรายเดียวหรือกลุ่มบุคคลก็ได้

4.กำหนดสิทธิประโยชน์และความคุ้มครองกองทรัสต์ เพื่อรักษาทรัพย์สินของกองทรัสต์ให้ยังคงอยู่ในกองทรัสต์

5.กำหนดหน้าที่และความรับผิดของทรัสตี โดยทรัสตีมีหน้าที่จัดการทรัพย์สินให้เป็นไปตามสัญญาก่อตั้งทรัสต์และพระราชบัญญัตินี้ โดยจะต้องจัดการทรัพย์สินด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ที่ดีที่สุดของผู้รับประโยชน์ และต้องจัดการทรัพย์สินด้วยความระมัดระวัง และเมื่อมีการผิดหน้าที่ในการจัดการกองทรัสต์หรือจัดการทรัพย์สินไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นไปตามสัญญา ทรัสตีต้องรับผิดชดใช้ความเสียหายให้แก่กองทรัสต์และผู้รับประโยชน์

6.การกำกับดูแลตามพระราชบัญญัตินี้ กำหนดให้คณะกรรมการ ก.ล.ต. เป็นผู้กำกับดูแลการให้ใบอนุญาตแก่ผู้ประกอบธุรกิจเป็นทรัสตี

นายพรชัย กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ จะเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการทรัพย์สินส่วนบุคคลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดการนำทรัพย์สินออกไปบริหารจัดการนอกประเทศ รวมทั้งทำให้ประชาชนตั้งแต่รายเล็กไปจนถึงกลุ่มธุรกิจของครอบครัวขนาดใหญ่ มีเครื่องมือในการใช้ทรัสต์เป็นทางเลือกใหม่ในการบริหารจัดการทรัพย์สินส่วนบุคคลให้มีประสิทธิภาพมาก รวมทั้งตอบสนองเจตจำนงในการส่งต่อทรัพย์สินไปยังทายาทในรุ่นถัดไป โดยไม่ต้องกังวลใจในเรื่องการตกทอดทรัพย์สิน