บล.หยวนต้าชู 9 หุ้นเด่นรับมาตรกระตุ้นศก.หนุนกลุ่มอาหาร-เครื่องดื่ม

HoonSmart.com>> บล.หยวนต้า คัด 9 หุ้นเด่นรับมาตรการกระตุ้นการบริโภคในประเทศ เน้น “กลุ่มอาหาร-เครื่องดื่ม ผู้ประกอบการขนาดเล็ก” ชูหุ้นใน SET100 ยัง Laggard ตลาดในช่วง 1-3 เดือน “MINT, CRC, CPALL, BJC, OSP” ส่วนหุ้นกลาง เล็กน่าจับตา “TACC, TKN, AU, M” พร้อมเกาะติดการเมือง

บริษัทหลักทรัพย์หยวนต้า (ประเทศไทย) ออกบทวิเคราะห์กรณีศูนย์บริหารสถานการณ์ เศรษฐกิจ (ศบศ.) ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวและการบริโภคในประเทศ วงเงินรวมกว่า 6.8 หมื่นล้านบาทว่า ทุกครั้งที่มีมาตรการกระตุ้นการบริโภคในประเทศ กลุ่มที่มัก Outperform คือ ค้าปลีก อาหาร เครื่องดื่ม สินค้าไอที และไฟแนนซ์ แต่เนื่องจากรอบนี้เน้นกลุ่มอาหาร+เครื่องดื่ม และผู้ประกอบการขนาดเล็ก กลุ่มที่จะได้ประโยชน์มากที่สุดจึงเป็นค้าปลีกที่เน้นอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งหุ้นใน SET100 ที่ยัง Laggard ตลาดในช่วง 1-3 เดือน คือ MINT, CRC, CPALL, BJC, OSP

ส่วนหุ้นขนาดกลาง-เล็กที่น่าจับตาคือ TACC, TKN, AU, M โดยในเชิงของแรงหนุนจากนโยบายการคลัง

“เรายังให้ติดตามปัจจัยการเมืองในประเทศ ที่อาจกระทบกับความต่อเนื่องในการออกมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อในอนาคต ซึ่งจะทำให้ 8 หุ้นแนะนำข้างต้นไม่สามารถสะท้อนปัจจัยบวกที่เราคาดหวังได้อย่างเต็มที่”บล.หยวนต้า ระบุ

บล.หยวนต้า มองศบศ.ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบค่อยเป็นค่อยไป ยังไม่พอที่จะกระตุ้น GDP และ SET INDEX ให้กระชากตัวขึ้นแรง เพราะการลงทุนภาครัฐฯและเอกชนยังอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่ การส่งออกยังไม่ฟื้นเท่าที่ควร การกระตุ้นภาคบริโภคตัวแปรเดียว จึงทำได้เพียงประคองเศรษฐกิจไม่ให้ทรุดหนักกว่าเดิม โดยคาดหวังว่ามาตรการในลักษณะร่วมกันจ่าย จะช่วยหนุนสภาพคล่อง และทำให้กระแสเงินในระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนได้ดีขึ้น

สำหรับ 3 มาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ

(1) มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ เริ่ม 1 ก.ย. 63

(1.1) เพิ่มสิทธิให้ผู้ลงทะเบียน “เราเที่ยวด้วยกัน” โดยเพิ่มส่วนลดค่าที่พัก 40% จำนวน 10 คืน/คน และเพิ่มคูปองอาหารต่อการท่องเที่ยวสูงสุด 900 บาท/วัน (วันจันทร์ – พฤหัสบดี 900 บาท และวันศุกร์ – อาทิตย์ 600 บาท)
(1.2) ให้เงินคืนค่าตั๋วเครื่องบิน จำนวน 2,000 บาท/ที่นั่ง
(1.3) ให้ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง และพนักงานรัฐวิสาหกิจ ที่ลงทะเบียนและใช้สิทธิในแพ็กเกจเราเที่ยวด้วยกัน ไปพักผ่อนในวันธรรมดาเพิ่มได้ 2 วัน โดยไม่ถือเป็นวันลา

(2) มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายวงเงิน 4.5 หมื่นล้านบาท ให้สิทธิผู้มีสัญชาติไทยอายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 15 ล้านสิทธิ รัฐบาลช่วยค่าครองชีพ 3,000 บาท โดยมีเงื่อนไขใช้ได้ไม่เกิน 100-250 บาท/วัน รัฐบาลช่วยจ่าย 50% เน้นอาหารและเครื่องดื่ม ตั้งแต่ ต.ค.-ธ.ค. 63

(3) มาตรการส่งเสริมการจ้างงานผู้จบการศึกษาใหม่ 3 กลุ่ม (ป.ตรี ปวส. และ ปวช.) ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน 260,000 อัตรา โดยรัฐบาลจะสนับสนุนเงินค่าจ้าง 50% ของเงินเดือนตามวุฒิการศึกษา เป็นเวลา 12 เดือน (1 ต.ค. 63 – 30 ก.ย. 64) ตามอัตราค่าจ้าง ป.ตรี 15,000 บาท/เดือน, ปวส. 11,500 บาท/เดือน, ปวช. 9,400 บาท/เดือน

นอกจากนี้มองว่า มาตรการยังไม่แรงพอให้เศรษฐกิจฟื้นเร็ว เพราะยังไม่เน้นสินค้าคงทนที่ทรุดหนัก อย่างไรก็ตามถ้าพิจารณาจากองค์ประกอบของ GDP ใน 2Q63 กลุ่มที่ทรุดหนักสุดคือ การสะสมทุนถาวรหรือการก่อสร้างและการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักร -8.0% YoY ขณะที่ การบริโภคภาคเอกชน -6.6% YoY แต่เพราะมีสัดส่วนมากถึง 56% ของ GDP รัฐบาลจึงให้ความสำคัญในการกระตุ้นเป็นอันดับแรก

หากอิงมาตรการชิมช้อปใช้ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน ที่ใช้กระตุ้นกำลังซื้อใน 4Q62 พบว่าไม่ได้ช่วยหนุนการบริโภคภาคเอกชนมากนัก โดยโตเพียง 4.1% YoY ต่ำสุดในรอบปี (ค่าเฉลี่ยปี 2562 อยู่ที่ 4.5% YoY) ขณะที่ องค์ประกอบอื่นของ GDP ยังถดถอยต่อเนื่อง ส่วนมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว เรามองเป็นเพียงการปรับเงื่อนไขเพื่อจูงใจให้ใช้สิทธิมากขึ้นเท่านั้น ผลกระทบต่อ GDP และ SET INDEX ในมุมมองของเราจึงค่อนข้างเป็นกลาง

อย่างไรก็ตาม มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายรอบนี้มีจุดดีตรงที่เป็นการร่วมจ่าย จึงน่าจะช่วยดึงเงินของผู้ที่มีเงินเหลือไปช่วยผู้ที่ขาดเงินได้มากขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยที่ช่วยกระตุ้นสภาพคล่องและการหมุนเวียนของเงินในระบบเศรษฐกิจได้ดีกว่าการที่รัฐบาลเป็นผู้จ่ายฝ่ายเดียว

บล.หยวนต้า มองว่า สำหรับมาตรการที่ออกมาแล้วจะช่วยหนุน SET INDEX ในช่วงวิกฤติเช่นนี้ เรายังคงให้ความสำคัญกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและมาตรการทางภาษี ควบคู่ไปกับการช่วยเหลือค่าครองชีพ โดยถ้าย้อนไปช่วงที่รัฐบาลมีการลงทุนสูงในปี 2553-2556 GDP โตเฉลี่ย 5% ต่อปี และ SET INDEX ปรับตัวขึ้นถึง 18% ต่อปี เทียบกับ 5 ปีที่ผ่านมา (2558-2563) ที่การลงทุนโตเฉลี่ยเพียง 1.8% ต่อปี และ SET INDEX ปรับตัวขึ้นเพียง 5% ต่อปี