ASP สั่งลดพอร์ต -ทรีนีตี้รอ1200 ต่างชาติขายต่อพ.ค.เชียร์แค่ 12 ตัว

HoonSmart.com>>2 โบรกเกอร์ใหญ่ฟันธง หุ้นเดือน พ.ค.63 ขึ้นไม่มาก มีโอกาสลง บล.เอเซียพลัสสั่งลดพอร์ต 5% เหลือ 35% เน้น 6 ตัว RATCH-KBANK-DCC-STA-IVL-COM7 หลีกเลี่ยง ERW-DELTA แพง คาดต่างชาติขายต่อ สถาบันรับมาเยอะ พยุงไม่ค่อยไหวแล้ว กำไรบจ.กดดันตลาด รอหั่นเป้ารอบ 4 ส่วนบล.ทรีนีตี้ แนะลดน้ำหนัก รอแนวรับ 1,200 ใครอยากเก็บต้อง 3 ธีม โรงกลั่นพ้นจุดต่ำสุด ยก SPRC-TOP- BCP แบงก์ยังไม่ขึ้น เชียร์ BBL หุ้นเข้า SET 50 รอบนี้ลุ้น TTW-BPP ชู 4 ปัจจัยค้ำยันตลาด “ชอร์ตเซล- Block trade ใน SSF ลดฮวบ” สภาพคล่องโลกล้น เม็ดเงิน SSF-X เตรียมช้อน รอจังหวะตลาดลงแรง

บล.เอเซียพลัส (ASP) วิเคราะห์การลงทุนในเดือนพ.ค.2563 ตลาดหุ้นมีโอกาสขาดแรงขับเคลื่อนสําคัญ นักลงทุนต่างชาติขายออก ขณะที่แรงซื้อจากสถาบันเริ่มแผ่วลง และเม็ดเงินลงทุนจากกองทุน SSFX ไม่ช่วยหนุนตลาดอย่างที่นักลงทุนคาดหวังมากนัก ส่งผลให้ดัชนีมีโอกาสขึ้นได้ค่อนข้างจํากัด แนะนำให้ลดน้ำหนักพอร์ตหุ้นไทยลง 5% เหลือ 35% คงน้ำหนักหุ้นต่างประเทศ 20% และตราสารหนี้ 10%

สำหรับการจัดพอร์ตหุ้นไทยให้เตรียมรับความผันผวนของตลาด เน้นหุ้นที่ผันผวนตํ่า ปันผลสูง อย่าง RATCH,KBANK,DCC รวมถึงหุ้นที่ผลประกอบการโดดเด่นในอนาคต STA, IVL, COM7 ขณะที่ให้หลีกเลี่ยงหุ้นที่ราคาขึ้นมาสูงกว่ามูลค่าเหมาะสม เช่น ERW, DELTA

นักลงทุนต่างชาติยังคงมีแรงขายหุ้นออกมาอีก  เพราะตลาดมักเผชิญกับเหตุการณ์ Sell in May เสมอ เนื่องจากเป็นช่วงที่ขึ้นเครื่องหมาย XD ทำให้นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยมากที่สุดในเดือนนี้เฉลี่ย 1.65 หมื่นล้านบาท กดดันให้หุ้นปรับฐานแรงเสมอ ส่วนในเดือน พ.ค. 2563 ยังมีแนวโน้มที่จะไหลออกอย่างต่อเนื่อง จากปัญหาการระบาดของไวรัสโควิด-19 และต่างชาติยังลังเลลงทุนทั้งหุ้นและตราสารหนี้

นอกจากนี้ บจ.จ่ายปันผลงบปี 2562 เกือบหมดแล้วกว่า 408 บริษัทใน 488 บริษัท (คิดเป็น 83% ของบริษัทที่ประกาศจ่ายปันผล)ต่างชาติมีการโยกเงินกลับประเทศบางส่วน รวมถึงก่อนขึ้นเครื่องหมาย XD  เกิดการเก็งกําไรหุ้นแล้ว จึงไม่มีแรงซื้อที่เข้ามาหนุน เหมือนกับเดือนที่ผ่านๆ มา ขณะที่แรงซื้อจากสถาบันไทยที่เคยพยุงตลาดเสมอมา ในปีนี้ซื้อสุทธิ 4.5 หมื่นล้านบาท เริ่มชะลอลงในช่วงท้ายๆ ของ เดือน เม.ย. จึงมีโอกาสรับมือ Sell in May ได้จํากัด และกองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาวเงื่อนไขพิเศษ (SSFX) ทั้งหมด 15 กองทุน ยังไม่ได้รับการตอบรับจากนักลงทุนเท่าที่ควร มียอดซื้อสะสมเพียง 905 ล้านบาทเท่านั้น

นับตั้งแต่ต้นปี 2563 ถึงปัจจุบัน เม็ดเงินต่างชาติทยอยไหลออกจากตลาดหุ้นในภูมิภาคสูงถึง 4.2 หมื่นล้านเหรียญจากสิ้นปีก่อน โดยขายสุทธิทุกประเทศ เริ่มจากไต้หวันกว่า 1.7 หมื่นล้านเหรียญ เกาหลีใต้ 1.7 หมื่นล้านเหรียญ ตามด้วยอินโดนีเซีย 1204 ล้านเหรียญ ฟิลิปปินส์ 934 ล้านเหรียญ และไทยที่ยังคงขายสุทธิต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 กว่า 5,000 ล้านเหรียญ หรือ 1.6 แสนล้านบาท เป็นต้น ขณะที่หุ้นไทยฟื้นขึ้นเร็วราวครึ่งทาง จากจุดต่ำสุดของปีที่ -39% เหลือ -19% เทียบกับสิ้นปี แม้ว่าไม่มีเงินทุนไหลเข้า ต่อจากนี้คงต้องกลับมาให้น้ำหนักในเรื่องผลประกอบการไตรมาส 1/2563 เป็นหลัก เริ่มจากกลุ่มธนาคารมีกำไรสุทธิ 4.4 หมื่นล้านบาท ลดลง 17% ส่วน Real Sector หลายกลุ่มมีโอกาสปรับตัวลงแรงเกินกว่า 40% คือโรงกลั่นและปิโตรเคมี ต้องเผชิญกับผลขาดทุนสุทธิ จากการบันทึกขาดทุนจากสต๊อกน้ำมันตามราคาน้ำมันดิบ ณ สิ้นงวด เดือนมี.ค.ลดลงจากสิ้นปีก่อน ราว 25-30 เหรียญ/บาร์เรล และค่าเงินบาทที่อ่อนค่ากว่า 2.5 บาท/เหรียญ

กลุ่มขนส่งทางอากาศลดลงอย่างมีนัยสำคัญ AOT ได้รับผลกระทบจากโควิดอย่างหนัก ส่วนสายการบินจะพลิกเป็นขาดทุนทุกราย รวมถึงกลุ่มท่องเที่ยว พลังงานและอสังหาริมทรัพย์ก็ลดลง

บล.เอเซียพลัสเปิดเผยว่า ผลสำรวจเบื้องต้นจาก 49 บริษัท คิดเป็น 38%ของมาร์เก็ตแคปทั้งตลาด จะเห็นฐานของกำไรสุทธิของบจ.ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จากงวดไตรมาส 1/2562 มีกำไรสุทธิรวม 1.20 แสนล้านบาท คาดว่าจะเหลือเพียง 3.81 หมื่นล้านบาท ลดลงเกือบ 70% ต่อให้บจ.ที่เหลือในตลาด มีกำไรเท่ากับไตรมาส 1/2562 อยู่ที่ 1.82 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนเพียง 23% ของประมาณการทั้งปี ซึ่งปกติแล้วไตรมาสแรก กําไรจะมีสัดส่วนสูงสุดของปีราว 28% ของประมาณการทั้งปี บวกกับไตรมาสที่ 2 ปีนี้น่าจะเป็นจุดตํ่าสุดของปี จึงประมาณกําไรในช่วงไตรมาส 2-4 กว่า 5.98 แสนล้านบาท (สัดส่วน 77%) ถือเป็นการท้าทายมาก หากกำไรบจ.หดตัวแรง อาจเปิดความเสี่ยงให้ฝ่ายวิจัยมีโอกาสปรับลดกำไรต่อหุ้นในปีนี้ลงเป็นรอบที่ 4

ทางด้านบล.ทรีนีตี้ คาดดัชนีแกว่งตัว และมีโอกาสปรับตัวลง มองกรอบแนวรับที่ระดับ 1,200 จุดและ 1,150 จุด ตามลำดับ ส่วนกรอบแนวต้านประเมินที่ระดับ 1,350 จุด ในเชิงกลยุทธ์ หากดัชนียังลงมาไม่ถึงแนวรับที่ให้ไว้ แนะนำลดน้ำหนักการลงทุนต่อไป

สำหรับนักลงทุนที่ต้องการลงทุนจริง ๆให้มอง 3 ธีม ได้แก่ 1.กลุ่มโรงกลั่น ราคาสะท้อนผลงานไตรมาส 1ที่ย่ำแย่ไปแล้ว  โดยยังมีมุมมองเชิงบวกต่อราคาน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น เลือก SPRC,TOP และ BCP เป็น Top pick ต่อไป 2. กลุ่มธนาคารที่ราคายังคง Laggard มากที่สุดในปีนี้ เลือก BBL เพราะปลอดภัยที่สุดและมีลุ้นเข้าสู่ดัชนี MSCI ในรอบถัดไป หลังจาก NVDR ในหุ้นธนาคารกรุงเทพลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีช่องว่างให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนมากขึ้น อาจทำให้หุ้น BBL มีลุ้นกลับเข้าสู่ดัชนี MSCI ได้อีกครั้ง และ 3 หุ้นที่คาดว่าจะได้รับเลือกเข้าสู่การคำนวนดัชนี SET 50 ในรอบถัดไป ได้แก่ TTW,BPP

อย่างไรก็ตาม ตลาดมี 4 ปัจจัยที่ช่วยประคับประคอง คือ หลังจากตลาดประกาศใช้เกณฑ์การขายชอร์ตเซลในราคาสูงกว่าตลาด (Uptick rule) เมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2563 ที่ผ่านมา หลังจากนั้นพบว่า มูลค่าการชอร์ตเซลในตลาดลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จากเฉลี่ย 5,000 ล้านบาท/วัน เหลือเพียง 1,000 ล้านบาท/วัน  2.ปริมาณธุรกรรม Block trade ใน SSF ตกลงอย่างมีนัยสำคัญหลังจากใช้เกณฑ์ Uptick ruleเช่นเดียวกัน 3. สภาพคล่องในระบบการเงินโลกที่เอ่อล้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะเฟด ล่าสุดขนาดของงบดุลเพิ่มขึ้นอีก 2 ล้านล้านดอลลาร์ภายในระยะเวลา 1 เดือน และ 4. เม็ดเงินของกองทุน SSF-X ยังไหลเข้ามาไม่มาก หากดัชนีย่อตัวลงแรงในช่วงถัดไป คาดว่าจะมีเม็ดเงินส่วนนี้ไหลเข้ามาในตลาดทันที