HoonSmart.com>> 4 หุ้น IPO ได้ฤกษ์งาม เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เดือนต.ค.นี้ 2 น้องใหม่ SET “ปลูกผักเพราะรักแม่” หรือ OKJ เทรด 4 ต.ค.นี้ คาดได้รับความสนใจสูง แบรนด์ดัง “โอ้กะจู๋” สถาบันจองซื้อหุ้นล้น 11 เท่า เร่งเดินเครื่องต่อยอดแบรนด์ใหม่ “เมดีซ กรุ๊ป” (MEDEZE) ผู้นำธุรกิจสเต็มเซลล์ คาดราคาร้อนแรง นักลงทุนวิ่งหาหุ้นจองกันให้ควัก กำไรอยู่ในช่วงวัฎจักรขาขึ้น บล.หยวนต้าให้เป้าปีหน้า 12.60 บาท
ส่วนน้องใหม่ ตลาดหลักทรัพย์ mai “ไทย ออโต ทูลส์ แอนด์ ดาย” (TATG) เคาะราคาขายที่ 1.25 บาท P/E เพียง 5.2 เท่า เปิดจองซื้อ 30 ก.ย. – 2 ต.ค.นี้ ผลงานครึ่งปีนี้โกยกำไร 46 ล้านบาท เกือบเท่าทั้งปีก่อนที่ 48 ล้านบาท “อินเตอร์รอแยล เอ็นจิเนียริ่ง” (IROYAL) ชูจุดแข็ง ไตรมาส 1/67 กำไรสุทธิกระโดด 130.76% อัตรากำไรสุทธิสูงลิ่ว 38.35% กอดลูกค้า Blue chip ในมือ ทั้งกฟผ.-ไฟฟ้าหงสา (ใน สปป. ลาว) เพิ่มกลุ่มลูกค้าและธุรกิจใหม่ กลยุทธ์ One Stop Service ปักธงมุ่งสู่ผู้นำธุรกิจด้านโซลูชั่นพลังงานไฟฟ้า รุกสู่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ 3 นักวิเคราะห์ตีราคาเหมาะสมที่ 10.20-10.50 บาท เฉลี่ย 10.33 บาท
บริษัท ปลูกผักเพราะรักแม่ หรือ โอ้กะจู๋ (OKJ) ประสบความสำเร็จในการเสนอขายหุ้น IPO จำนวน 159 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.5 บาท ในราคาหุ้นละ 6.70 บาท นักลงทุนสถาบันให้ความสนใจจองซื้อล้นถึง 11 เท่า คาดว่าจะเข้ามาเก็บในวันแรกที่เข้าซื้อขาย 4 ต.ค. 2567 เช่นเดียวกับ OR ซื้อบิ๊กล็อต 31.8 ล้านหุ้น บล.บัวหลวงมองราคาขายที่ P/E 24.13 เท่า มีแนวโน้มลดลงตามผลกำไรจากแนวโน้มสินค้าสุขภาพมาแรง ให้ราคาพื้นฐาน 7.9-8.1 บาท ทั้งนี้หุ้นที่มีธุรกิจใกล้เคียงกัน อาทิ บริษัท อาฟเตอร์ ยู (AU) เทรดที่ P/E ระดับ 30.5 เท่า และบริษัท มากุโระ (MAGURO) P/E ระดับ 31.0 เท่า
นอกจากนี้ ผู้ถือหุ้นเดิมล็อคหุ้นไว้ 55% เป็นเวลา 1 ปีและยังนำมาวางกับบล.บัวหลวงอีก 6 เดือน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน ด้านผลการดำเนินงาน 3 ปีที่ผ่านมา (2564-2566) มีการเติบโตที่ดี รายได้โตเฉลี่ย 46% กำไรขั้นต้นมากกว่า 40% อัตรากำไรสุทธิเกือบ 10% ส่วนเงินที่ระดมทุนได้ 1,023.9 ล้านบาท นำไปลงทุนสร้าง New S-Curve เช่น สร้างแบรนด์ใหม่ สร้างครัวกลางแห่งใหม่ และขยายสาขา ปัจจุบันมี 37 สาขา ตั้งเป้าเพิ่มเป็น 90 สาขาในปี 2571 เพิ่มศักยภาพในการดำเนินธุรกิจและขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อต่อยอดการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน
ส่วนหุ้นบริษัท เมดีซ กรุ๊ป (MEDEZE) ผู้นำด้านการให้บริการตรวจวิเคราะห์ คัดแยก เพาะเลี้ยง และรับฝากเซลล์ต้นกำเนิด (Stem Cells) และตรวจศักยภาพเซลล์ภูมิคุ้มกัน (NK Cells) ทางด้านที่ปรึกษาทางการเงิน บล.หยวนต้า(ประเทศไทย)ประเมินมูลค่าเหมาะสมในปี 2568 ที่ 12.60 บาท จากการมองธุรกิจน่าสนใจ เนื่องจากเป็นธุรกิจเงินสด สภาพคล่องสูง ไม่มีภาระหนี้สิน ธุรกิจอยู่ในช่วงวัฎจักรขาขึ้น ด้วยผลการดำเนินงานที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง 3 ปีที่ผ่านมา (2564-2566) กำไรสุทธิเติบโตเฉลี่ย 45% รวมถึงในปี 2567-2568 หากอิงสมมุติฐานของกำไรปีหน้าที่ 435 ล้านบาท จำนวนหุ้นหลัง IPO ที่ 1,068 ล้านหุ้น จะได้กำไรต่อหุ้นที่ 0.41 บาท ให้ P/E ที่เหมาะสมที่ 31 เท่า
” เมดีซ กรุ๊ป เป็นผู้นำธุรกิจสเต็มเซลล์ ดำเนินธุรกิจมานานมากกว่า 14 ปี มีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับที่ 1 ในประเทศไทย จุดเด่นมีฝ่ายวิจัย R&D ของตัวเอง ทำให้มีนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เหนือคู่แข่ง เช่นเทคโนโลยีเพาะเลี้ยง Stem Cells จากไขมันได้ นับเป็นรายแรกที่ทำได้มีกลุ่มลูกค้าทุกเพศและทุกวัย สามารถเก็บ Stem Cells เด็ก ผู้ใหญ่และคนแก่ได้ แตกต่างจากคู่แข่งที่ส่วนใหญ่เก็บได้แต่เด็ก โดยมีเครือข่ายที่แข็งแกร่ง ที่ติดต่อกว่า 238 แห่ง เช่น โรงพยาบาลกรุงเทพ และสมิติเวช”
ส่วนเงินที่ระดมได้จาก IPO นำไปลงทุนในปี 2568 ขยายธุรกิจเซลล์รากผม ถือเป็นตลาดใหญ่ที่มีแนวโน้มเติบโตสูง โดยมูลค่าตลาดปลูกผมในไทยสูงถึง 2,100 ล้านบาทในปี 2566 ที่ผ่านมา คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 20% ต่อปีในช่วง 2 ปีข้างหน้า และลงทุนติดตั้งระบบการจัดเก็บเซลล์ด้วยหุ่นยนต์ ช่วยเพิ่มรายได้และศักยภาพในการทำกำไร
สำหรับน้องใหม่ตลาด mai บริษัท ไทย ออโต ทูลส์ แอนด์ ดาย ตั้งราคาขายที่หุ้นละ 1.25 บาท P/E ภายหลังการเสนอขายหุ้น (Fully Diluted) เท่ากับ 5.2 เท่า มีศักยภาพการเติบโตของธุรกิจในการเป็นผู้นำธุรกิจออกแบบและผลิตเครื่องมือสำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ (Tooling) ภายใต้โรงงานผลิต 4 แห่ง ยกระดับฐานการผลิตให้เป็นสายการผลิตระบบอัตโนมัติ นำเทคโนโลยีเข้ามาเสริมทัพยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ และรองรับรถยนต์ไฟฟ้าแบบเต็มขั้น อีกทั้งด้วยความเชี่ยวชาญของผู้บริหารตลอด 30 ปี ตั้งเป้าหมายมุ่งสู่ผู้นำในอุตสาหกรรมแม่พิมพ์โลหะและชิ้นส่วนยานยนต์ในภูมิภาคอาเซียน
ดร.พยุง ศักดาสาวิตร ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทย ออโต ทูลส์ แอนด์ ดาย กล่าวว่า บริษัทฯเข้าตลาด mai เพื่อยกระดับองค์กรสู่มาตรฐานสากล และเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน ในฐานะผู้ผลิตแม่พิมพ์โลหะ อุปกรณ์จับยึด และผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์รายใหญ่ ที่สามารถให้บริการลูกค้าแบบครบวงจร บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาสำหรับงานด้านการออกแบบและผลิตเครื่องมือกล (Tooling) เพื่อสนับสนุนให้สามารถออกแบบแม่พิมพ์และสามารถผลิตชิ้นส่วนที่มีคุณภาพให้เป็นไปตามที่ลูกค้ากำหนด รวมถึงการเตรียมความพร้อมสู่ตลาดรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ตอกย้ำให้ TATG เป็นบริษัทชั้นนำของคนไทย ที่สามารถแข่งขันกับผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์จากต่างประเทศ
ด้านผลงานในรอบ 6 เดือน/2567 บริษัทฯ มีรายได้รวม 1,340.11 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 45.87 ล้านบาท เทียบกับปี 2566 มีรายได้รวม 3,002.91 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 47.86 ล้านบาท มีทิศทางที่ดีขึ้น ลูกค้าทยอยกลับมาทำการตลาด เปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ๆ มากขึ้น บริษัทฯ ได้วางแผนและเตรียมความพร้อมสำหรับการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์และแม่พิมพ์โลหะ การลงทุนในเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความรวดเร็วในการผลิต ลดต้นทุน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สนับสนุนให้ TATG เติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน
ทางด้านบริษัทอินเตอร์รอแยล เอ็นจิเนียริ่ง (IROYAL) นายภณภัทร เมฆาสุวรรณดำรง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าวว่า ไตรมาส 1/2567 บริษัทฯ มีรายได้รวม 86.37 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากการขาย 61.13 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 73.78% และรายได้จากการขายพร้อมติดตั้ง 21.72 ล้านบาท สัดส่วน 26.22% โดยมีกำไรสุทธิ 33.13 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 130.76% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อัตรากำไรสุทธิ สูงที่ 38.35% ส่วนใหญ่งานในมือ (Backlog) มาจากกลุ่มลูกค้า Blue chip อาทิ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และบริษัท ไฟฟ้าหงสา (โรงไฟฟ้าหงสา สปป.ลาว)
บริษัทฯ ยังคงมุ่งมั่นที่จะขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ มากขึ้น เช่น โรงกลั่นน้ำมันหรือโรงปิโตรเคมี โรงงานปูนซีเมนต์ และได้เริ่มขยายฐานลูกค้าด้วยการสรรหาผลิตภัณฑ์อื่นๆ เพิ่มเติม เช่น ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในระบบสำรองไฟฟ้าและพลังงาน เน้นกลุ่มโรงแรม อาคารขนาดใหญ่ อาคารโรงพยาบาล หรือศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่ เป็นต้น พร้อมการให้บริการที่ครบวงจร (One Stop Service) เพื่อขึ้นแท่นสู่ผู้นำธุรกิจด้านโซลูชั่นพลังงานไฟฟ้าในอนาคตและรุกสู่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของประเทศ เพื่อให้ธุรกิจมีความหลากหลายและกว้างไกล สร้างความเข้มแข็งอยู่แล้ว ให้มีการเติบโตควบคู่กันไปเช่นกัน
ด้านบทวิเคราะห์จากบล. เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) มองว่า IROYAL มีศักยภาพในการเติบโตจากการขยายฐานลูกค้าจากกลุ่มโรงไฟฟ้าไปสู่กลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ คาด 3 ปีข้างหน้า (2567-2569 )กำไรเติบโตต่อปี (CAGR) 37% ภายใต้การคาดการณ์ Fully-diluted EPS ปี 2568 ที่ 0.70 บาท อ้างอิง P/E ที่ 15 เท่า ได้ราคาเป้าหมาย 10.50 บาท แม้การขยายไปกลุ่มธุรกิจอื่นจะมีอัตรากำไรต่ำกว่ากลุ่มโรงไฟฟ้า แต่เกิดคำสั่งซื้อซ้ำ สร้างรายได้ประจำ (Recurring income) ในอนาคต
บล.ทรีนีตี้ ประเมินว่า IROYAL มีฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง ไม่มีหนี้กับสถาบันการเงิน ความสามารถทำกำไรที่ดี คาดปี 2567-2568 กำไรจะเติบโตเฉลี่ย 37% จากการมีโอกาสรับงานใหม่มากขึ้น ส่งผลให้กำไรขั้นต้นสูงขึ้นตามรายได้ อัตรากำไรสุทธิอยู่ในเกณฑ์ที่ดีมากกว่า 20% ประเมินราคาเป้าหมายในปี 2568 อยู่ที่ 10.20 บาท อ้างอิง P/E ที่ 17 เท่าใกล้เคียงกับ P/E เฉลี่ย 20 เท่าของกลุ่มหุ้นในต่างประเทศ ซึ่งคล้ายคลึงกับธุรกิจ IROYAL และประเมินกำไรต่อหุ้นที่ 0.60 บาท
บล.ไอร่าประเมินว่า IROYAL มีความโดดเด่นและมีความได้เปรียบเหนือคู่แข่ง มีผลงานและประสบการณ์รวมกว่า 40 ปี อยู่ในอุตสาหกรรมที่คู่แข่งขันน้อยราย ลูกค้ามี Switching Cost ที่สูง และเป็นบริษัทใช้โมเดลธุรกิจแบบ Asset-Light สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานและการบริหารจัดการเงินทุนได้สูงสุด รวมถึงมีอัตราการซื้อซ้ำของลูกค้ากลุ่มเดิมที่สูง นอกจากนี้ ยังเป็นบริษัทมีแผนที่จะเติบโตแบบ Inorganic Growth ประเมินมูลค่าหุ้น IROYAL ในปี 2568 ที่ 10.28 บาท กำไรต่อหุ้นที่ 0.72 บาท