HoonSmart.com>> “ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์” (WHAUP) จับมือ กฟภ. ลุยโปรเจ็กต์นำร่องเพื่อพัฒนานวัตกรรมด้านพลังงาน ระบบ Smart Microgrid, Peer-to-Peer Energy Trading, Energy Storage และนวัตถกรรมด้านพลังงานอื่นๆ ในพื้นที่นิคมฯ พร้อมลงทุนโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติและแสงอาทิตย์
บริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ (WHAUP) ในฐานะ ผู้ดำเนินธุรกิจให้บริการสาธารณูปโภคและพลังงานแบบครบวงจรแก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรม และเขตประกอบการอุตสาหกรรม ได้แก่ จำหน่ายน้ำดิบ ผลิตและจำหน่ายน้ำเพื่ออุตสาหกรรม การบริหารจัดการน้ำเสีย ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าและไอน้ำ และจำหน่ายก๊าซธรรมชาติ ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนานวัตกรรมพลังงานด้านต่างๆ เช่น ระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะในพื้นที่อุตสาหกรรม (Smart Microgrid) โครงสร้างตลาดไฟฟ้า (Peer-to Peer Energy Trading) โครงสร้างอัตราค่าบริการรูปแบบใหม่ (Net Metering) ระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System) ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป โดยการศึกษาบางส่วนจะยื่นเสนอเพื่อเข้าร่วมโครงการทดลองนวัตกรรมพลังงานของ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) หรือ ERC Sandbox
นายนิพนธ์ บุญเดชานันทน์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร WHAUP เปิดเผยว่า บริษัทฯ เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนานวัตกรรม เพื่อพัฒนาระบบการผลิตและบริหารจัดการพลังงานในพื้นที่อุตสาหกรรม เนื่องจากมองว่าเป็นการรองรับกระแสการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมพลังงานสู่การผลิตไฟฟ้าแบบกระจายตัวและการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนและเพิ่มเสถียรภาพด้านพลังงานให้แก่ผู้ประกอบการในพื้นที่อุตสาหกรรม และเพิ่มโอกาสการลงทุนให้กับบริษัทฯ ซึ่งตามแผนจะมีการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานร่วมที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง (Gas-fired Cogeneration Power Plant) โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) และระบบเก็บกักพลังงาน (Energy Storage System)
WHAUP มีความพร้อมที่จะเป็นผู้ลงทุนโครงการดังกล่าว เพราะมีประสบการณ์ในการพัฒนาและลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซธรรมชาติ โรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงไฟฟ้าพลังน้ำ โรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ โดยตามแผนในปี 2563 บริษัทฯจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งตามสัดส่วนการถือหุ้นทั้งสิ้นอยู่ที่ 591 เมกะวัตต์
“บริษัทฯ มีความมั่นใจว่าจะสามารถพัฒนาโครงการดังกล่าวจนสำเร็จลุล่วงเป็นผลสำเร็จเนื่องจากการมีฐานลูกค้าที่สามารถรองรับการให้บริการเป็นจำนวนมากภายในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมของกลุ่มบริษัทฯ รวมถึงได้รับการสนับสนุนจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจากการลงนามความร่วมมือครั้งนี้”นายนิพนธ์
ทั้งนี้ การพัฒนานวัตกรรมและระบบการบริหารจัดการพลังงานดังกล่าว จะมีส่วนช่วยในการลดต้นทุนและเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายและคาดว่าจะมีความต้องการใช้ไฟฟ้าเป็นจำนวนมาก และหากนำมาขยายผลเป็นวงกว้างในพื้นที่อื่นๆ ก็จะเป็นการช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว