โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน
วันก่อน เพื่อนโทรมาปรึกษา ถูกล้วงกระเป๋าในนั้นมีเอกสารสำคัญ ทั้งบัตรประชาชน บัตรเครดิต ฯลฯ ทำไงดี ก็แนะนำบัตรประชาชนหายให้ไปติดต่อแจ้งขอทำบัตรประชาชนใหม่ ณ สำนักงานเขต ใช้แค่สำเนาทะเบียนบ้าน กับเอกสารราชการที่มีรูปถ่ายของเจ้าของบัตร เช่น ใบขับขี่ หนังสือเดินทาง ฯลฯ พร้อมค่าธรรมเนียม 20 บาท ง่ายมากไม่ต้องกังวล
ส่วนบัตรเครดิตหายก็รีบโทรแจ้งแบงค์เจ้าของบัตรขออายัดบัตรไว้ก่อนเลย เดี๋ยวถ้ามีคนเอาไปรูดปรื้ดแล้วจะยุ่ง ปรากฎว่าขนาดรีบแจ้งแล้ว ขโมยตัวแสบก็เอาบัตรไปรูดปรื้ดหลายหมื่นบาทเลย ทีนี้เลยกลุ้มใจว่าจะต้องรับผิดชอบหนี้ที่ตัวเองไม่ได้ก่อหรือไม่ ไปดูข้อตกลงการใช้บัตรเครดิตระหว่างธนาคารผู้ออกบัตร กับผู้ถือบัตร ก็มีเขียนว่า ธนาคารจะไม่รับผิดชอบในยอดค่าใช้จ่ายก่อนที่จะมีการอายัดบัตร แปลว่า ผู้ถือบัตรจะต้องรับผิดชอบในยอดที่โจรซื้อของเอง เหตุเป็นเพราะผู้ถือบัตรแจ้งอายัดบัตรช้าเกินไป ใช่ป่าว
กังวลแทนเพื่อนเลยต้องรีบปรึกษาอากู๋ (google) ทำไงดี ก็พบบทความ “บัตรเครดิตสูญหาย: ใครรับผิดหนี้(โจรกรรม)?
“ของ อาจารย์ปรวิชย์ มะกรวัฒนะอัยการผู้เชี่ยวชาญ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายสถาบันกฎหมายอาญา เขียนถึงเรื่องนี้ ขอสรุปคร่าว ดังนี้ (ใครสนใจไปหาอ่านฉบับเต็มได้นะ)
…ธนาคารจะออกบัตรเครดิตให้แก่บุคคลที่ธนาคารได้ไว้วางใจและมีสถานะทางการเงินหรือเครดิตที่ดีเท่านั้น การเป็นผู้ถือบัตร ย่อมแสดงให้เห็นถึงว่าเป็น “บุคคลหรือลูกหนี้เฉพาะเจาะจง” ที่ธนาคารอนุญาตให้ก่อหนี้กับธนาคารได้เท่านั้น ผู้ถือบัตรจะอนุญาตให้บุคคลอื่นนำบัตรเครดิตไปรูดแทนตนเองไม่ได้ ธนาคารจึงมีข้อกำหนดเพิ่มเติมให้ทำบัตรเสริมได้ แสดงให้เห็นว่า แม้แต่ผู้ถือบัตรเสริม ก็ยังเป็น “บุคคลหรือลูกหนี้เฉพาะเจาะจง” ที่ธนาคารต้องอนุญาตให้ก่อหนี้กับธนาคารได้ เท่านั้น ดังนั้น บุคคลที่ไม่ใช่คู่สัญญากับธนาคารเจ้าของบัตร เช่นโจรหรือขโมย จึงไม่มีสิทธิใช้หรือทำธุรกรรมในบัตรใบนั้นได้….
การใช้บัตรเครดิตอธิบายได้ด้วยกฎหมายนิติกรรมสัญญาและเรื่องหนี้ ผู้ถือบัตรต้องรับผิดในยอดเงินที่ผู้ถือบัตรได้ใช้จ่ายไปจริงเท่านั้น ธนาคารและร้านค้ามีหน้าที่ต้องตรวจสอบว่าผู้รูดบัตรเครดิตนั้น เป็นผู้รับอนุญาตให้ถือบัตรโดยแท้จริงหรือไม่ เช่น ตรวจสอบลายมือชื่อหลังบัตร ตรวจสอบหน้าจากบัตรประชาชนหรือหนังสือเดินทาง ส่วนธนาคารก็ต้องตรวจสอบลายเซ็นในสลิปใบเสร็จว่าตรงกับลายเซ็นของผู้ถือบัตรตัวจริงที่ให้ไว้กับธนาคารด้วยหรือไม่ แต่ในทางปฏิบัติไม่ตรวจสอบกัน เมื่อธนาคารกับร้านค้าหละหลวมะผลักภาระให้เป็นความรับผิดชอบของเจ้าของบัตรผู้ทำบัตรสูญหายย่อมไม่ได้ เพราะเมื่อมีการโจรกรรมบัตรเครดิตขึ้นมา ถือว่ามีความผิดอาญาเกิดขึ้น บัตรเครดิตดังกล่าวจะถูกนำไปใช้โดยบุคคลใด ไม่ว่าจะเป็นโจร ขโมยหรือบุตรของเจ้าของบัตร ย่อมถือว่าเป็นนิติกรรมที่เป็นโมฆะทั้งสิ้น เพราะหนี้อันเกิดจากกิจกรรมที่ผิดกฎหมายนั้นย่อมมีผลเป็นโมฆะตามกฎหมาย เช่นเดียวกับหนี้การพนัน และหนี้การค้ายาเสพติด ที่มิอาจฟ้องหรือชำระความกันใดๆ ได้เลยทางกฎหมาย
แล้วอย่างนี้ ใครเป็นผู้เสียหายจากหนี้บัตรที่โจรรูดไปใช้ เรื่องนี้อาจารย์ปรวิชย์กล่าวว่า บัตรเครดิตนั้น “เป็นกรรมสิทธิ์ของ” ธนาคารเจ้าของบัตรซึ่งได้อนุญาตให้ผู้ถือยืมบัตรภายใต้อายุการใช้บัตรเครดิตเท่านั้น ทั้งนี้ เพราะธนาคารเป็นผู้มีอำนาจก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวนและระงับซึ่งกรรมสิทธิ์ในการใช้บัตรได้อยู่ตลอดเวลา
ดังนั้นธนาคารเจ้าของบัตรเครดิตและร้านค้าที่ถูกโจรกรรมจึงเป็นผู้เสียหายร่วมกันในความผิดฐานฉ้อโกงสินค้าในร้านค้าผ่านบัตรเครดิต เพราะการโจรกรรมได้เกิดขึ้นจากการที่โจรสวมรอยหรือหลอกลวงให้ร้านค้าและธนาคารเข้าใจผิดในสถานะที่ถูกต้องของตัวบุคคลและลายเซ็นของผู้ถือบัตรเครดิต ถ้ามีการดำเนินคดี ธนาคารเจ้าของบัตรและร้านค้าก็จะเป็นโจทก์ร่วมหรือผู้เสียหายร่วมกันในคดีฉ้อโกงบัตรเครดิต ส่วนผู้ถือบัตรนั้นมีฐานะเป็นเพียงพยานในคดีเท่านั้น เพราะว่าผู้ถือบัตรมิได้มีส่วนได้เสียหรือเกี่ยวข้องกับธุรกรรมที่มีการโจรกรรมแต่อย่างใด
แล้วอย่างนี้ ผู้ถือบัตรยังต้องแจ้งอายัดเมื่อบัตรหายหรือไม่ ต้องแจ้งครับ เพียงแต่ตามกฎหมายการที่ผู้ถือบัตรเครดิตแจ้งอายัดบัตรให้ธนาคารออกบัตรใบใหม่แทนบัตรใบเดิมที่หายไปนั้นเป็นเพียงการขอระงับการใช้บัตรใบเดิมและเพื่อขอออกบัตรใหม่เพื่อความสะดวกในการใช้จ่ายทางธุรกิจเท่านั้น การแจ้งอายัดบัตรเป็นเพียงการแจ้งเตือนเพื่อให้ธนาคารผู้ออกบัตรซึ่งเจ้าของบัตรที่แท้จริงได้ทราบว่า บัตรเครดิตของธนาคารใบนั้นอาจจะกำลังมีผู้โจรกรรมในอนาคตและ “ธนาคารกำลังจะตกเป็นผู้เสียหาย” ที่จะต้องไปใช้สิทธิแจ้งความตามกฎหมายอาญาร่วมกับร้านค้าที่กำลังจะถูกรูดซื้อสินค้าไป
สรุปได้ว่า ในการโจรกรรมบัตรเครดิตนั้น ผู้ถือบัตรเครดิตที่ทำบัตรหาย มิได้ก่อให้เกิดหนี้หรือธุรกรรมใดๆ ที่ตนจะมีส่วนต้องรับผิดชอบในยอดค่าใช้จ่ายภายใต้หลักกฎหมายเรื่องหนี้และนิติกรรมสัญญาแต่อย่างใดเลย
เรามาดูคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2840/2550 ซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้กันครับ
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 102,677.52 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 17 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน 90,460 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า… ข้อตกลงและเงื่อนไขการใช้บัตรเครดิตของโจทก์ ข้อ 11 ระบุว่า บัตรเครดิตนี้ธนาคารได้ออกให้และสงวนไว้เฉพาะผู้ถือบัตรเท่านั้น ห้ามมิให้ผู้ถือบัตรยินยอมอนุญาตหรือนำบัตรเครดิตไปให้บุคคลอื่นใช้ ดังนั้น ในกรณีที่มีบุคคลอื่นนำบัตรเครดิตของโจทก์ที่ออกให้แก่จำเลยไปใช้ชำระค่าสินค้าและค่าบริการแก่สถานประกอบกิจการและร้านค้าเป็นการใช้บัตรเครดิตซึ่งมิได้เป็นไปโดยถูกต้องตามประเพณีปฏิบัติและหรือเงื่อนไขการใช้บัตรเครดิตของโจทก์ จำเลยซึ่งเป็นผู้ถือบัตรเครดิตจะต้องรับผิดชำระหนี้อันเกิดจากการที่มีบุคคลอื่นนำบัตรเครดิตของโจทก์ไปใช้ต่อเมื่อจำเลยได้ยินยอม อนุญาตหรือนำบัตรเครดิตของโจทก์ไปให้บุคคลอื่นใช้ตามข้อตกลงดังกล่าวข้างต้น การที่บัตรเครดิตของจำเลยถูกคนร้ายลักไปย่อมแสดงให้เห็นอยู่ในตัวว่าจำเลยมิได้ยินยอมอนุญาตหรือนำบัตรเครดิตของโจทก์ไปให้บุคคลอื่นใช้ตามข้อตกลงและเงื่อนไขการใช้บัตรเครดิตดังกล่าวแต่อย่างใด จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ที่บุคคลอื่นนำบัตรเครดิตของโจทก์ไปใช้
ส่วนข้ออ้างตามฎีกาของโจทก์ที่ว่า จำเลยมิได้ขอยกเลิกการใช้บัตรเครดิตและมิได้แจ้งให้ธนาคารทราบทันทีเมื่อบัตรเครดิตสูญหายนั้นเป็นการกระทำคนละกรณีกับการกระทำที่โจทก์ฟ้องและตามข้อตกลงและเงื่อนไขการใช้บัตรเครดิตของโจทก์ก็มิได้ระบุให้จำเลยต้องรับผิดชำระหนี้อันเกิดจากการใช้บัตรเครดิตแก่โจทก์ในกรณีที่จำเลยมิได้ปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าว
ข้ออ้างดังกล่าวจึงเป็นเรื่องนอกเหนือคำฟ้องและเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย