ความจริงความคิด : การหักลดหย่อนพ่อแม่ในภาษีลูกกตัญญู

โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP

เมื่อสัปดาห์ก่อน ได้คุยกับเพื่อนเรื่องภาษี ก็เลยคุยกันถึงกรณีศึกษาหนึ่งที่น่าสนใจ คือ คุณแม่ของเพื่อนซึ่งมีเงินได้คือดอกเบี้ยเงินฝากเพียงอย่างเดียวเป็นจำนวน 33,000 บาทได้ไปยื่นแบบ ภงด 90 เพื่อเสียภาษี เพราะจะได้ขอภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15% ของดอกเบี้ยเงินฝากคืน (15%*33000 = 4950 บาท) เหตุผลก็เพราะกรมสรรพากรกำหนดไว้ว่าเงินได้สุทธิ 150,000 บาทแรกได้รับการยกเว้นภาษี ดังนั้นดอกเบี้ยเงินฝากซึ่งเป็นเงินได้มีเพียง 33,000 บาท จึงได้รับการยกเว้นภาษี คือ ไม่ต้องเสียภาษีด้วยเช่นกัน แต่เนื่องจากมีการเสียภาษีหัก ณ ที่จ่ายไปแล้ว 4950 บาท ดังนั้นจึงสามารถขอคืนภาษีที่จ่ายไปแล้วในส่วนนี้ได้

และก็เช่นกัน เนื่องจากคุณแม่ของเพื่อนคนนี้อายุเกิน 60 ปี ดังนั้น เพื่อนคนนี้จึงได้ใช้สิทธิหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา ซึ่งกฎหมายอนุญาตให้หักคนละ 30,000 บาท ปรากฎว่าถูกสรรพากรเรียกให้ไปชำระภาษีเพิ่ม เหตุผลอะไรที่เพื่อนคนนี้ถูกเรียกให้ภาษีเพิ่ม เรามาดูรายละเอียดกันครับ

กรมสรรพากรได้ให้สิทธิหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาของผู้มีเงินได้ รวมทั้งบิดามารดาของสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ (โดยทั่วไปเรียกสิทธิประโยชน์ภาษีนี้ว่า ภาษีลูกกตัญญู) โดยมีเงื่อนไข ดังนี้

1.ให้หักลดหย่อนได้เฉพาะบิดามารดาที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปและมีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีนั้นไม่เกิน 30,000 บาท โดยอนุญาตให้หักลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท (หมายถึงหักลดหย่อนบิดาได้ 30000 บาท มารดาได้ 30000 บาท บิดาของคู่สมรสได้ 30000 บาท มารดาของคู่สมรสได้ 30000 บาท ไม่สนใจว่าจะมีลูกกี่คน)

2.ผู้มีเงินได้หรือสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้จะต้องเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของบิดามารดาที่ผู้มีเงินได้ใช้สิทธิหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูเท่านั้น หมายถึง บิดามารดาจดทะเบียนสมรส / บิดาจดทะเบียนรับรองบุตร ถ้าบิดามารดาไม่จดทะเบียนสมรส จะหักได้เฉพาะมารดาคนเดียว (หมายเหตุ บุตรบุญธรรม ไม่สามารถหักลดหย่อนบิดามารดาบุญธรรมได้) และบิดา มารดาไม่จำเป็นต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเดียวกับลูกครับ

3.กรณีลูกหลายคนอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาคนเดียวกัน ให้ลูกที่มีเงินได้เพียงคนเดียวเท่านั้นเป็นผู้มีสิทธิหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาดังกล่าวนั้นในแต่ละปีภาษี (อันนี้พี่น้องต้องตกลงกันเองครับว่า ใครจะหักลดหย่อน และในแต่ละปี ลูกกตัญญูเปลี่ยนคนได้นะครับ ไม่จำเป็นต้องเป็นคนเดียวกันทุกปี ดังนั้นอาจจะเวียนกันในหมู่พี่น้องเพื่อขอใช้สิทธิลดหย่อนภาษีก็ได้ครับ)

4.สำหรับกรณีสามีหรือภริยาเป็นผู้มีเงินได้ฝ่ายเดียว ให้ผู้มีเงินได้หักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาของสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้คนละ 30,000 บาท ตัวอย่างเข่น ถ้าลูกเป็นผู้มีเงินได้ ส่วนคู่สมรสไม่มีเงินได้ ก็สามารถหักลดหย่อนพ่อแม่ของตนเองและพ่อแม่ของคู่สมรสได้คนละ 30,000 บาท (แต่หมายถึงพี่น้องของลูกและพี่น้องของคู่สมรสของลูกไม่มีใครใช้สิทธินะครับ)

5.แต่ถ้าสามีภริยาต่างฝ่ายยื่นภาษีต่างฝ่ายต่างหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาของตนเองได้คนละ 30,000 บาท

6.ให้หักได้เฉพาะบิดามารดาที่อยู่เมืองไทยเท่านั้น กรณีบิดามารดาเป็นคนต่างด้าว ไม่สามารถใช้เลขประจำตัวคนต่างด้าวได้ ให้ใช้เลขประจำตัวประชาชนตามที่ระบุไว้ในทะเบียนบ้าน หากไม่มีก็ขอมีเลขประจำตัวประชาชนตาม กม.ว่าด้วยการทะเบียนราษฎร์ได้ครับ โดยลูกต้องระบุเลขประจำตัวประชาชนของบิดามารดาในแบบแสดงรายการฯ ด้วยครับ

ที่พูดมาทั้งหมด คือ สรุปเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ในการหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาครับ ทีนี้เราคงเห็นนะครับว่า เพื่อนคนนี้ทำไมถึงถูกกรมสรรพากรเรียกให้ไปชำระภาษีเพิ่ม เหตุผลก็เพราะคุณแม่มีเงินได้คือดอกเบี้ยเกิน 30,000 บาทนั้นเองครับ เพื่อนจึงไม่มีสิทธิหักลดหย่อนค่าอุปการะแม่ได้

เพื่อนๆหลายคนอาจสงสัยในใจว่า แล้วถ้ากรณีนี้คุณแม่ของเพื่อนยอมเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15% ของดอกเบี้ย 33000 บาทที่ได้รับ และไม่ไปยื่นภาษีปลายปีเพื่อขอคืนภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่าย เพื่อนคนนี้จะสามารถหักลดหย่อนค่าอุปการะแม่ได้หรือไม่

คำตอบ คือ หักลดหย่อนค่าอุปการะแม่ไม่ได้ครับ เพราะกรมสรรพากรถือว่ามีเงินได้เกิน 30000 บาท ดังนั้น กรณีนี้แนะนำให้ลดดอกเบี้ยของคุณแม่ให้ไม่ถึง 30000 บาท แล้วเราใช้สิทธิลดหย่อนภาษีแม่ดีกว่า ตัวอย่างเช่น สมมติเราลดดอกเบี้ยคุณแม่เหลือ 20000 บาท หากฐานภาษีของเราอยู่ที่ 30% เราลดหย่อนแม่ 30000 บาท เราจะได้ภาษีคืน 9000 บาท เทียบกับภาษีที่คุณแม่ถูกหัก ณ ที่จ่าย 15% ของ 20000 บาท เท่ากับ 3000 บาท เรายังได้ภาษีคืน 9000 – 3000 = 6000 บาท