HoonSmart.com>> นักลงทุนขายหุ้น พีทีที โกลบอลฯมากผิดปกติ ร่วงเกือบ 5% หลังกำไรไตรมาส 4/62 ออกมาต่ำกว่าคาด แนวโน้มยังไม่ฟื้นตัว บล.หยวนต้าปรับลดเป้ากำไรปี 63 ลง 20% กดราคาเหลือ 65 บาท บล.เคจีไอ แนะนำ “ขาย” ให้เป้าแค่ 47 บาท ด้านบล.กสิกรไทย-บล.ทรีนีตี้ มองสวนทางคงคำแนะนำ “ซื้อ” ส่วน IRPC ราคาขยับขึ้น นักวิเคราะห์มองบวก บล.บัวหลวงแนะซื้อเก็งกำไร ชี้เป้า 4.40 บาท หุ้นไทยลงตามภูมิภาค ต่างชาติ-สถาบันไทยช่วยกันถล่ม
วันที่ 18 ก.พ. 2563 นักลงทุนทิ้งหุ้นบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) ออกมามาก กดราคาหุ้นไหลลงถึง 4.76% ปิดที่ 50 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขายสูงถึง 1,690 ล้านบาท นักวิเคราะห์หลายรายแนะนำขาย หลังผิดหวังผลกำไรไตรมาส 4 และทั้งปี 2562 แนวโน้มไตรมาส 1 ยังไม่เห็นสัญญาณฟื้นตัว
บล. หยวนต้า (ประเทศไทย) ระบุว่า PTTGC ประกาศงบไตรมาส 4/2562 กำไรสุทธิ 375 ล้านบาท ต่ำสุดตั้งแต่ไตรมาส 4/2557 หากหักรายการพิเศษ ผลการดำเนินงานหลัก พลิกจากกำไรเป็นขาดทุน 1.4 พันล้านบาท อ่อนแอกว่าที่บล.หยวนต้าคาดและตลาดคาด
“เราปรับกำไรปกติปี 2563 ลง 20% สะท้อนหลายประเด็นลบที่เข้ามากดดันตั้งแต่ต้นปี ส่งผลให้กำไรปกติอยู่ที่ 1.3 หมื่นล้านบาท และราคาเหมาะสมใหม่อยู่ที่ 56 บาท แนะนำเก็งกำไร”บล.หยวนต้า ระบุ
บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) แนะนำ “ขาย” PTTGC เป้าพื้นฐาน 47 บาท โดยกำไรไตรมาส 4 ต่ำกว่า Consensus คาดถึง -64% แต่ดีกว่าที่ฝ่ายวิจัยฯ คาด +50% (ส่วนต่างจากที่ฝ่ายวิจัยฯคาดเพียงเล็กน้อย เมื่อพิจารณาเป็นจำนวนเงิน) สาเหตุที่ทำให้กำไรที่ลดลงเป็นผลจากสเปรดปิโตรเคมีขาลงต่อเนื่อง ฝ่ายวิจัยฯปรับลดประมาณการกำไรปี 2563 ลง 15% จากการปรับลดสมมติฐานสเปรดปิโตรเคมีลงอีก และปรับคำแนะนำลงเป็น “ขาย” จากเดิม “ถือ”
บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) คงแนะนำ “ซื้อ” แต่จะปรับราคาพื้นฐานลงจากเดิม แนวโน้มการดำเนินงานฟื้นตัวช้ากว่าคาด ตามราคาผลิตภัณฑ์ทั้งกลุ่มโรงกลั่นและปิโตรเคมี อีกทั้งยังได้ผลลบจากอุปทานใหม่เข้ามา จึงปรับลดประมาณการลงจากเดิม โดยยังคงแนะนำ “ซื้อ” แต่จะปรับราคาพื้นฐานลงจากเดิม
ด้านบล.กสิกรไทย คงคำแนะนำ “ซื้อ” ด้วยราคาเป้าหมายที่ 63.50 บาท กำไรที่ฟื้นตัวขึ้นนับจากไตรมาส 2/2563 จะเป็นปัจจัยบวกต่อราคาหุ้น ขณะที่มีมูลค่าที่เพียง P/BV 0.78 เท่า ด้านกำไรไตรมาส 4/2562 ออกมาต่ำกว่าคาด เพียง 126 ล้านบาท จากฐานที่ต่ำ คาดกำไรแตะจุดต่ำสุดในไตรมาส 1/2563
อย่างไรก็ตาม PTTGC ประกาศจ่ายปันผล 1 บาท/หุ้น สำหรับผลงานในครึ่งปีหลัง รวมเงินปันผลทั้งปี 2 บาท/หุ้น คิดเป็นอัตราการจ่ายปันผล 77% ของกำไร และอัตราผลตอบแทนเงินปันผล 3.8%
บล.ทรีนีตี้ คงคำแนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมายเดิมที่ 67.5 บาท โดยใช้ P/BV เฉลี่ย 3 ปีย้อนหลัง เพื่อสะท้อนราคาปิโตรเคมีล่าสุดในรอบนี้ที่ 1 เท่า และ BV ที่ลดลงเหลือ 67.5 บาท
บล.คิงส์ฟอร์ด แนะนำ “ถือ” ราคาเป้าหมาย 59 บาท/ แนวโน้มไตรมาส 1/63 ยังไม่ดีถูกกดดันจาก สเปรดและแผนปิดซ่อมโรงโอเลฟินส์
าท
บริษัทไออาร์พีซี(IRPC) ได้ประชุมนักวิเคราะห์ในช่วงบ่ายของวันที่ 18 ก.พ. พร้อมยืนยันแผนกลยุทธ์ในการสร้างความแข็งแกร่งและสร้างการเติบโตของกำไรทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดย บล.บัวหลวงยังคงแนะนำ “ซื้อเก็งกำไร” ที่ราคาเป้าหมาย 4.40 บาท คาดว่ากำไรจะปรับตัวดีขึ้นในไตรมาส 1 และปี 2563 ซึ่งจะหนุนราคาหุ้นในอนาคต จากปัจจุบันซื้อขายที่ P/BV เพียง 0.7 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวที่ 1.4 เท่า และมีอัตราผลตอบแทนปันผลที่ 5.7% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดที่ 3.2% ทั้งนี้ IRPC จะขึ้นเครื่องหมาย XD วันที่ 26 ก.พ.นี้ รับสิทธิปันผลหุ้นละ 0.10 บาท
ผู้บริหาร IRPC คาดตลาดปิโตรเคมี (PP และ HDPE)ส่วนต่างราคาในปี 2563 จะทรงตัวใกล้เคียงกับปีก่อน หรืออ่อนตัวลงเล็กน้อย เพราะได้รับแรงกดดันจากกำลังการผลิตใหม่ หากมีความล่าช้าของอุปทานใหม่ อาจช่วยเพิ่มส่วนต่างราคาปิโตรเคมีได้
ส่วนผลิตภัณฑ์ ABS มีแนวโน้มที่สดใสกว่า เนื่องจากกำลังผลิตใหม่มีไม่มาก ความต้องการที่ชะลอตัวจากการแพ่ระบาดของไวรัส จะกลับมาฟื้นตัวในไตรมาส 2
ในปี 2563 บริษัทยังคงดำเนินโครงการตามแผนกลยุทธ์ เช่น การขยายกำลังการผลิตผลิตภัณฑ์พิเศษ การปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ซึ่งโครงการเหล่านี้จะช่วยสร้าง EBITDA ส่วนเพิ่มประมาณ 1,800-2,400 ล้านบาท(1 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล)
ข่าวดีของ IRPC ส่งผลให้ราคาหุ้นยืนแข็งแกร่ง ปิดที่ 2.88 บาท บวก 0.04 บาทหรือ 1.41% สวนทางภาวะตลาดหุ้นที่ปรับตัวลงตามภูมิภาค ดัชนีปิดที่ระดับ 1,513.68 จุด ลดลง 13.57 จุด คิดเป็น 0.89% มูลค่าการซื้อขาย 49,275.59 ล้านบาท
นักลงทุนต่างชาติขายมากกว่า 2,444 ล้านบาท สถาบันไทยทิ้งด้วย 2,505 ล้านบาท โดยมีแรงซื้อหุ้นที่กำไรมีแนวโน้มเติบโตดีขึ้น เช่น บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป(TU) และบริษัทบัตรกรุงไทย (KTC) ขณะที่ขายหุ้นธนาคารพาณิชย์ ที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจอ่อนแอเกินคาด และขายหุ้นที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสระบาด